แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การบังคับคดีตามคำพิพากษาโจทก์ชอบที่จะขอให้ศาลชั้นต้นส่งคำบังคับให้แก่จำเลยซึ่งเป็นผู้ที่จะต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาในฐานะเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์เท่านั้นแม้ผลแห่งคำพิพากษาจะได้วินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินเป็นคุณแก่โจทก์ซึ่งอาจใช้ยันแก่บุคคลภายนอกได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา145วรรคสอง(2)ก็ตามเมื่อผู้คัดค้านมิใช่เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์จึงไม่ชอบที่โจทก์จะขอให้ศาลส่งคำบังคับให้แก่ผู้คัดค้านอันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา272ได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 เพิกถอนการจดทะเบียนแก้ไขเนื้อที่และรูปแผนที่ของเจ้าพนักงานที่ดินเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2519 ลงในโฉนดที่ 2494 ของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 1 กับบริวารออกไปจากที่ดินในส่วนที่รุกล้ำเข้ามาในที่ดินโฉนดที่ 2493 ของโจทก์ ตามเส้นสีเขียวในแผนที่พิพาทหมาย จ.13 เป็นจำนวนเนื้อที่ 14 ไร่2 งาน 14 ตารางวา หากการเพิกถอนดังกล่าวไม่อาจทำได้ด้วยเหตุใด ๆ หรือการเพิกถอนไม่อาจทำให้โจทก์กลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ก็ให้จำเลยที่ 1 ใช้ราคาที่ดินแทนในจำนวนเนื้อที่ 14 ไร่2 งาน 14 ตารางวา โดยตีราคาในส่วนที่ไม่อาจใช้คืนราคาตารางวาละ 1,500 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 13 พฤศจิกายน 2527) จนกว่าจะใช้เงินเสร็จจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์ คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ชั้นบังคับคดีเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2532 โจทก์ยื่นคำแถลงว่า จำเลยที่ 1 ได้นำเอาที่ดินโฉนดที่ 2494 ในส่วนที่รุกล้ำที่ดินโฉนดที่ 2493 ของโจทก์ตามคำพิพากษาไปทำการรังวัดและแบ่งแยกออกเป็นโฉนดพิพาทที่ 89674, 89676, 89677, 89678, 8967989680, 89684, 89686, 122846, 122847, 122849 และ 122850 และได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามโฉนดดังกล่าวและโฉนดที่ดินเลขที่ 2494ไปยังผู้คัดค้านทั้งสิบ การที่จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทของโจทก์ให้แก่ผู้คัดค้านทั้งสิบ ย่อมไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้รับโอนและใช้ยันโจทก์ไม่ได้ ขอให้ศาลส่งคำบังคับไปยังผู้คัดค้านทั้งสิบตลอดจนวงศ์ญาติทั้งหลายและบริวารที่อยู่บนอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 145(2)
จำเลยที่ 1 ยื่นคำคัดค้านว่า หลังจากศาลมีคำพิพากษาแล้วจำเลยที่ 1 ได้ให้นายสุเทพ ปิ่นเจริญ ทำสัญญาประนีประนอมยอมความชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2531 และโจทก์ได้รับเงินไปแล้วบางส่วน ส่วนที่เหลือโจทก์ขอร้องให้ชำระเร็วกว่าที่กำหนดในสัญญาโดยยินยอมให้นายสุเทพขายที่ดินพิพาทให้แก่บริษัทร่วมกันสร้าง จำกัด และผู้คัดค้านที่ 9 รวม 7 โฉนดแล้วนายสุเทพได้ชำระเงินที่เหลือแก่โจทก์ไปเรียบร้อยแล้วตามสัญญา โจทก์ไม่มีอำนาจบังคับจำเลยที่ 1 หรือบุคคลอื่นใดโอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์ได้อีก โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอออกคำบังคับแก่จำเลยทั้งสี่และบุคคลภายนอกได้ ขอให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 5 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 8 และที่ 9 ยื่นคำคัดค้านในทำนองเดียวกันว่า ผู้คัดค้านเป็นบุคคลภายนอกรับโอนที่ดินพิพาทโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน และได้จดทะเบียนโดยสุจริตแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิขอให้อายัด โจทก์และจำเลยที่ 1มีนิติสัมพันธ์กันอย่างไรหรือไม่ ผู้คัดค้านไม่ทราบ โจทก์ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาจากจำเลยที่ 1 จนเป็นที่พอใจแล้วขอให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 10 ไม่ยื่นคำคัดค้าน
