คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6848/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 2 ไม่ได้เป็นคู่สัญญาใด ๆ กับจำเลย จึงไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน และแม้ว่าจะเป็นหุ้นส่วนกับโจทก์ที่ 1 แต่เมื่อไม่ปรากฏชื่อของโจทก์ที่ 2 ในกิจการค้าขายดังนี้โจทก์ที่ 2 ถือเอาสิทธิใด ๆ แก่บุคคลภายนอกในกิจการค้าขายซึ่งไม่ปรากฏชื่อของตนหาได้ไม่ โจทก์ที่ 2 จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
โจทก์ซื้อที่ดินเฉพาะส่วนของที่ดินจำเลย เมื่อจำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์เป็นเจ้าของรวมแล้ว จำเลยยังมีหน้าที่ตามสัญญาจะต้องดำเนินการรังวัดแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ การที่จำเลยนำสืบต่อสู้คดีว่า ในการซื้อขายที่ดินโจทก์ตกลงกับจำเลยว่าจะจดทะเบียนภารจำยอมในที่ดินที่ซื้อจากจำเลยให้แก่ที่ดินของจำเลยในส่วนที่เหลือ โดยจะระบุไว้ในสัญญาจะซื้อจะขาย แต่ในวันทำสัญญากลับไม่มีข้อตกลงดังกล่าว โจทก์บอกว่าจะไปจดทะเบียนภารจำยอมให้ในภายหลัง แต่แล้วกลับไม่ยอมจดทะเบียนภารจำยอมให้ตามข้อตกลงนั้น เป็นการนำสืบพยานบุคคลเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารสัญญาจะซื้อจะขายว่ายังมีข้อตกลงดังกล่าวอยู่อีกนอกเหนือไปจากสัญญา เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข) ไม่อาจรับฟังได้ ดังนั้น จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา
เงินกู้และดอกเบี้ยรวมทั้งค่าธรรมเนียมออกตั๋วแลกเงินในการที่โจทก์ซื้อที่ดินมาดำเนินการตามโครงการตลอดจนค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีที่ถูกเจ้าหนี้ฟ้องเรียกเงินกู้ และค่าเสียหายจากการเสียชื่อเสียง มิใช่ความเสียหายโดยตรงอันเนื่องมาจากการผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเพราะจำเลยได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์เป็นเจ้าของรวมตามส่วนที่ได้ซื้อจากจำเลยตามสัญญาแล้ว
ความเสียหายในส่วนของกำไรที่คาดว่าจะได้จากการปลูกบ้านจัดสรรขายซึ่งเป็นเพียงความหวังของโจทก์ ยังไม่เป็นที่แน่นอนว่าจะได้กำไรดังที่คาดหมายหรือไม่จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ
การที่โจทก์ไม่สามารถนำที่ดินที่ซื้อจากจำเลยไปใช้ประโยชน์ได้ย่อมเห็นได้ว่าโจทก์ย่อมเสียหายขาดประโยชน์ที่จะพึงได้ ความเสียหายในส่วนนี้จึงเป็นความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นจากการผิดสัญญาของจำเลยแม้ว่าจะยังฟังไม่ได้ว่าเป็นจำนวนเท่าใด ศาลก็มีอำนาจกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ตามที่เห็นสมควรได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 76911 ซึ่งไม่มีทางออกสู่ถนนสาธารณะ เพราะที่ดินของนายชาติ พึ่งเฮง ขวางอยู่ จำเลยได้เสนอขายที่ดินบางส่วนของจำเลยให้แก่โจทก์ หากโจทก์สามารถเจรจาขอทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะได้ นายชาติตกลงยินยอมให้โจทก์ใช้ทางออกจากที่ดินของจำเลยกับนายชลอ ขันธสิทธิ์ ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินที่อยู่ติดกับที่ดินของจำเลยและขายบางส่วนให้แก่โจทก์เช่นกันออกสู่ถนนสาธารณะได้โดยโจทก์ต้องเสียค่าตอบแทนให้นายชาติเป็นเงิน 13,000,000 บาท โจทก์ที่ 1 จึงตกลงซื้อทางเข้าออกในที่ดินของนายชาติ และตกลงซื้อที่ดินของจำเลยกับที่ดินของนายชลอโดยโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ตกลงเข้าหุ้นกับโจทก์ที่ 4 ถึงที่ 8 เพื่อปลูกบ้านจัดสรรขายให้แก่ประชาชน โดยใช้ชื่อโครงการ “บ้านนวลลดาโครงการ 3” มีข้อตกลงกันให้โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ทำสัญญาซื้อทางออกสู่ทางสาธารณะกับนายชาติและเป็นผู้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับจำเลย โดยให้โจทก์ที่ 4 และที่ 5 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน และให้โจทก์ทั้งแปดร่วมกันกู้ยืมเงินจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ศรีนคร จำกัด จำนวน 50,000,000 บาทมาเป็นทุนในการดำเนินงานเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2534 โจทก์ที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจากจำเลยเฉพาะส่วนที่มีพื้นที่ติดต่อกับที่ดินของนายชาติเนื้อที่ 2 ไร่3 งาน 50 ตารางวา ในราคา 10,750,000 บาท ต่อมาโจทก์ที่ 1 ทำสัญญาซื้อทางเข้าออกกับนายชาติในราคา 13,000,000 บาท และจดทะเบียนเป็นทางภารจำยอมแล้ว เมื่อโจทก์ที่ 1 ชำระราคาที่ดินให้จำเลยตามสัญญา จำเลยได้จดทะเบียนให้โจทก์ที่ 4 และที่ 5 เป็นเจ้าของร่วม 1150 ส่วน ในจำนวน 2567 ส่วนของที่ดินทั้งแปลง โจทก์ขอให้เจ้าพนักงานที่ดินไปทำการรังวัดแบ่งแยกที่ดินให้เป็นไปตามรูปแผนผังการแบ่งแยกที่ดินจำเลยได้ไปร่วมชี้แนวเขต เมื่อเจ้าพนักงานที่ดินทำการรังวัดแบ่งแยกที่ดินเสร็จเรียบร้อยแล้วจำเลยกลับไม่ยอมลงลายมือชื่อรับรองแนวเขตที่ดินเพื่อแบ่งแยกออกโฉนดให้แก่โจทก์โจทก์ทั้งแปดได้รับความเสียหาย ต้องสูญเสียเงิน 13,000,000 บาท ให้นายชาติโดยไม่ได้รับประโยชน์จากทางเข้าออก โจทก์ทั้งหมดได้กู้ยืมเงินจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ศรีนคร จำกัด มาลงทุนทำโครงการจัดสรรครั้งนี้ 50,000,000 บาท ระยะเวลาโครงการ18 เดือน นับแต่วันที่ซื้อที่ดินจากจำเลย เมื่อไม่สามารถทำโครงการให้เสร็จในกำหนดบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ศรีนคร จำกัด ฟ้องให้โจทก์ทั้งแปดคืนเงินโจทก์ทั้งแปดได้ใช้จ่ายเงินไปในการดำเนินโครงการแล้ว 43,000,000 บาท กับค่าซื้อทางภารจำยอมจากนายชาติ13,000,000 บาท รวมเป็นเงิน 56,000,000 บาท ต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ19.5 ถึง 21 ต่อปี ทุกเดือน จากเงินจำนวนนี้ นับแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2534 คิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 3,194,753 บาท ต้องขาดรายได้จากโครงการนี้เป็นเงิน 23,684,900 บาท ในการกู้ยืมเงินจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ศรีนคร จำกัด โจทก์ต้องออกตั๋วเงินอาวัลให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ศรีนคร จำกัด วงเงิน 20,000,000 บาท ต้องเสียดอกเบี้ยอันเกิดจากค่าธรรมเนียมตั๋วเงินอาวัลดังกล่าวอัตราร้อยละ 4 ต่อปี คิดเป็นเงิน 800,000บาท และเมื่อตั๋วเงินอาวัลครบกำหนดจะต้องเสียดอกเบี้ยต่อไปอีกอัตราร้อยละ 24 ต่อปีของต้นเงินตามตั๋วเงินอาวัลจนกว่าจะชำระเงินครบถ้วน โจทก์ถูกบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ศรีนคร จำกัด ฟ้องให้ชำระหนี้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี เสื่อมเสียชื่อเสียงคิดเป็นค่าเสียหายในส่วนนี้ 