คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4417/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหนี้โจทก์ได้ทำนิติกรรมโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยจำเลยทั้งสองทราบดีว่าจะเป็นทางให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบไม่ได้รับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนดังกล่าว ดังนี้เป็นคำฟ้องที่สมบูรณ์ในเรื่องเพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 237 โดยไม่จำต้องบรรยายว่าจำเลยที่ 1 จะมีหรือไม่มีทรัพย์สินอื่นนอกจากที่พิพาทหรือไม่ และโจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องก่อนหรือหลังจำเลยที่ 1 โอนที่พิพาทให้จำเลยที่ 2

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2527 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาขายและจดทะเบียนโอนที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยต่างรู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 เสียเปรียบ ทั้งนี้โดยจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหนี้โจทก์อยู่ 110,000 บาท ได้ออกเช็คสั่งจ่ายเงินชำระหนี้ให้โจทก์รวม 4 ฉบับ เมื่อเช็คดังกล่าวถึงกำหนดถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินหลังจากโจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีอาญาฐานออกเช็คดังกล่าวโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คต่อศาลชั้นต้นแล้วจำเลยที่ 1 ได้โอนขายที่พิพาทให้จำเลยที่ 2โดยจำเลยที่ 2 ทราบดีว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์และถูกดำเนินคดีดังกล่าวเพราะจำเลยทั้งสองเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันและอยู่บ้านเดียวกัน การกระทำของจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์เสียเปรียบไม่ได้รับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 ขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายที่พิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 ผู้ขายและจำเลยที่ 2 ผู้ซื้อ โดยเปลี่ยนชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์จากจำเลยที่ 2 เป็นจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ให้การว่ามิได้ฉ้อฉล โจทก์ไม่เสียเปรียบ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ซื้อที่พิพาทจากจำเลยที่ 1โดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานถูกต้องจำเลยที่ 2 ไม่ได้อยู่บ้านเดียวกับจำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการซื้อขายที่พิพาทจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่รับกันฟังได้ว่า จำเลยที่ 1กู้เงินโจทก์โดยได้ออกเช็คสั่งจ่ายเงินให้โจทก์เป็นการชำระหนี้เมื่อเช็คดังกล่าวถึงกำหนดธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน หลังจากโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีอาญาฐานออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คแล้ว จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาขายที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นน้อง คดีมีข้อวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 2 ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่
สำหรับปัญหาที่ว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ จำเลยที่ 2ฎีกาว่า โจทก์มิได้บรรยายให้ชัดแจ้งว่า นอกจากที่พิพาทแล้วจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นใดอีกที่โจทก์จะบังคับเอาได้ จึงทำให้เสียเปรียบ และโจทก์มิได้บรรยายว่าได้ใช้สิทธิเรียกร้องเมื่อใดก่อนหรือหลังการโอนที่พิพาท จึงเป็นฟ้องที่เคลือบคลุม เห็นว่าโจทก์บรรยายฟ้องมีใจความเป็นสำคัญว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหนี้โจทก์ได้ทำนิติกรรมโอนขายที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ต่างทราบดีว่าจะเป็นทางให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบไม่ได้รับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนดังกล่าว ดังนี้ เป็นคำฟ้องที่ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในเรื่องเพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237แล้วไม่จำเป็นต้องบรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 จะมีหรือไม่มีทรัพย์สินอื่นนอกจากที่พิพาทหรือไม่ และโจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องก่อนหรือหลังจำเลยที่ 1 โอนที่พิพาทให้จำเลยที่ 2 ดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกา โจทก์บรรยายฟ้องมาดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ไม่เคลือบคลุม”
พิพากษายืน

Share