ระหว่างนัดไต่สวน เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2532 โจทก์ยื่นคำร้องขอคุ้มครองประโยชน์ว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่โอนที่ดินของโจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นไปให้แก่ผู้คัดค้านทั้งสิบเป็นการกระทำไม่สุจริตและจะทำให้ยุ่งยากแก่การบังคับตามคำพิพากษา เพื่อเป็นการคุ้มครองประโยชน์ของโจทก์ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ และการบังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ขอให้ไต่สวนและมีคำสั่งอายัดไปยังเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อมิให้มีการทำนิติกรรมหรือโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดดังกล่าวทั้งหมดต่อไปยังบุคคลภายนอกหรือบุคคลอื่นใด
ครั้นถึงวันนัดไต่สวนคำแถลงฉบับลงวันที่ 17 มกราคม 2532ศาลชั้นต้นสอบข้อเท็จจริงแล้ว โจทก์ จำเลยที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 9 รับกันว่า ข้อ 1. โฉนดแปลงย่อยที่ผู้คัดค้านทั้งเก้าและผู้คัดค้านที่ 10 มีชื่อเป็นเจ้าของนั้นได้มีการแบ่งแยกจากโฉนดแปลงพิพาทก่อนศาลมีคำพิพากษาในคดีเรื่องนี้ข้อ 2. โฉนดแปลงย่อยตามข้อ 1. ยกเว้นโฉนดที่ดินที่มีชื่อของผู้คัดค้านที่ 8 เป็นเจ้าของนั้น ในวันที่ศาลมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2531 มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ หลังจากศาลได้มีคำพิพากษาแล้ว โจทก์กับจำเลยที่ 1ได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันนอกศาล ตามเอกสารหมาย ล.1แล้วโจทก์ไปถอนการอายัดที่ดินต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ซึ่งโจทก์ได้ขออายัดไว้ก่อนมีคำพิพากษาโดยไปถอนการอายัดเมื่อวันที่21 มีนาคม 2531 แล้วจำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินแปลงย่อยให้แก่ผู้คัดค้านบางรายโดยตรงบางแปลง บางแปลงโอนให้แก่ผู้อื่นและผู้อื่นโอนต่อให้แก่ผู้คัดค้าน ส่วนแปลงของผู้คัดค้านที่ 8ได้รับโอนจากจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2522 ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ ให้งดการไต่สวนและให้ยกเลิกวันนัดไต่สวนคำร้องร้องขอคุ้มครองชั่วคราวฉบับลงวันที่ 3 มีนาคม 2532ด้วย แล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ได้ทำการขออายัดโดยห้ามทำการโอนที่ดินพิพาทต่อเจ้าพนักงานที่ดินไว้ ครั้นศาลมีคำพิพากษาโจทก์ตกลงกับจำเลยที่ 1 ให้นายสุเทพ ปิ่นเจริญ ตัวแทนจำเลยที่ 1เข้าทำการชำระหนี้ให้โจทก์ โดยโจทก์จะรับค่าตอบแทนจากนายสุเทพและยอมให้นายสุเทพโอนที่ดินให้บุคคลภายนอกได้ ตามเอกสารหมายล.1 เมื่อตกลงกันแล้วโจทก์จึงทำการถอนอายัดการโอนที่ดินนายสุเทพจึงโอนที่ดินให้ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 7 ที่ 9 และที่ 10 เว้นแต่ผู้คัดค้านที่ 8 ซึ่งโอนก่อนที่โจทก์จะทำการขออายัดและก่อนศาลมีคำพิพากษาหลายปี โดยการโอนให้ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 7 ที่ 9 และที่ 10 โจทก์ยินยอมจึงเป็นการรับโอนโดยสุจริต ส่วนที่โอนให้แก่ผู้คัดค้านที่ 8 เป็นการโอนก่อนศาลมีคำพิพากษา โจทก์ไม่มีอำนาจขอให้บังคับคดีแก่ผู้คัดค้านทั้งสิบทั้งไม่มีสิทธิที่จะขอให้อายัดที่ดินไว้คุ้มครองสิทธิของโจทก์ให้ยกคำร้องที่ขอให้บังคับคดีแก่บุคคลภายนอกและที่ขอคุ้มครองประโยชน์ของโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เมื่อนายสุเทพโอนขายที่ดินให้ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 7 ที่ 9 และที่ 10 โดยความยินยอมของโจทก์ ถือได้ว่าผู้รับโอนใช้สิทธิโดยสุจริต เมื่อมีการผิดสัญญาประนีประนอมยอมความโจทก์จะต้องใช้สิทธิตามสัญญานั้นต่อจำเลยที่ 1 เท่านั้น หามีสิทธิเพิกถอนการโอนไม่ และผู้คัดค้านที่ 8 ได้รับโอนที่ดินในขณะยังไม่มีการอายัดทรัพย์ โจทก์ก็ไม่มีสิทธิบังคับคดีแก่ผู้คัดค้านที่ 8 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอกในชั้นนี้ที่ว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที 7 ที่ 9 และที่ 10 รับโอนที่ดินพิพาทไปโดยสุจริตหรือไม่ และศาลล่างทั้งสองงดไต่สวนพยานไม่ชอบ เพราะยังไม่เพียงพอจะชี้ได้ว่าผู้รับโอนสุจริตหรือไม่ แม้ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 7 ที่ 9 และที่ 10จะรับโอนโดยสุจริต โจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์มีสิทธิบังคับคดีแก่บุคคลภายนอกนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 272 วรรคแรก บัญญัติว่า “ถ้าศาลได้พิพากษาหรือมีคำสั่งอย่างใด ซึ่งจะต้องมีการบังคับคดี ก็ให้ศาลมีคำบังคับกำหนดวิธีที่จะปฏิบัติตาม คำบังคับนั้นไว้” วรรคสองบัญญัติว่า “ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเป็นผู้นำส่งคำบังคับไปยังลูกหนี้ตามคำพิพากษา เว้นแต่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้อยู่ในศาลในเวลาที่ศาลมีคำบังคับนั้น และศาลได้สั่งให้ลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ”ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 4เพิกถอนการจดทะเบียนแก้ไขเนื้อที่และรูปแผนที่ของเจ้าพนักงานที่ดินลงในที่ดินโฉนดเลขที่ 2494 ตำบลสีกัน (บ้านใหม่)อำเภอบางเขน (ตลาดขวัญ) กรุงเทพมหานคร ของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 1 กับบริวารออกไปจากที่ดินในส่วนที่รุกล้ำเข้ามาในที่ดินโฉนดเลขที่ 2493 ของโจทก์ ตามเส้นสีเขียวในแผนที่พิพาทหมาย จ.13 เป็นจำนวนเนื้อที่ 14 ไร่ 2 งาน 14 ตารางวา หากไม่อาจกระทำได้ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ราคาแทนพร้อมดอกเบี้ย ดังนั้นในการบังคับคดีตามคำพิพากษาดังกล่าว โจทก์ชอบที่จะขอให้ศาลชั้นต้นส่งคำบังคับให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ที่จะต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาในฐานะเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์ตามบทบัญญัติดังกล่าวเท่านั้น แม้ผลแห่งคำพิพากษาจะได้วินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินเป็นคุณแก่โจทก์ ซึ่งอาจใช้ยันแก่บุคคลภายนอกได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา145 วรรคสอง (2) ก็ตาม แต่ก็มิใช่เป็นกรณีที่โจทก์ขอให้บังคับคดีแก่ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 7 ที่ 9 และที่ 10 โดยขอให้ศาลส่งคำบังคับให้แก่บุคคลดังกล่าว ซึ่งมิใช่เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์ได้ เพราะเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติในมาตรา 272 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งดังกล่าวข้างต้น เมื่อวินิจฉัยเช่นนี้แล้ว ปัญหาที่ว่าผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 7 ที่ 9 และที่ 10 ได้รับโอนที่ดินพิพาทไปโดยสุจริตหรือไม่ ไม่จำต้องวินิจฉัย คดีจึงไม่มีเหตุที่จะให้ไต่สวนพยานต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าโจทก์ไม่มีสิทธิบังคับคดีแก่ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 7ที่ 9 และที่ 10 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ส่วนฎีกาของโจทก์ที่ว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องของโจทก์ฉบับลงวันที่ 3มีนาคม 2532 ที่ขอให้ศาลล่างคุ้มครองประโยชน์ของโจทก์ โดยอายัดที่ดินพิพาทชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยให้ ทั้งที่โจทก์ได้ยกขึ้นเป็นประเด็นในชั้นอุทธรณ์อย่างชัดแจ้งจึงไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณานั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยในปัญหาที่ว่าโจทก์ไม่มีสิทธิขอให้บังคับคดีโดยขอให้ส่งคำบังคับคดีแก่ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 7 ที่ 9 และที่ 10ในชั้นนี้แล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของโจทก์ข้อนี้อีกต่อไป
พิพากษายืน