5,000,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 88,679,653บาท ขอให้บังคับจำเลยลงลายมือชื่อแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 76911 ให้ฝ่ายโจทก์จำนวน 1,150 ส่วน ในจำนวน 2,567 ส่วน โดยปลอดจากภารผูกพันใด ๆ ทั้งสิ้น โดยมีพื้นที่ติดต่อกับที่ดินของนายชาติ พึ่งเฮง และมีความกว้างประมาณ 60 เมตรความยาวประมาณ 90 เมตร คิดเป็นเนื้อที่ 2 ไร่ 3 งาน 50 ตารางวา ถ้าจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ให้จำเลยใช้เงินที่โจทก์ลงทุนไปจำนวน 56,000,000 บาท เงินค่าดอกเบี้ยที่ได้เสียไปแล้วจำนวน 3,194,753 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนถึงวันที่โจทก์ได้รับโฉนดที่ดินฉบับที่แบ่งแยก ให้ใช้ค่าขาดรายได้จำนวน 23,684,900 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 25 มิถุนายน 2536 จนกว่าจะชำระเสร็จให้ขยายระยะเวลาชำระเงินตามตั๋วเงินอาวัล ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2534 ถึงกำหนดชำระวันที่ 25 มิถุนายน 2536 และเช็คธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาบางลำภู ลงวันที่ 15มีนาคม 2536 ออกไปอีกเป็นระยะเวลา 18 เดือน ตามข้อตกลงเดิมนับแต่วันที่โจทก์ได้รับโฉนดที่ดินฉบับที่แบ่งแยก ให้ใช้เงินค่าธรรมเนียมตั๋วเงินอาวัลจำนวน 800,000บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 24 ต่อปี ของต้นเงิน 20,000,000 บาท นับแต่วันที่ 25มิถุนายน 2536 จนถึงวันที่โจทก์ได้รับโฉนดที่ดินฉบับที่แบ่งแยกแล้ว กับให้ใช้เงินค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีและค่าเสียหายต่อชื่อเสียงจำนวน 5,000,000 บาท

จำเลยให้การว่า จำเลยไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับโจทก์ที่ 2 ที่ 3 และที่ 6 ถึงที่ 8โจทก์ที่ 2 ที่ 3 และที่ 6 ถึงที่ 8 จึงไม่มีอำนาจฟ้องและให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์ทั้งแปดอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยลงลายมือชื่อแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 76911 ให้ฝ่ายโจทก์ 1,150 ส่วนในจำนวน 2,567 ส่วน โดยปลอดจากภารผูกพันใด ๆ ทั้งสิ้น โดยมีพื้นที่ติดต่อกับที่ดินของนายชาติ พึ่งเฮง มีความกว้าง 60 เมตรความยาวประมาณ 90 เมตร คิดเป็นเนื้อที่ 2 ไร่ 3 งาน 50 ตารางวา ถ้าจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ทั้งแปดและจำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์ที่ 1 ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเฉพาะส่วนของโฉนดเลขที่ 76911 ตำบลคลองกุ่ม อำเภอบางกะปิกรุงเทพมหานคร กับจำเลยตามเอกสารหมาย จ.3 และจดทะเบียนโอนใส่ชื่อโจทก์ที่ 4กับโจทก์ที่ 5 เป็นเจ้าของรวม 1150 ส่วน ในจำนวน 2567 ส่วน ของที่ดินทั้งแปลง

คดีมีปัญหาที่จะวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาโจทก์ทั้งแปดว่า โจทก์ที่ 2 ที่ 3ที่ 6 ที่ 7 และที่ 8 มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์อ้างว่าโจทก์ทั้งแปดเป็นหุ้นส่วนซึ่งจะต้องรับผิดร่วมกันในการปลูกสร้างบ้านบนที่ดินที่ซื้อจากจำเลยเพื่อขายให้บุคคลทั่วไป จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง ข้อนี้เห็นว่าโจทก์ที่ 2 ที่ 3 ที่ 6 ที่ 7 และที่ 8 ไม่ได้เป็นคู่สัญญาใด ๆกับจำเลย จึงไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน และแม้ว่าจะเป็นหุ้นส่วนกับโจทก์ที่ 1 ที่ 4 และที่ 5ดังที่อ้างแต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1049 ผู้เป็นหุ้นส่วนจะถือเอาสิทธิใด ๆ แก่บุคคลภายนอกในกิจการค้าขายซึ่งไม่ปรากฏชื่อของตนนั้นหาได้ไม่ดังนั้น เมื่อไม่ปรากฏชื่อของโจทก์ที่ 2 ที่ 3 ที่ 6 ที่ 7 และที่ 8 ในกิจการค้าขาย โจทก์ที่ 2ที่ 3 ที่ 6 ที่ 7 และที่ 8 จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ปัญหาว่า การที่จำเลยไม่ยอมลงลายมือชื่อในเอกสารการชี้แนวเขตเพื่อแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 76911 เป็นการผิดสัญญาต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ซื้อที่ดินเฉพาะส่วนของที่ดินจำเลยโฉนดเลขที่ 76911 ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน (เฉพาะส่วน)เอกสารหมาย จ.3 เมื่อจำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์เป็นเจ้าของรวมแล้วจำเลยยังมีหน้าที่ตามสัญญาจะต้องดำเนินการรังวัดแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์จำเลยนำสืบต่อสู้คดีว่าในการซื้อขายที่ดินโจทก์ตกลงกับจำเลยว่าจะจดทะเบียนภารจำยอมในที่ดินที่ซื้อจากจำเลยให้แก่ที่ดินของจำเลยในส่วนที่เหลือ โดยจะระบุไว้ในสัญญาจะซื้อจะขายแต่ในวันทำสัญญากลับไม่มีข้อตกลงดังกล่าว โจทก์บอกว่าจะไปจดทะเบียนภารจำยอมให้ในภายหลัง แต่แล้วกลับไม่ยอมจดทะเบียนภารจำยอมให้ตามข้อตกลง จำเลยจึงไม่ยอมลงลายมือชื่อในการระวังแนวเขตเพื่อแบ่งแยกที่ดินดังนี้ การที่จำเลยนำสืบว่าในการซื้อขายที่ดินโจทก์ตกลงกับจำเลยว่าจะจดทะเบียนภารจำยอมในที่ดินที่ซื้อจากจำเลยให้แก่ที่ดินของจำเลยในส่วนที่เหลือนั้น ย่อมเป็นการนำสืบพยานบุคคลเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารสัญญาจะซื้อจะขายว่ายังมีข้อตกลงดังกล่าวอยู่อีกนอกเหนือไปจากสัญญา การนำสืบเช่นนี้เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข) ไม่อาจรับฟังได้ ดังนั้น จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา

ปัญหาสุดท้ายเรื่องค่าเสียหาย เห็นว่า เงินกู้และดอกเบี้ยรวมทั้งค่าธรรมเนียมออกตั๋วแลกเงินในการที่โจทก์ซื้อที่ดินมาดำเนินการตามโครงการตลอดจนค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีที่ถูกเจ้าหนี้ฟ้องเรียกเงินกู้ และค่าเสียหายจากการเสียชื่อเสียง มิใช่ความเสียหายโดยตรงอันเนื่องมาจากการผิดสัญญาเพราะจำเลยได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์เป็นเจ้าของรวมตามส่วนที่ได้ซื้อจากจำเลยแล้ว สำหรับความเสียหายในส่วนของกำไรที่คาดว่าจะได้จากการปลูกบ้านจัดสรรขายนั้น ก็เป็นเพียงความหวังของโจทก์ยังไม่เป็นที่แน่นอนว่าจะได้กำไรดังที่คาดหมายหรือไม่ ยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ แต่อย่างไรก็ดี การที่โจทก์ไม่สามารถนำที่ดินที่ซื้อจากจำเลยไปใช้ประโยชน์ได้ ย่อมเห็นได้ว่าโจทก์ย่อมเสียหายขาดประโยชน์ที่จะพึงได้ ความเสียหายในส่วนนี้จึงเป็นความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นจากการผิดสัญญาของจำเลย แม้ว่าจะยังฟังไม่ได้ว่าเป็นจำนวนเท่าใด ศาลก็มีอำนาจกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ตามที่เห็นสมควรได้ ซึ่งศาลอุทธรณ์ได้กำหนดให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน 2,000,000 บาท นั้น เป็นจำนวนที่สมควรแล้ว

พิพากษายืน

Share