คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5671/2552

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ยื่นคำร้องขอให้สืบพยานไว้ก่อนวันเดียวกับที่ศาลชั้นต้นสืบพยานปากดังกล่าว โดยคำร้องอ้างเหตุถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 237 ทวิ การที่ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานให้และเห็นว่าไม่อาจตั้งทนายความให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้ทันจึงชอบด้วยเหตุผล ทั้งในวันนั้นศาลชั้นต้นได้แจ้งให้จำเลยทั้งสี่ทราบและให้โอกาสซักถามพยานได้ ซึ่งจำเลยทั้งสี่ไม่คัดค้านโดยจำเลยที่ 1 เองก็ได้ซักถามพยานด้วย แต่จำเลยอื่นไม่ติดใจถามค้านส่วนที่ศาลชั้นต้นไม่ซักถามพยานเป็นดุลพินิจที่ทำได้โดยชอบ ดังนี้การสืบพยานปากผู้เสียหายไว้ก่อนฟ้องคดีจึงชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91, 295, 309, 310, 313, 337, 371 และริบของกลาง
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 309 วรรคแรก, 310 วรรคแรก, 313 วรรคสอง, 337 วรรคสอง ประกอบมาตรา 83 จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 310 วรรคแรก, 313 วรรคสอง, 337 วรรคสอง ประกอบมาตรา 83 และ 371 การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันเรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดโดยใช้กำลังประทุษร้ายและฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังทำให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดโดยใช้กำลังประทุษร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 3 ปี ฐานร่วมกันจับคนเรียกค่าไถ่โดยทรมาน (ที่ถูกต้องระบุด้วยว่า และฐานกรรโชกโดยมีอาวุธกับฐานทำร้ายร่างกายเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานจับคนเรียกค่าไถ่โดยทรมาน) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกตลอดชีวิต เมื่อรวมทุกกระทงแล้วคงลงโทษจำคุกตลอดชีวิต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) จำเลยที่ 2 ฐานร่วมกันจับคนเรียกค่าไถ่โดยทรมาน (ที่ถูกต้องระบุด้วยว่า และฐานกรรโชกโดยมีอาวุธกับฐานทำร้ายร่างกายเป็นกรรมเดียว ผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานจับคนเรียกค่าไถ่โดยทรมาน) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุกตลอดชีวิต ฐานพาอาวุธมีด ปรับ 100 บาท รวมสองกระทง คงจำคุกจำเลยที่ 2 ตลอดชีวิต และปรับ 100 บาท จำเลยที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคแรก 310 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 ฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดโดยใช้กำลังประทุษร้ายและฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังทำให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท มีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด โดยใช้กำลังประทุษร้าย จำคุก 3 ปี คำให้การชั้นจับกุมของจำเลยที่ 4 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยที่ 4 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 2 ปี หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 (ที่ถูก มาตรา 29) ริบของกลาง ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้คืนประเป๋าผ้าของกลางแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ประการแรกว่า ที่ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์ปากนายนิรันดร์ ผู้เสียหายไว้เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544 ก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ชอบหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ยื่นคำร้องขอให้สืบพยานไว้ก่อนวันเดียวกับที่ศาลชั้นต้นสืบพยานปากดังกล่าว โดยคำร้องอ้างเหตุถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 237 ทวิ ฉะนั้น ที่ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานให้และเห็นว่าไม่อาจตั้งทนายความให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้ทันจึงชอบด้วยเหตุผล ทั้งตามรายงานกระบวนการพิจารณาของศาลชั้นต้นที่ทำในวันนั้นยังปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้แจ้งให้จำเลยทั้งสี่ทราบและให้โอกาสซักถามพยานได้ ซึ่งจำเลยทั้งสี่ไม่คัดค้านโดยจำเลยที่ 1 เองก็ได้ซักถามพยานด้วย แต่จำเลยอื่นไม่ติดใจถามค้านตามบันทึกท้ายคำเบิกความ ส่วนที่ศาลชั้นต้นไม่ซักถามพยานนั้นเป็นดุลพินิจที่ทำได้โดยชอบหากเห็นว่าคำเบิกความชัดเจนแล้ว ดังนี้ การสืบพยานปากผู้เสียหายไว้ก่อนฟ้องคดีของศาลชั้นต้นจึงชอบแล้วฎีกาข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share