คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 685/2512

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรมป่าไม้ทำสัญญาจ้างผู้รับจ้างเฝ้ารักษาไม้ของกลาง ซึ่งเจ้าพนักงานป่าไม้จับได้และยังอยู่ที่คอที่ถูกตัดโค่นในป่า ระบุชื่อสัญญาว่า “สัญญาจ้างเฝ้ารักษา” มีข้อสัญญาว่าผู้รับจ้างยอมรับเฝ้ารักษาไม้ของกลางโดยคิดอัตราค่าจ้างเป็นรายท่อนต่อเดือน นับแต่วันทำสัญญา ถ้าไม้ซึ่งรับจ้างเฝ้ารักษาขาดหายหรือเป็นอันตราย ผู้รับจ้างยอมให้ปรับไหมเป็นรายท่อนตามจำนวนที่สูญหายหรือเป็นอันตราย ระหว่างเวลาที่ผู้รับจ้างรับผิดชอบเฝ้ารักษา กรมป่าไม้ผู้จ้างอาจชนไม้ของกลางทั้งหมดหรือแต่บางส่วนไปจากที่เดิมในเวลาใด ๆ ก็ได้ แต่ต้องแจ้งให้ผู้รับจ้างทราบและทำใบรับไม้ให้ไว้ สัญญานี้เป็นสัญญาจ้างแรงงาน มิใช่สัญญาฝากทรัพย์ เพราะอำนาจการครอบครองไม้ของกลางยังอยู่แก่กรมป่าไม้ผู้จ้าง ผู้รับจ้างเพียงแต่เฝ้ารักษาระวังมิให้ผู้ใดมาลักหรือเกิดภัยพิบัติ ไม้ของกลางยังอยู่ในป่าตามเดิม ผู้รับจ้างมิได้ชักลากไปเก็บไว้ในความอารักขาของตน
สิทธิเรียกร้องค่าปรับตามสัญญาจ้างแรงงาน กฎหมายมิได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นโดยเฉพาะ จึงอยู่ในบังคับอายุความทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 ซึ่งมีกำหนดสิบปี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ได้ทำสัญญาจ้างจำเลยเฝ้ารักษาไม้ของกลาง ให้ค่าจ้างท่อนละ ๕ บาทต่อเดือน ถ้าไม้ขาดหายหรือเป็นอันตราย จำเลยยอมให้ปรับเป็นรายท่อนตามจำนวนที่กำหนด ต่อมาโจทก์ตรวจพบว่าไม้สูญหายไป ๑๙๑ ท่อน จำเลยต้องใช้ค่าปรับรวม ๑๒๑,๒๐๐ บาท โจทก์ทวงถาม จำเลยก็เพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยใช้เงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยต่อสู้หลายประการซึ่งไม่มีปัญหา และว่าคดีโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๗๑
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินตามฟ้องพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาข้อเดียวว่า ตามสัญญาที่ทำไว้เห็นได้ชัดว่า โจทก์ส่งมอบไม้ให้จำเลย และจำเลยตกลงเก็บรักษาไม้ไว้ในอารักขาแห่งตน เป็นสัญญาฝากทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๕๗ โจทก์ไม่ฟ้องคดีภายใน ๖ เดือน นับแต่เหตุไม้สูญหาย คดีขาดอายุความตามมาตรา ๖๗๑
ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยเป็นผู้จัดการโรงเลื่อยแสงเจริญ ซึ่งโรงเลื่อยนี้จัดการตัดฟันชักลากไม้มาแปรรูปเอง ไม้ของกลางที่เจ้าพนักงานป่าไม้ของโจทก์จับได้และทำสัญญาจ้างจำเลยเฝ้ารักษานั้นยังอยู่ที่ตอที่ถูกตัดโค่นในป่า ไม่ได้รวมหมอน และอยู่ริมทางชักลากไม้ของจำเลย ห่างโรงเลื่อยของจำเลย ๕ – ๖ กิโลเมตร และ ๑๐ กิโลเมตร
ตามสัญญาเฝ้ารักษาไม้ของกลางพร้อมด้วยบัญชีต่อท้าย ๙ ฉบับ เป็นแบบพิมพ์อย่างเดียวกัน ระบุชื่อสัญญาว่า “สัญญาจ้างเฝ้ารักษา” และมีข้อสัญญาว่า ผู้รับจ้างยอมรับเฝ้ารักษาไม้ของกลาง โดยคิดอัตราค่าจ้างเป็นรายท่อนต่อเดือน นับแต่วันทำสัญญาเป็นต้นไป และถ้าสิ่งซึ่งได้รับจ้างเฝ้ารักษาขาดหายหรือเป็นอันตรายไปจากบัญชีท้ายสัญญา ผู้รับจ้างยอมให้ปรับไหมเป็นรายท่อน และสัญญาข้อ ๔ มีว่า “ในระหว่างเวลาที่ผู้รับจ้างรับผิดชอบเฝ้ารักษาไม้ของกลางตามสัญญานี้ ผู้จ้างอาจขนไม้ของกลางที่ผู้รับจ้างรับเฝ้ารักษาทั้งหมดหรือแต่บางส่วนไปจากที่เดิมในเวลาใด ๆ ก็ได้ แต่ในกรณีเช่นนี้ ผู้จ้างต้องแจ้งให้ผู้รับจ้างทราบและทำใบรับไม้ของกลางที่ขนไปนั้นทุกคราวไป และไม้หรือของป่าที่ผู้จ้างได้นำไปแล้วนั้น เป็นอันพ้นจากความรับผิดชอบของผู้รับจ้าง”
ศาลฎีกาเห็นว่า สัญญาจ้างเฝ้ารักษาไม้ของกลางรายนี้เป็นสัญญาจ้างแรงงานซึ่งโจทก์ตกลงให้ค่าจ้างตลอดเวลาที่จำเลยเฝ้ารักษาไม้ของกลางไว้ให้โจทก์โดยปลอดภัย การเฝ้ารักษาของจำเลยตามธรรมดาก็น่าจะเป็นแต่เพียงหมั่นไปตรวจตราดู เพื่อระวังมิให้ผู้ใดมาลักไม้ไปเสีย และระวังมิให้เกิดภัยพิบัติจากไฟป่าลามมาไหม้ โดยจัดการถากถางหญ้าหรือต้นไม้ที่เป็นเชื้อไฟในบริเวณท่อนไม้ของกลางเท่านั้น ซึ่งจำเลยมิได้ชักลากไม้ของกลางมาเก็บรักษาไว้ในบริเวณโรงเลื่อยเพื่ออยู่ในอารักขาของจำเลย พยานโจทก์เบิกความว่าไม้ของกลางอยู่ระหว่างคดี ก็ถือว่าอยู่ในความควบคุมของกรมป่าไม้ ถ้าศาลสั่งริบ ก็ตกเป็นของแผ่นดิน และตามสัญญาข้อ ๔ ดังกล่าว โจทก์ผู้จ้างอาจขนไม้ของกลางทั้งหมดหรือแต่บางส่วนไปจากที่เดิมในเวลาใด ๆ ก็ได้ แสดงว่าอำนาจการครอบครองไม้ของกลางยังอยู่แก่โจทก์ ตัวอย่างที่เทียบให้เห็นได้ชัด เช่น ฝากสินค้าแก่คลังสินค้า สินค้าที่ฝากย่อมอยู่ในความอารักขาของนายคลังสินค้า ๆ มีอำนาจครอบครองสินค้านั้น แต่คนยามที่จ้างมาเฝ้าคลังสินค้าหรือเฝ้าบ้าน คนยามก็เพียงแต่ดูแลแต่ภายนอก หามีอำนาจครอบครองสินค้าหรือทรัพย์สินในอาคารบ้านเรือนนั้นไม่ ดังนี้ สัญญารายนี้จึงมิใช่สัญญาฝากทรัพย์ดังจำเลยฎีกา เมื่อกฎหมายลักษณะจ้างแรงงานมิได้บัญญัติอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๔ ซึ่งมีอายุความ ๑๐ ปี คดีโจทก์ยังไม่ขาดอายุความ
พิพากษายืน.

Share