แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งเจ็ดกระทำการโดยไม่ชอบ ไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการและกระทำการขัดต่อ พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน จนกระทั่งจำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้ปลดโจทก์ออกจากราชการ ทำให้โจทก์หมดสิทธิในการรับบำเหน็จบำนาญตาม กฎหมายเป็นการละเมิดต่อ โจทก์ ดังนี้ ฟ้องโจทก์เป็นเรื่องเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิในการรับราชการของโจทก์ แม้โจทก์คำนวณจำนวนเงินที่โจทก์มีสิทธิได้รับตาม พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญ ก็มีสภาพเป็นค่าเสียหายในมูลละเมิดนั่นเอง ต้องใช้ อายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่รู้ถึง การละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้อง ใช้ ค่าสินไหมทดแทน คดีโจทก์จึงขาดอายุความ.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เคยรับราชการตำแหน่งราชพัสดุจังหวัดสมุทรปราการ สังกัดกรมธนารักษ์ จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๗ เป็นกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงและสอบสวนทางวินัยโจทก์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายกล่าวหาโจทก์ว่ากระทำความผิดอย่างร้ายแรงซึ่งเป็นความเท็จ จนในที่สุดจำเลยที่ ๑ ได้มีคำสั่งปลดโจทก์ออกจากราชการ ซึ่งเป็นการร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์ ขอให้พิพากษาเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๑ ให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันใช้เงินค่าบำนาญ ๑๒๓,๐๔๖ บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ และร่วมกันชำระเงินเป็นค่าบำนาญให้โจทก์เดือนละ ๑,๐๓๔ บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าดจทก์จะถึงแก่กรรม
จำเลยให้การว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ จำเลยไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฏีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ ๑ ปีหรือไม่ ที่โจทก์ฏีกาว่า โจทก์ฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งที่ปลดโจทก์ออกจากราชการตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๑๘ และให้จำเลยร่วมกันจ่ายเงินบำนาญตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. ๒๔๙๔ ไม่ใช่ฟ้องเรียกค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๔๔๘ นั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์บรรยายพอสรุปความได้ว่า จำเลยทั้งเจ็ดกระทำการไม่ชอบ ไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการและเป็นการกระทำขัดต่อพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๑๘ จนกระทั่งจำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ มีคำสั่งให้ปลดโจทก์ออกจากราชการ ทำให้โจทก์หมดสิทธิในการได้รับบำเหน็จบำนาญตามกฎหมาย เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหาย ดังนี้ ฟ้องโจทก์เป็นเรื่องเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิในการรับราชการของโจทก์ แม้โจทก์อ้างการคำนวณจำนวนเงินที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการก็มีสภาพเป็นค่าเสียหายในมูลละเมิดนั่นเอง จึงต้องใช้อายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๔๘ เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องภายในกำหนด ๑ ปี นับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิด และรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน คดีโจทก์จึงขาดอายุความ
พิพากษายืน