แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การจำนำเครื่องจักรโดยคู่สัญญาจำนำตกลงให้ ช. กรรมการของลูกหนี้เป็นผู้รักษาทรัพย์สินจำนำและลูกหนี้เป็นผู้ใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินจำนำในการประกอบธุรกิจของตนมาโดยตลอด ซึ่งเครื่องจักรนั้นผู้จำนำสั่งซื้อเข้ามาจากต่างประเทศเพื่อผลิตสินค้าออกจำหน่ายสร้างรายได้และนำเงินชำระคืนแก่ผู้รับจำนำการจำนำเครื่องจักรจึงเป็นหนทางที่สะดวกและรวดเร็วกว่าการทำจำนอง แสดงให้เห็นถึงเจตนาของลูกหนี้ที่ต้องการใช้เครื่องจักรนำมาผลิตสินค้าเพื่อประโยชน์ของตนแต่เพียงฝ่ายเดียว แม้ว่าสัญญาจำนำจะมีข้อตกลงว่า แม้ผู้จำนำจะได้รับอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในเครื่องจักรที่จำนำก็ไม่ถือว่าเครื่องจักรกลับคืนไปสู่การครอบครองของผู้จำนำก็ตามก็เป็นการเขียนสัญญาไว้เพื่อเลี่ยงกฎหมาย ซึ่งในการตีความการแสดงเจตนานั้นให้เพ่งเล็งถึงเจตนาที่แท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 171 เมื่อเจตนาที่แท้จริงของลูกหนี้ต้องการใช้ประโยชน์จากเครื่องจักรอันเป็นทรัพย์สินที่จำนำ การที่ผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นผู้รับจำนำเครื่องจักรยอมให้ลูกหนี้เข้าใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินจำนำ ย่อมเป็นการยอมให้ทรัพย์สินจำนำกลับคืนไปสู่ครอบครองของผู้จำนำตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 769(2) แล้ว สิทธิจำนำของผู้คัดค้านที่ 1 จึงระงับสิ้นไปผู้คัดค้านที่ 1 ไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้อย่างเจ้าหนี้มีประกันตามสัญญาจำนำเครื่องจักรตามกฎหมายล้มละลาย
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลแพ่งมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้และตั้งบริษัทไพรัชวอเตอร์เฮ้าส์ คอร์ปอเรท รีสตรัคเจอริ่งจำกัด เป็นผู้ทำแผนของลูกหนี้เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2541 ต่อมาศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งตั้งบริษัทไพรัชวอเตอร์เฮ้าส์ คูเปอร์สเอฟเอเอส จำกัด เป็นผู้ทำแผนคนใหม่ของลูกหนี้ตามมติที่ประชุมเจ้าหนี้
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้คัดค้านที่ 2 มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายที่ 116 ได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการในมูลหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี สัญญากู้เงิน ตั๋วสัญญาใช้เงินสัญญากู้เงินสกุลเงินตราต่างประเทศ สัญญารับชำระหนี้ สัญญารับมอบสินค้าเชื่อ โดยให้ได้รับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตามสัญญาจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 1074 และ 1169 ตำบลศาลาแดงอำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ฉบับลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2536 สัญญาจำนองเครื่องจักรลงวันที่ 24กันยายน 2536 รวม 235 เครื่อง และสัญญาจำนำเครื่องจักรลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2538 ภายในวงเงินและดอกเบี้ยตามสัญญาก่อนเป็นเงินทั้งสิ้น 4,220,039,187.