คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6846/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อจำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินแก่โจทก์และ ส.เป็นหนังสือพร้อมลงลายมือชื่อจำเลยแล้ว ย่อมมีผลผูกพันจำเลย ต้องชำระหนี้แก่โจทก์และ ส.เจ้าหนี้ร่วมสิ้นเชิงแต่เพียงครั้งเดียว ซึ่งโจทก์และ ส.มีสิทธิเรียกร้องการชำระหนี้จากจำเลยโดยทำนอง ซึ่งแต่ละคนอาจจะเรียกให้ชำระหนี้สิ้นเชิงได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 298 จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนโอนที่ดินและรับราคาที่ค้างจากโจทก์การที่โจทก์แต่ผู้เดียวมาขอรับโอนที่ดินและชำระราคาที่ค้างแก่จำเลยโดย ส.ไม่ได้ร่วมมารับโอนด้วย ไม่เป็นเหตุขัดข้องที่จำเลยจะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแก่โจทก์ไม่ได้
จำเลยมิได้ยกข้อสัญญาข้อ 3 ขึ้นให้การต่อสู้ การที่ศาลชั้นต้นยกข้อสัญญาดังกล่าวมาเป็นเหตุวินิจฉัยว่าจำเลยยังไม่ได้ผิดสัญญาจึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ดังนั้น ที่จำเลยยกข้อวินิจฉัยดังกล่าวมาเป็นข้อฎีกาต่อมาจึงถือได้ว่าเป็นปัญหาข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
โจทก์เป็นฝ่ายฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาแก่โจทก์ เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาให้แก่โจทก์ต่ำไป โจทก์ต้องการให้ศาลฎีกาพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้กำหนดให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาแก่โจทก์จำนวนสูงขึ้น โจทก์จะต้องฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาตามที่ ป.วิ.พ. มาตรา 247บัญญัติไว้ โจทก์จะอาศัยคำแก้ฎีกาในการขอให้ศาลฎีกาพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาจำนวนสูงขึ้นหาได้ไม่ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยคำขอของโจทก์ดังกล่าว

Share