คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6862/2552

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ภายหลังจากจำเลยที่ 1 และที่ 3 จำนองที่ดินโฉนดที่ดินพิพาทแล้วมีการแบ่งแยกโฉนดที่ดินที่พิพาทออกเป็นแปลงย่อยอีก 3 แปลง ซึ่งที่ดินที่แบ่งแยกนี้ต้องติดจำนองทุกแปลง บุคคลใดรับโอนไปผู้รับจำนองติดตามไปบังคับจำนองได้ เพราะเป็นทรัพย์สินซึ่งจำนองอยู่เดิมแม้จะแบ่งออกเป็นหลายส่วน จำนองก็ยังคงครอบไปถึงส่วนเหล่านั้นหมดทุกส่วนด้วยกันอยู่นั่นเอง เมื่อคำขอท้ายฟ้องได้ขอให้บังคับจำนองที่ดินโฉนดที่ดินที่พิพาทแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิบังคับจำนองที่ดินโฉนดที่ดินพิพาทได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 717 การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้บังคับจำนองเฉพาะที่ดินแปลงย่อยจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาพิพากษาให้บังคับจำนองที่ดินโฉนดที่ดินพิพาทด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2535 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ สาขาขอนแก่น จำนวน 400,000 บาท โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยอมเสียดอกเบี้ยให้โจทก์ในอัตราสูงสุดตามประกาศของโจทก์ ซึ่งขณะนั้นเท่ากับร้อยละ 19 ต่อปี จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยินยอมให้โจทก์เรียกดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นได้ในอัตราไม่เกินกว่าอัตราสูงสุดตามประกาศของธนาคารโจทก์ที่ใช้บังคับใหม่ทันทีที่ประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะชำระหนี้ให้โจทก์จนครบถ้วน โดยจะผ่อนชำระให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 22 กรกฎาคม 2545 มีจำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม และเพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้จำเลยที่ 1 และที่ 3 นำที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 68776 ตำบลศิลา อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น (ปัจจุบันแยกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 103578, 103579 และ 103580 ตำบลศิลา อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น) มาจดทะเบียนจำนองไว้ต่อโจทก์ วงเงิน 800,000 บาท และยอมเสียดอกเบี้ยให้โจทก์ในอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารโจทก์กำหนดให้เรียกเก็บได้ (ปัจจุบันเท่ากับอัตราร้อยละ 19 ต่อปี) เป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่มีอยู่ต่อโจทก์แล้วในขณะทำสัญญาและหนี้ต่อไปภายหน้าโดยจำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้สัญญาว่าหากโจทก์บังคับจำนองยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดแล้วได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ให้แก่โจทก์จำเลยที่ 1 และที่ 3 ยินยอมรับผิดชดใช้ส่วนที่ยังขาดอยู่ ให้แก่โจทก์จนกว่าจะครบถ้วน นับแต่วันกู้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระดอกเบี้ยที่ค้างชำระเพียงบางส่วน หลังจากนั้นมาจำเลยทั้งสามมิได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์เลย โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนองโดยชอบแล้ว แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอบังคับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 368,515.46 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 280,043.21 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระหนี้ ให้บังคับจำนองที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 68776 (ปัจจุบันแยกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 103578, 103579 และ 103580 ตำบลศิลา อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น) พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์ หากได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นๆ ของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ซึ่งเกินอัตรากำหนดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และหากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผิดนัดผิดสัญญา โจทก์คิดดอกเบี้ยเป็นเบี้ยปรับถึงอัตราร้อยละ 24 ต่อปี ซึ่งเกินอัตราที่ตกลงในสัญญากู้ยืมเงิน ดอกเบี้ยทั้งหมดจึงตกเป็นโมฆะ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่จำต้องรับผิดในอัตราดอกเบี้ยตามฟ้องโจทก์
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกัน เนื่องจากเมื่อปี 2535 จำเลยที่ 3 ตกลงซื้อที่ดินบางส่วนของโฉนดที่ดินเลขที่ 68776 ตำบลศิลา อำเภอเมืองขอนแก่น ขณะนั้นที่ดินแปลงดังกล่าวยังไม่ได้แบ่งแยก และมีชื่อของจำเลยที่ 1 ร่วมอยู่ด้วย โจทก์จึงให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ทำสัญญากู้ยืมเงินคนละ 400,000 บาท จำเลยที่ 1 และที่ 3 จดทะเบียนจำนองที่ดินดังกล่าวไว้แก่โจทก์เพื่อประกันหนี้ของแต่ละคน คนละ 400,000 บาท รวมเป็นเงินจดทะเบียนจำนอง 800,000 บาท พร้อมกับให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาค้ำประกันเงินกู้ของจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันเงินกู้ของจำเลยที่ 1 หากต่อมาภายหลังมีการแบ่งแยกที่ดินที่ซื้อกันแล้ว โจทก์จะยกเลิกสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ให้แก่กันและกัน เนื่องจากมีหลักทรัพย์เป็นที่ดินแบ่งแยกออกเป็นส่วนค้ำประกันหนี้ของตนแล้ว ต่อมาในปี 2539 มีการจดทะเบียนแยกที่ดินแปลงดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 ออกเป็น 2 ส่วน ส่วนของจำเลยที่ 1 โฉนดเลขที่ 103580 ส่วนของจำเลยที่ 3 แบ่งแยกออกเป็น 2 แปลง คือ โฉนดที่ดินเลขที่ 103578 และ 103579 โดยที่ดินทั้งหมดติดจำนองกับโจทก์อยู่ ในหนี้ส่วนของจำเลยที่ 3 จำนวน 400,000 บาท โจทก์ให้จำเลยที่ 3 ทำสัญญากู้ยืมฉบับใหม่ 2 ฉบับ โดยนำที่ดินในส่วนของจำเลยที่ 3 จำนวน 2 แปลง มาจดทะเบียนจำนองประกันการชำระหนี้ฉบับละ 1 แปลง ดังนี้สัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 จึงสิ้นผลผูกพันจำเลยที่ 3 ต่อมาโจทก์ได้ไถ่ถอนจำนองที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ 103579 ให้แก่จำเลยที่ 3 ไปนานแล้ว ส่วนที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ 103578 จำเลยที่ 3 ชำระหนี้ให้โจทก์เสร็จสิ้นแต่ยังมิได้ทำการไถ่ถอนจำนอง