แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ข้อเท็จจริงที่จะนำมาประกอบการวินิจฉัยว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49หรือไม่ มีขอบเขตกว้างกว่าการเลิกจ้างที่ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119แม้การกระทำของโจทก์จะไม่เป็นความผิดร้ายแรงถึงขนาดที่จำเลยเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 แต่เมื่อปรากฏว่า โจทก์ไม่สามารถทำงานร่วมกับผู้ใต้บังคับบัญชาได้ ทำงานบกพร่องหลายครั้งผู้บังคับบัญชาเตือนแล้วยังไม่ดีขึ้นและมีลูกค้าส่งสินค้าคืนมาหลายครั้ง ทำให้จำเลยเสียหาย ศาลแรงงานย่อมมีอำนาจนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาประกอบการวินิจฉัยว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 49 ได้ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างโดยมีเหตุอันสมควร และไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
จำเลยไม่จ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างค้างชำระ และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เพราะมีข้อโต้เถียงระหว่างโจทก์กับจำเลยว่าจำเลยจะต้องชำระให้โจทก์หรือไม่ เพียงใด ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยจงใจไม่จ่ายเงินดังกล่าวแก่โจทก์โดยปราศจากเหตุอันสมควร จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มให้แก่โจทก์ร้อยละ 15 ของเงินทีค้างจ่ายทุกระยะ 7 วัน ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541มาตรา 9 วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2542 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยที่โจทก์ไม่ได้กระทำความผิดและมิได้บอกกล่าวล่วงหน้าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอเรียกค่าเสียหาย 43,200 บาทโจทก์ทำงานกับจำเลยเป็นเวลาเกือบ 6 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน เป็นเงิน 43,200 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 7,200 บาท นอกจากนี้จำเลยยังค้างชำระค่าจ้างตั้งแต่วันที่ 16 ถึง 30 สิงหาคม 2542 เป็นเงิน 3,600 บาทจำเลยจงใจไม่จ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าจ้างให้โจทก์โดยปราศจากเหตุผลอันสมควร จึงต้องรับผิดจ่ายเงินเพิ่มร้อยละ 15 ทุกระยะเวลา 7 วัน นับแต่ถูกเลิกจ้างขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน7,200 บาท ค่าจ้างค้างชำระ 3,600 บาท ค่าชดเชย 43,200 บาทพร้อมเงินเพิ่มร้อยละ 15 ทุกระยะเวลา 7 วัน ของต้นเงินทุกจำนวนนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จ และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันเลิกจ้างและให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 43,200 บาท
จำเลยให้การว่า เหตุที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ขัดคำสั่งของนายจ้างเป็นประจำ สร้างความกดดันให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาไม่มีขวัญและกำลังใจในการทำงาน เป็นเหตุให้คุณภาพของงานต่ำ เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2542 จำเลยได้ตักเตือนโจทก์เป็นหนังสือ แต่โจทก์ไม่เชื่อฟัง และได้ใช้คำพูดที่ไม่สุภาพกับผู้ใต้บังคับบัญชา ทำให้เกิดความแตกแยก สินค้าที่โจทก์มีหน้าที่ตรวจสอบไม่ได้มาตรฐานตามที่ลูกค้าต้องการทำให้จำเลยเสียหาย เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2542 จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ โจทก์เป็นผู้กระทำความผิด จำเลยไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมเงินเพิ่ม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 4,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 21 กันยายน 2542 (วันฟ้อง) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และค่าชดเชย 43,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 กันยายน 2542 (วันเลิกจ้าง)เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า โจทก์เข้าทำงานกับจำเลยเมื่อวันที่ 1ตุลาคม 2536 ตำแหน่งสุดท้ายคือหัวหน้าแผนกตรวจสอบ มีผู้ใต้บังคับบัญชา 8 คน ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ7,200 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 5 และ 20 ของเดือนเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2542 จำเลยลงโทษโจทก์โดยตักเตือนเป็นหนังสือเนื่องจากหัวหน้าฝ่ายผลิตได้โยกย้ายพนักงานในกลุ่มผลิตไปประจำกลุ่มตรวจสอบคุณภาพร้อยเปอร์เซ็นต์ โจทก์ทราบว่าจะเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลย แต่ไม่ได้ทักท้วงหรือรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบและโจทก์ไม่สามารถทำงานร่วมกับผู้ใต้บังคับบัญชาได้ โจทก์ทำงานตรวจสอบคุณภาพบกพร่องหลายครั้งผู้บังคับบัญชาเตือนแล้วยังไม่ดีขึ้น มีลูกค้าส่งสินค้าคืนหลายครั้งทำให้จำเลยเสียหาย ต่อมาวันที่ 15กันยายน 2542 จำเลยเลิกจ้างโจทก์อ้างว่าโจทก์บกพร่องต่อหน้าที่อย่างร้ายแรง โดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ได้จ่ายค่าชดเชยปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า การที่จะพิจารณาว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่จะนำเหตุเลิกจ้างอื่นซึ่งไม่เกี่ยวกับเหตุเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยมาเป็นข้อสนับสนุนได้หรือไม่นั้น เห็นว่า การที่จะพิจารณาว่าการเลิกจ้างของนายจ้างเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมอันเป็นเหตุให้นายจ้างต้องใช้ค่าเสียหายแก่ลูกจ้าง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49หรือไม่ ต้องพิจารณาถึงเหตุแห่งการเลิกจ้างว่ามีเหตุจริงหรือไม่และเหตุนั้นเป็นเหตุสมควรที่นายจ้างจะเลิกจ้างหรือไม่ ซึ่งเหตุดังกล่าวอาจเป็นเหตุที่เกิดขึ้นจากการกระทำของลูกจ้างหรือเหตุอื่นที่มิใช่การกระทำหรือความผิดของลูกจ้างก็ได้ ส่วนการเลิกจ้างที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยจะต้องปรากฏว่าลูกจ้างได้กระทำความผิดตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 มาตรา 119 ข้อใดข้อหนึ่งเท่านั้น จึงเห็นได้ว่า ข้อเท็จจริงที่จะนำมาประกอบการวินิจฉัยว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ มีขอบเขตกว้างกว่าที่ได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 ดังนั้นแม้การกระทำของโจทก์จะไม่เป็นความผิดร้ายแรงถึงขนาดที่จำเลยเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 ก็ตาม แต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์ไม่สามารถทำงานร่วมกับผู้ใต้บังคับบัญชาได้ ทำงานตรวจสอบคุณภาพบกพร่องหลายครั้ง ผู้บังคับบัญชาเตือนแล้วยังไม่ดีขึ้น มีลูกค้าส่งสินค้าคืนมาหลายครั้ง ทำให้จำเลยเสียหาย ศาลแรงงานกลางย่อมมีอำนาจนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาประกอบการวินิจฉัยว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 49 ได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ดังกล่าว การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างโดยมีเหตุอันสมควร และไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางชอบแล้ว
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ประการสุดท้ายว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยจงใจไม่จ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างค้างชำระ และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์โดยปราศจากเหตุอันสมควร จำเลยจึงต้องจ่ายเงินเพิ่มตามกฎหมายให้โจทก์ด้วยนั้น เห็นว่า ค่าชดเชยค่าจ้างค้างชำระ และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามฟ้องยังมีข้อโต้เถียงระหว่างโจทก์กับจำเลยว่า จำเลยจะต้องชำระให้โจทก์หรือไม่ เพียงใด ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยจงใจไม่จ่ายเงินดังกล่าวแก่โจทก์โดยปราศจากเหตุอันสมควร จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มให้แก่โจทก์ร้อยละ 15 ของเงินที่ค้างจ่ายทุกระยะ 7 วัน ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 9 วรรคสองอุทธรณ์ของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน