คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6855/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 1 มีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นกรณีที่มีเจตนาครอบครองเฮโรอีนและเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวไว้ในลักษณะต่างกัน ถือได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดสองกรรมต่างกัน ปัญหาว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทหรือหลายกรรมต่างกัน เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้โจทก์มิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตอีกกรรมหนึ่ง แต่โจทก์ก็มิได้ฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกาเห็นสมควรปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ให้ถูกต้อง แต่ไม่อาจกำหนดโทษในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตได้อีกเพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 1 ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบด้วยมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน โดยร่วมกันผลิตเฮโรอีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ด้วยการนำเฮโรอีนซึ่งบรรจุอยู่ในหลอดพลาสติกใสมีฝาสีเหลือง (หลอดบิ๊ก) มาแบ่งบรรจุใส่หลอดดูดเครื่องดื่มตัดเป็นท่อนสั้นๆ 15 หลอด หนัก 0.15 กรัม เพื่อความสะดวกแก่การจำหน่ายและมีเฮโรอีน 15 หลอด ดังกล่าวไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายนอกจากนี้จำเลยทั้งสองยังร่วมกันมีเฮโรอีนอีก 2 หลอดพลาสติกมีฝาสีเหลือง (หลอดบิ๊ก) น้ำหนัก 0.61 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และจำเลยทั้งสองร่วมกันจำหน่ายเฮโรอีนไป 3 หลอดดูดเครื่องดื่ม น้ำหนัก 0.03 กรัม อันเป็นส่วนหนึ่งของเฮโรอีนที่จำเลยทั้งสองร่วมกันผลิตและมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายให้แก่สายลับในราคา 300 บาท และจำเลยทั้งสองร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 5 เม็ด น้ำหนัก 0.45 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เจ้าพนักงานจับจำเลยทั้งสองพร้อมทั้งยึดได้ธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อ ฉบับละ 100 บาท 2 ฉบับ และฉบับละ 20 บาท 5 ฉบับ เฮโรอีน 2 หลอดพลาสติก และ 15 หลอดดูดเครื่องดื่มและเมทแอมเฟตามีน 5 เม็ด เป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15, 65, 66, 67, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 ริบเฮโรอีนและเมทแอมเฟตามีนของกลาง ส่วนธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อ 300 บาท ของกลางนั้นให้คืนแก่เจ้าของ
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 65 วรรคสี่, 66 วรรคสอง, 67 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 สำหรับความผิดฐานผลิตเฮโรอีน ฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองนั้น เฮโรอีนกับเมทแอมเฟตามีนของกลางเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภทเดียวกันและเจ้าพนักงานตำรวจยึดของกลางดังกล่าวได้ในคราวเดียวกันพร้อมกับการจับกุมจำเลยทั้งสอง การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดกรรมเดียวแต่ผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายอันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 วางโทษจำคุก 5 ปี และปรับ 400,000 บาท และฐานจำหน่ายเฮโรอีนวางโทษจำคุก 4 ปี และปรับ 80,000 บาท จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 รวม 5 ปี 12 เดือน และปรับ 250,000 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังแทนค่าปรับได้ไม่เกิน 1 ปี ริบเฮโรอีนและเมทแอมเฟตามีนของกลาง ส่วนเงิน 300 บาท ของกลางที่ใช้ล่อซื้อให้คืนแก่เจ้าของ ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง, 67 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองนั้นเป็นความผิดกรรมเดียวกัน ให้ลงโทษฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 4 ปี และฐานจำหน่ายเฮโรอีนจำคุก 4 ปี โดยไม่ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 คำรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 4 ปี 16 เดือน ให้ยกฟ้องข้อหาผลิตเฮโรอีน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานผลิตเฮโรอีนโดยการแบ่งบรรจุเพื่อจำหน่ายหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์จะไม่มีประจักษ์พยานเห็นจำเลยที่ 1 แบ่งบรรจุเฮโรอีนจากหลอดพลาสติกมีฝาสีเหลือง (หลอดบิ๊ก) มาใส่ในหลอดดูดเครื่องดื่มตัดเป็นท่อนสั้นๆ จำนวน 15 หลอด แล้วปิดหัวท้ายด้วยการใช้ความร้อนลนก็ตาม แต่โจทก์มีคำให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 มาแสดงว่าจำเลยที่ 1 นำเฮโรอีนที่ซื้อมาแบ่งบรรจุใส่หลอดดูดเครื่องดื่มที่ตัดสั้นๆ เพื่อจำหน่ายแก่ลูกค้า โดยโจทก์มีร้อยตำรวจโทภัทรพลพนักงานสอบสวนมาเบิกความประกอบโดยพยานยืนยันว่าในชั้นสอบสวนพยานแจ้งข้อหาผลิตเฮโรอีนโดยการแบ่งบรรจุเพื่อจำหน่ายแก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ร้อยตำรวจโทภัทรพลไม่รู้จักจำเลยที่ 1 มาก่อนจึงไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะเบิกความปรักปรำจำเลยที่ 1 ทั้งตามที่จำเลยที่ 1 นำสืบต่อสู้คดีนั้น จำเลยที่ 1 เบิกความรับว่าเหตุที่แบ่งบรรจุเฮโรอีนใส่ในหลอดดูดเครื่องดื่มเนื่องจากสะดวกในการพกพาไปเสพตอนออกไปทำงาน พยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 จึงเจือสมพยานหลักฐานของโจทก์ให้เชื่อได้ว่าในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในข้อหาผลิตเฮโรอีนโดยการแบ่งบรรจุเพื่อจำหน่ายโดยสมัครใจซึ่งคำให้การดังกล่าวแม้จะเป็นพยานบอกเล่าแต่เป็นคำรับที่เป็นผลร้ายแก่จำเลยที่ 1 เองย่อมมีน้ำหนักรับฟังได้ ส่วนที่เจ้าพนักงานตำรวจไม่ได้ยึดอุปกรณ์ที่ใช้ในการแบ่งบรรจุเฮโรอีนเป็นพยานหลักฐานตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ตำหนิพยานโจทก์มานั้นก็ไม่เป็นข้อพิรุธสงสัยเพราะการแบ่งบรรจุเฮโรอีนด้วยวิธีดังกล่าวข้างต้นกระทำได้ง่ายโดยใช้มีดหรือกรรไกรตัดหลอดดูดเครื่องดื่มที่เป็นพลาสติกให้เป็นหลอดสั้นๆ แล้วจึงแบ่งบรรจุเฮโรอีน จากนั้นใช้ไม้ขีดไฟจุดไฟลนปิดหัวท้ายหลอดพลาสติก ซึ่งอุปกรณีดังกล่าวนั้นเป็นทรัพย์สินที่คนทั่วไปหามาให้ได้โดยสะดวก ทั้งเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมก็มิได้แจ้งข้อหาผลิตเฮโรอีนโดยการแบ่งบรรจุเพื่อจำหน่ายแก่จำเลยที่ 1 เสียแต่แรก จึงอาจไม่ได้ยึดเป็นของกลาง กรณีดังกล่าวเป็นเพียงความบกพร่องเล็กน้อยของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการผู้สั่งฟ้องเท่านั้น หาได้ทำให้พยานหลักฐานของโจทก์ในข้อหาความผิดนี้ถึงกับไร้น้ำหนักฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานผลิตเฮโรอีนโดยการแบ่งบรรจุเพื่อจำหน่ายดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยเสียเลยไม่ ดังนั้น เมื่อรับฟังคำให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ประกอบพยานหลักฐานอื่นที่โจทก์นำสืบแล้วเห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ผลิตเฮโรอีนโดยแบ่งการบรรจุเพื่อจำหน่ายเมื่อเฮโรมีนของกลางมิได้คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ไว้ จึงต้องถือว่าเฮโรอีนของกลางมีปริมาณสารบริสุทธิ์ไม่ถึง 3 กรัมซึ่งไม่ถึงปริมาณที่กำหนดตามมาตรา 15 วรรคสาม (3) แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานผลิตเฮโรอีนโดยการแบ่งบรรจุเพื่อจำหน่ายตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 65 วรรคสี่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ยกฟ้องโจทก์ในข้อหานี้ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยว่า การที่จำเลยที่ 1 มีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ 1 มีเจตนาครอบครองเฮโรอีนและเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวไว้ในลักษณะต่างกัน ถือได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดสองกรรมต่างกัน ปัญหาว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทหรือหลายกรรมต่างกันเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้โจทก์มิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 การกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงเป็นความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตอีกกรรมหนึ่ง แต่โจทก์ก็มิได้ฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกาเห็นสมควรปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ให้ถูกต้อง แต่ไม่อาจกำหนดโทษในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตได้อีกเพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 1 ซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ประกอบด้วยมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายกับความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และจำเลยที่ 1 มีความผิดฐานผลิตเฮโรอีนโดยแบ่งบรรจุเพื่อจำหน่ายตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 65 วรรคสี่ อีกบทหนึ่งด้วยและเป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ให้ลงโทษฐานผลิตเฮโรอีนโดยการแบ่งบรรจุเพื่อจำหน่ายอันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุก 5 ปี และปรับ 400,000 บาท เมื่อรวมกับโทษฐานจำหน่ายเฮโรอีนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ซึ่งให้จำคุก 4 ปีแล้ว รวมเป็นจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 9 ปี และปรับ 400,000 บาท เมื่อลดโทษให้จำเลยที่ 1 หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้วคงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 ปี และปรับ 266,666.66 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังแทนค่าปรับได้ไม่เกิน 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9

Share