ดังนี้จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดในหนี้ของจำเลยที่ 1 ซึ่งสิ้นผลผูกพันไปแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 3 เกินกว่าอัตราร้อยละ 14.25 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อตามประกาศของโจทก์ที่ใช้ในขณะนั้น ตามบันทึกข้อตกลงสัญญากู้เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4 คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี เป็นอัตราดอกเบี้ยผิดนัดเป็นการคิดที่ผิดระเบียบประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับการให้ธนาคารพาณิชย์เรียกดอกเบี้ยหรือส่วนลดได้ไม่เกินอัตราที่ธนาคารพาณิชย์ประกาศกำหนด ที่โจทก์คิดดอกเบี้ยตามฟ้องจึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 3 ให้ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา บริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 280,043.21 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 1 เมษายน 2543 ซึ่งเป็นวันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 103578 และ 103580 ตำบลศิลา อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าวออกขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์ หากได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความเป็นเงิน 2,000 บาท ส่วนค่าขึ้นศาลให้ร่วมกันใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 280,043.21 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 กันยายน 2543 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายนั้น ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบมาตรา 247 ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 ฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2535 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ 400,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี และยินยอมให้โจทก์เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยได้ โดยตกลงผ่อนชำระเดือนละไม่น้อยกว่า 6,400 บาท ภายในวันที่ 22 ของทุกเดือน เริ่มชำระงวดแรกภายในวันที่ 22 สิงหาคม 2535 และชำระให้เสร็จภายในวันที่ 22 กรกฎาคม 2545 จำเลยที่ 3 ได้ทำสัญญาค้ำประกันการกู้เงินของจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยยินยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม และเพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้ทำสัญญาจำนองที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 68776 (ปัจจุบันแยกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 103578, 103579 และ 103580) ตำบลศิลา อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ที่พิพาทพร้อมิสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เพื่อประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในวงเงิน 800,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี โดยตกลงว่า หากบังคับจำนองไม่พอชำระหนี้ยอมให้โจทก์ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบถ้วน จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระหนี้ให้โจทก์ครั้งสุดท้ายวันที่ 31 มีนาคม 2543 คงค้างชำระเงินอยู่ 280,043.21 บาท สำหรับที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 103579 ตำบลศิลา อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ที่แบ่งแยกจากที่ดินโฉนดที่ดินที่พิพาท เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2539 โจทก์ยินยอมให้จดทะเบียนปลอดจำนองแล้ว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิบังคับจำนองที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 68776 ตำบลศิลา อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 ได้หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหามาในคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกัน และเพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้จำเลยที่ 1 และที่ 3 นำที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 68776 ตำบลศิลา อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ที่พิพาท (ปัจจุบันได้แบ่งแยกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 103578, 103579 และ 103580 ตำบลศิลา อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น) มาจดทะเบียนจำนองไว้ต่อโจทก์ และคำขอบังคับตามคำขอท้ายฟ้องข้อ 2 โจทก์ขอให้บังคับจำนองโฉนดที่ดินที่พิพาทออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์ดังนี้ ปัญหาการแบ่งแยกโฉนดที่ดินที่พิพาท จึงเป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่รับวินิจฉัยอ้างว่าโจทก์เพิ่งหยิบยกและส่งสำเนาโฉนดที่ดินที่พิพาทฉบับที่มีการแยกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 103578, 103579 และ 103580 ในชั้นอุทธรณ์ จึงไม่ชอบ ภายหลังจากจำเลยที่ 1 และที่ 3 จำนองที่ดินโฉนดที่ดินพิพาทแล้วมีการแบ่งแยกโฉนดที่ดินที่พิพาทออกเป็นแปลงย่อยอีก 3 แปลง คือ เป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 103578, 103579 และ 103580 ตำบลศิลา อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ซึ่งที่ดินที่แบ่งแยกนี้ต้องติดจำนองทุกแปลง บุคคลใดรับโอนไปผู้รับจำนองติดตามไปบังคับจำนองได้ เพราะเป็นทรัพย์สินซึ่งจำนองอยู่เดิมแม้จะแบ่งออกเป็นหลายส่วนก็ตาม จำนองก็ยังคงครอบไปถึงส่วนเหล่านั้นหมดทุกส่วนด้วยกันอยู่นั้นเอง นอกจากนี้ไม่ปรากฏว่าที่ดินโฉนดที่ดินที่พิพาทโจทก์ผู้รับจำนองยินยอมจดทะเบียนปลอดจำนองแล้ว จำนองก็ยังคงติดอยู่หรือยังคงครอบไปถึงส่วนเหล่านั้นหมดทุกส่วนด้วยกันอยู่นั้นเอง ฉะนั้น เมื่อคำขอท้ายฟ้องข้อ 2 เป็นคำขอให้บังคับจำนองที่ดินโฉนดที่ดินที่พิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิบังคับจำนองที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 68776 ตำบลศิลา อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 717 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษาแก้เป็นว่า หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระหนี้ให้บังคับจำนองที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 68776 ตำบลศิลา อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าวออกขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share