คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6844/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การดำเนินกิจการของสมาคมอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของที่ประชุมใหญ่โดยคณะกรรมการของสมาคมเป็นผู้ดำเนินกิจการตามกฎหมายและข้อบังคับของสมาคมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 86 เมื่อที่ประชุมใหญ่วิสามัญลงมติไม่ไว้วางใจคณะกรรมการชุดเดิม ทำให้คณะกรรมการชุดเดิมพ้นตำแหน่งไปและตั้งคณะกรรมการรักษาการขึ้นให้มีอำนาจหน้าที่ชั่วคราวในการดำเนินกิจการของผู้คัดค้านตามที่ได้รับมอบหมายจากที่ประชุมใหญ่ การที่คณะกรรมการรักษาการจัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีเพื่อลงมติแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ก็เป็นการดำเนินการตามที่รับมอบหมายจากที่ประชุมใหญ่จึงเป็นการดำเนินการที่ชอบด้วยกฎหมายและทำให้การตั้งคณะกรรมการชุดใหม่กับการประชุมของคณะกรรมการชุดใหม่ภายหลังจากนั้นชอบด้วยกฎหมายด้วย ไม่เป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 85 วรรคสามที่ให้คณะกรรมการชุดเดิมปฏิบัติหน้าที่กรรมการของสมาคมต่อไปจนกว่าจะได้มีการจดทะเบียนกรรมการชุดใหม่ในระหว่าง ที่ยังไม่มีการจดทะเบียนกรรมการของสมาคมชุดใหม่เพราะบทบัญญัติดังกล่าวมีความมุ่งหมายสำหรับกรณีที่คณะกรรมการชุดเดิมพ้นตำแหน่งหรือเปลี่ยนแปลงกรรมการในกรณีปกติธรรมดา และอยู่ในระหว่างดำเนินการทางทะเบียนเพื่อให้การดำเนินการของสมาคมมีความต่อเนื่องหรือไม่มีเหตุขัดข้องในช่วงว่างกรรมการ

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้อง ขอให้ศาลเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีของผู้คัดค้านเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์2536 และมติที่ประชุมคณะกรรมการชุดที่ 23 ของผู้คัดค้าน
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านและแก้ไขคำคัดค้านว่า คำร้องของผู้ร้องเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 8837/2536ของศาลชั้นต้น
วันนัดไต่สวนคำร้อง คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่าข้อเท็จจริงในคดีเป็นไปตามคำร้องของผู้ร้องทุกประการศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยาน
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ให้ผู้ร้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้คัดค้าน
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่าการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของผู้คัดค้านเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์2536 และการประชุมของคณะกรรมการชุดที่ 23 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า การดำเนินกิจการของสมาคมอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของที่ประชุมใหญ่ โดยคณะกรรมการของสมาคมเป็นผู้ดำเนินกิจการตามกฎหมายและข้อบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 86 เมื่อที่ประชุมใหญ่วิสามัญซึ่งได้ประชุมในวันที่ 22 ธันวาคม 2535 ลงมติไม่ไว้วางใจคณะกรรมการชุดที่ 22ทำให้คณะกรรมการชุดที่ 22 พ้นตำแหน่งไปและตั้งคณะกรรมการรักษาการเข้าดำเนินการแทนต่อไป ดังนั้น การที่คณะกรรมการรักษาการจัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีเมื่อวันที่28 กุมภาพันธ์ 2536 