แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ตามสัญญาซื้อขายทรัพย์พิพาทจากการขายทอดตลาดระหว่างผู้ร้องกับเจ้าพนักงานบังคับคดี ผู้ร้องจะต้องนำเงินที่ค้างชำระไปชำระต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีให้เสร็จภายใน 15 วัน นับแต่วันซื้อ ถ้าไม่นำเงินที่เหลือมาชำระให้เสร็จภายในกำหนดดังกล่าว ผู้ร้องให้เจ้าพนักงานบังคับคดีริบเงินมัดจำที่ได้วางไว้ ฯลฯ เช่นนี้ เป็นสัญญาซื้อขายที่บริบูรณ์และเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว การที่ผู้ร้องขอรับเงินมัดจำคืนและเจ้าพนักงานบังคับคดียอมคืนเงินมัดจำให้แก่ผู้ร้องบางส่วนแต่ยังคงเหลือไว้ร้อยละ 5 ของราคาทรัพย์พิพาทนั้น เป็นการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจัดการบรรเทาความเดือนร้อนให้แก่ผู้ร้องเพราะผู้ร้องยังไม่อาจจดทะเบียนรับโอนทรัพย์พิพาทพร้อมทั้งวางเงินค่าทรัพย์พิพาทที่เหลือทั้งหมดเนื่องจากจำเลยคัดค้านการขายทอดตลาดส่วนการที่จำเลยคัดค้านการขายทอดตลาดเป็นเหตุให้ผู้ร้องไม่สามารถใช้สอยประโยชน์ในทรัพย์พิพาทได้ตามความประสงค์นั้นเป็นเรื่องความคาดหวังในการประกอบธุรกิจของผู้ร้องเอง แต่ทรัพย์พิพาทมิได้เสียหายแต่ประการใด ในทางตรงกันข้ามผู้ร้องยังกลับจะได้ประโยชน์มากขึ้นกว่าเดิมเพราะระยะเวลาที่ผ่านไปหลายปีราคาทรัพย์พิพาทอาจเพิ่มมากขึ้น ซึ่งผู้ร้องยังสามารถซื้อทรัพย์พิพาทได้ในราคาเท่ากับเมื่อหลายปีที่ผ่านมาโดยวางเงินมัดจำเพียงร้อยละ 5 ของราคาทรัพย์พิพาทเท่านั้น กรณีมิใช่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ภาค 4 ลักษณะ 2 อันว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งแต่อย่างใด ผู้ร้องจึงมิอาจขอให้ยกเลิกการขายทอดตลาดและขอคืนเงินมัดจำได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากจำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้นโจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 34657, 7536 และ 34205 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยขายทอดตลาด ผู้ร้องเป็นผู้ประมูลซื้อทรัพย์พิพาททั้งหมดดังกล่าวได้ในราคา 7,050,000 บาท
ต่อมาจำเลยยื่นคำร้องว่า ทรัพย์พิพาทที่ขายทอดตลาดมีราคาสูงกว่า 10,000,000 บาท แต่ขายได้ราคาเพียง 7,050,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำมากทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย การขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดและประกาศขายทอดตลาดใหม่ ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลย ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษายืน
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องซื้อทรัพย์พิพาทได้จากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2540 ได้ทำสัญญาซื้อขายกับเจ้าพนักงานบังคับคดีโดยวางมัดจำไว้ร้อยละ 25 ของราคาที่ซื้อขาย แต่จำเลยคัดค้านการขายทอดตลาดเจ้าพนักงานบังคับคดีได้คืนเงินมัดจำบางส่วนแก่ผู้ร้อง คงเหลือไว้ร้อยละ 5 ของราคาที่ซื้อขาย แม้ศาลฎีกาจะพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์และศาลชั้นต้นให้ยกคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของจำเลย แต่เวลาได้ล่วงเลยมาถึง 3 ปีเศษนับแต่วันที่ผู้ร้องซื้อทรัพย์พิพาทได้ เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่สามารถโอนทรัพย์พิพาทให้ได้ ผู้ร้องย่อมมีสิทธิขอให้ยกเลิกการซื้อขาย ขอให้บังคับเจ้าพนักงานบังคับคดีคืนเงินมัดจำส่วนที่เหลืออยู่แก่ผู้ร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ผู้ร้องซื้อทรัพย์พิพาทจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2540 ผู้ร้องทำสัญญาซื้อขายทรัพย์พิพาทกับเจ้าพนักงานบังคับคดีโดยวางเงินมัดจำร้อยละ 25 ของราคาที่ซื้อขาย แต่ในระหว่างนั้นจำเลยยื่นคำร้องคัดค้านการขายทอดตลาด ผู้ร้องจึงขอรับเงินมัดจำคืน เจ้าพนักงานบังคับคดีคืนเงินมัดจำให้แก่ผู้ร้องบางส่วน ยังคงเหลือมัดจำร้อยละ 5 ต่อมาศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามศาลล่างทั้งสองให้ยกคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทของจำเลย คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่าผู้ร้องมีสิทธิบอกเลิกสัญญาซื้อขายทรัพย์พิพาทหรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญาซื้อขายทรัพย์พิพาท ฉบับลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2540 ระหว่างผู้ร้องกับเจ้าพนักงานบังคับคดีข้อ 2 และข้อ 3 ผู้ร้องจะต้องนำเงินที่ค้างชำระอยู่รวมเป็นเงิน 5,287,500 บาท ไปชำระต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีให้เสร็จภายใน 15 วัน นับแต่วันซื้อ ถ้าไม่นำเงินที่เหลือมาชำระให้เสร็จภายในกำหนดดังกล่าว ผู้ร้องให้เจ้าพนักงานบังคับคดีริบเงินมัดจำที่ได้วางไว้ ฯลฯ เช่นนี้ เป็นสัญญาซื้อขายที่บริบูรณ์และเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว การที่ผู้ร้องขอรับเงินมัดจำคืนและเจ้าพนักงานบังคับคดียอมคืนเงินมัดจำให้แก่ผู้ร้องบางส่วนแต่ยังคงเหลือไว้ร้อยละ 5 ของราคาทรัพย์พิพาทนั้นเป็นการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจัดการบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ผู้ร้องเพราะผู้ร้องยังไม่อาจจดทะเบียนรับโอนทรัพย์พิพาทพร้อมทั้งวางเงินค่าทรัพย์พิพาทที่เหลือทั้งหมดเนื่องจากจำเลยคัดค้านการขายทอดตลาด ส่วนการที่จำเลยคัดค้านการขายทอดตลาดเป็นเหตุให้ผู้ร้องไม่สามารถใช้สอยประโยชน์ในทรัพย์พิพาทได้ตามความประสงค์นั้นเป็นเรื่องความคาดหวังในการประกอบธุรกิจของผู้ร้องเอง แต่ทรัพย์พิพาทมิได้เสียหายแต่ประการใด ในทางตรงกันข้ามผู้ร้องยังกลับจะได้ประโยชน์มากขึ้นกว่าเดิมเพราะระยะเวลาที่ผ่านไปหลายปีราคาทรัพย์พิพาทอาจเพิ่มมากขึ้น ซึ่งผู้ร้องยังสามารถซื้อทรัพย์พิพาทได้ในราคาเท่ากับเมื่อหลายปีที่ผ่านมาโดยวางเงินมัดจำเพียงร้อยละ 5 ของราคาทรัพย์พิพาทเท่านั้นกรณีมิใช่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งภาค 4 ลักษณะ 2 อันว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งแต่อย่างใด ผู้ร้องจึงมิอาจขอให้ยกเลิกการขายทอดตลาดและขอคืนเงินมัดจำได้ ส่วนที่ผู้ร้องฎีกาว่า เมื่อผู้ร้องซื้อทรัพย์พิพาทจากการขายทอดตลาดได้แล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหน้าที่โอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์พิพาทให้แก่ผู้ร้อง แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ดำเนินการโอนให้จนระยะเวลาผ่านไป 4 ปี นั้น เป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกคำร้องของผู้ร้องนั้นชอบแล้วฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน