คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6852/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ซึ่งอ้างว่าเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนางสาว ด.เคยฟ้องขอแบ่งที่ดินมรดก 1 แปลงจากจำเลย ขณะที่คดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ฟ้องคดีนี้ขอแบ่งที่ดินมรดกที่เหลืออีก 3 แปลง จากจำเลย แม้ทรัพย์มรดกที่โจทก์ฟ้องในคดีนี้เป็นที่ดินคนละแปลงกับคดีก่อน แต่ก็เป็นเรื่องฟ้องขอแบ่งมรดกรายเดียวกัน และมีประเด็นอย่างเดียวกัน อันถือได้ว่าเป็นเรื่องเดียวกัน จึงเป็นฟ้องซ้อนกับคดีดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนางสาวดีซึ่งมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดินรวม 4 แปลง โจทก์ขอให้จำเลยแบ่งที่ดินมรดกให้โจทก์ครึ่งหนึ่งในฐานะทายาทผู้รับมรดกแทนที่นางป้องผู้เป็นมารดา แต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์เคยฟ้องจำเลยขอแบ่งที่ดินมรดกแปลง น.ส.3 ก. เลขที่ 475 แล้วตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1137/2533 ของศาลชั้นต้น ขอให้พิพากษาเพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินมรดกตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 68, 447 และ 1146 ให้จำเลยจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินมรดกดังกล่าวให้โจทก์ครึ่งหนึ่งหากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยและหากตกลงแบ่งกันไม่ได้ให้ขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งให้โจทก์และจำเลยคนละครึ่ง
จำเลยให้การว่า นางป้องไม่มีสิทธิรับมรดก คำฟ้องเคลือบคลุมโจทก์ฟ้องคดีขอแบ่งทรัพย์มรดกเกินกำหนด 1 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความจำเลยครอบครองที่ดินพิพาททั้งสามแปลงมาเกินกว่า 1 ปี จำเลยจึงได้สิทธิครอบครองที่ดินดังกล่าว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 68, 447 และ 1146 ให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่งหากจำเลยไม่ปฏิบัติ ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยและหากตกลงแบ่งที่ดินแปลงหนึ่งแปลงใดหรือทั้งสามแปลงไม่ได้ ให้ขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาแบ่งให้โจทก์และจำเลยคนละครึ่ง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาในชั้นฎีกาว่า นางสาวดีเจ้ามรดกรายนี้มีทรัพย์มรดกเป็นที่ดิน 4 แปลง โจทก์ซึ่งอ้างว่าเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนางสาวดีด้วยผู้หนึ่งเคยฟ้องขอแบ่งที่ดินมรดก1 แปลง จากจำเลย ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1137/2533 ของศาลชั้นต้นขณะที่คดีดังกล่าวกำลังอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1โจทก์ฟ้องคดีนี้ขอแบ่งที่ดินมรดกส่วนที่เหลือจำนวน 3 แปลงจากจำเลยอีก ดังนี้ถึงแม้ทรัพย์มรดกที่โจทก์ฟ้องขึ้นใหม่ในคดีนี้ เป็นที่ดินคนละแปลงกับคดีก่อน แต่ก็เป็นเรื่องฟ้องขอแบ่งมรดกรายเดียวกันและมีประเด็นอย่างเดียวกัน อันถือได้ว่าเป็นเรื่องเดียวกันจึงเป็นฟ้องซ้อนกับคดีดังกล่าว ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1)
พิพากษายืน

Share