ก็เป็นการดำเนินการตามที่รับมอบหมายจากที่ประชุมใหญ่จึงเป็นการดำเนินการที่ชอบด้วยกฎหมาย และทำให้การตั้งคณะกรรมการชุดที่ 23 กับการประชุมของคณะกรรมการชุดที่ 23ชอบด้วยกฎหมายด้วย ไม่เป็นการขัดต่อข้อบังคับของผู้คัดค้านข้อ 9 ที่ให้มีกรรมการจัดการ 51 คน และกรรมการจัดการสำรอง15 คน เพราะมิใช่สภากรรมการจัดการหรือคณะกรรมการดำเนินกิจการของผู้คัดค้านตามปกติตามความมุ่งหมายในข้อบังคับดังกล่าวหากแต่เป็นเพียงกรรมการรักษาการซึ่งเป็นกรณีชั่วคราวเท่านั้นและไม่เป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 85 วรรคสาม ที่ให้คณะกรรมการชุดเดิมปฏิบัติหน้าที่กรรมการของสมาคมต่อไปจนกว่าจะได้มีการจดทะเบียนกรรมการสมาคมชุดใหม่ในระหว่างที่ยังไม่มีการจดทะเบียนกรรมการของสมาคมชุดใหม่ เพราะบทบัญญัติดังกล่าวมีความมุ่งหมายสำหรับกรณีที่คณะกรรมการชุดเดิมพ้นตำแหน่งหรือเปลี่ยนแปลงกรรมการในกรณีปกติธรรมดา และอยู่ในระหว่างดำเนินการทางทะเบียนเพื่อให้การดำเนินกิจการของสมาคมมีความต่อเนื่องหรือไม่มีเหตุขัดข้องในช่วงว่างกรรมการเนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่กรรมการเดิมก็พ้นตำแหน่งและกรรมการใหม่ก็ยังอยู่ระหว่างดำเนินการจดทะเบียน แต่คดีนี้เป็นกรณีซึ่งที่ประชุมใหญ่ลงมติไม่ไว้วางใจทำให้คณะกรรมการชุดที่ 22พ้นจากตำแหน่งโดยไม่ให้มีอำนาจดำเนินกิจการของผู้คัดค้านต่อไปและได้ตั้งคณะกรรมการรักษาการขึ้นให้มีอำนาจหน้าที่ชั่วคราวในการดำเนินกิจการของผู้คัดค้านต่อไป เพราะฉะนั้นการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของผู้คัดค้านเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์2536 และการประชุมของคณะกรรมการชุดที่ 23 จึงเป็นการประชุมที่ชอบด้วยกฎหมาย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า นายวันชัย จิราธิวัฒน์มีอำนาจลงชื่อในใบแต่งทนายความและเป็นผู้แทนของผู้คัดค้านหรือไม่เห็นว่า เมื่อที่ประชุมของคณะกรรมการชุดที่ 23 ครั้งที่ 1/2536ได้ลงมติให้นายวันชัย จิราธิวัฒน์ เป็นสภานายกของผู้คัดค้านเป็นการประชุมที่ชอบด้วยกฎหมายดังได้วินิจฉัยมาแล้วนายวันชัย จิราธิวัฒน์ ย่อมเป็นสภานายกของผู้คัดค้านโดยชอบและมีอำนาจหน้าที่เป็นผู้แทนของผู้คัดค้านต่อบุคคลภายนอกและเป็นผู้จัดกิจการทุกสิ่งทุกอย่างในส่วนภายในของผู้คัดค้านตามข้อบังคับข้อ 15 ดังนั้นเมื่อผู้ร้องซึ่งเป็นสมาชิกของผู้คัดค้านร้องต่อศาลเกี่ยวกับกิจการของผู้คัดค้านนายวันชัย จิราธิวัฒน์ ย่อมมีอำนาจจัดการหรือโต้แย้งคัดค้านแทนผู้คัดค้านได้และไม่เป็นการขัดต่อข้อบังคับข้อ 24 ซึ่งเป็นเรื่องการจัดซื้อทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่จะต้องให้อุปนายกและเหรัญญิกลงชื่อร่วมด้วย เพราะฉะนั้นนายวันชัย จิรธิวัฒน์ในฐานะสภานายกจึงมีอำนาจลงชื่อในใบแต่งทนายความและเป็นผู้แทนของผู้คัดค้านเข้าเป็นผู้คัดค้านในคดีนี้ได้ ส่วนปัญหาตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องใช้สิทธิโดยสุจริตหรือไม่ก็ดี หรือการยื่นคำร้องคดีนี้เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้อนหรือซ้ำตามคำแก้ฎีกาของผู้คัดค้านหรือไม่ก็ดี ผลแห่งการวินิจฉัยไม่ว่าจะเป็นประการใดไม่ทำให้ผลคดีนี้เปลี่ยนแปลงแต่ประการใดจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยจึงไม่รับวินิจฉัยให้ที่ศาลล่างทั้งสองให้ยกคำร้องของผู้ร้องชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share