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราสูงสุดตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยจากต้นเงิน 3,418,860.40 บาท (มูลหนี้อันดับ 1) จากต้นเงิน1,326,140,000 บาท (มูลหนี้อันดับ 4) จากต้นเงิน 1,300,000,000 บาท และ 32,495,094.72 บาท (มูลหนี้อันดับ 5)จากต้นเงิน 210,362,620.88 บาท (มูลหนี้อันดับ 6.2) ดอกเบี้ยตามสัญญาจากต้นเงิน 99,999,994 บาท (มูลหนี้อันดับ 2) ดอกเบี้ยผิดนัดตามสัญญาจากต้นเงิน 10,821,570.74 บาท (มูลหนี้อันดับ 3)ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10.25 ต่อปี จากต้นเงิน 58,834,574.97 บาทและ 577,728,266.78 บาท (มูลหนี้อันดับ 6.1 และ 6.3) นับแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2541 (วันถัดจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ)จนกว่าจะได้รับชำระเสร็จจากลูกหนี้ ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายที่ 156เป็นผู้มีส่วนได้เสียขอคัดค้านคำสั่งของผู้คัดค้านที่ 2 ที่ให้ผู้คัดค้านที่ 1 ได้รับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตามสัญญาจำนำเครื่องจักรลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2538 ภายในวงเงินและดอกเบี้ยตามสัญญาดังกล่าวเนื่องจากองค์ประกอบสำคัญในการจำนำจะต้องมีการส่งมอบทรัพย์สินที่จำนำให้แก่ผู้รับจำนำเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้หรือตกลงกันให้บุคคลภายนอกเป็นผู้เก็บรักษาทรัพย์สินจำนำไว้ แต่เมื่อพิจารณาตามสัญญาจำนำเครื่องจักรลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2538 ระหว่างลูกหนี้ผู้จำนำกับผู้คัดค้านที่ 1 ผู้รับจำนำและสัญญารักษาทรัพย์สินจำนำลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2538 ระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 ผู้รับจำนำกับนายชาญ อัศวโชค ผู้รักษาทรัพย์สินจำนำ เห็นได้ว่า นายชาญซึ่งเป็นกรรมการลูกหนี้ถือเป็นตัวแทนของผู้จำนำ มิใช่เป็นการให้บุคคลภายนอกเป็นผู้เก็บรักษาทรัพย์สินจำนำ ทั้งเครื่องจักรอันเป็นทรัพย์สินจำนำยังคงอยู่ในครอบครองของผู้จำนำและผู้จำนำเป็นผู้ใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินจำนำในการประกอบธุรกิจของตนมาโดยตลอด แสดงว่าผู้รับจำนำยอมให้ทรัพย์สินจำนำกลับคืนไปสู่ครอบครองของผู้จำนำ จำนำย่อมระงับสิ้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 769(2) ผู้คัดค้านที่ 1 จึงไม่ใช่เจ้าหนี้ผู้รับจำนำและไม่ใช่เจ้าหนี้มีประกันในส่วนของหลักประกันที่เป็นเครื่องจักรตามสัญญาจำนำเครื่องจักร ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งผู้คัดค้านที่ 2 ในส่วนที่ให้ผู้คัดค้านที่ 1 ได้รับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตามสัญญาจำนำเครื่องจักรลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2538
ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำคัดค้านว่า ลูกหนี้กู้ยืมเงินจากผู้คัดค้านที่ 1เพื่อซื้อเครื่องจักรมาใช้ในการผลิตสินค้า โดยผู้คัดค้านที่ 1 รับจำนำเครื่องจักรไว้เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ และลูกหนี้ได้ทำสัญญาจำนำเครื่องจักรให้ไว้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ตามสัญญาจำนำเครื่องจักรลงวันที่ 19กรกฎาคม 2538 การจำนำไม่ระงับสิ้นไปตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง เพราะโดยสภาพเครื่องจักรมีขนาดใหญ่ ขนย้ายลำบาก ทั้งลูกหนี้ต้องอาศัยเครื่องจักรในการผลิตสินค้าซึ่งเป็นที่มาของรายได้ลูกหนี้เพื่อนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 และเครื่องจักรยังไม่สามารถจดทะเบียนเครื่องจักรได้ทันทีลูกหนี้จึงมิได้จดทะเบียนจำนองเครื่องจักร แต่ได้ทำสัญญาจำนำเครื่องจักรไว้ก่อนโดยพฤติการณ์ลูกหนี้ได้ส่งมอบเครื่องจักรที่จำนำให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้ครอบครองแต่ด้วยสภาพของเครื่องจักรใหญ่ยากแก่การขนย้ายไปเก็บรักษา ผู้คัดค้านที่ 1 จึงมอบเครื่องจักรที่จำนำให้นายชาญ อัศวโชค เป็นผู้เก็บรักษา โดยนายชาญทำสัญญารักษาทรัพย์สินจำนำไว้ต่อผู้คัดค้านที่ 1 แม้นายชาญจะมีตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการลูกหนี้ แต่ก็กระทำในฐานะส่วนตัว ไม่ใช่กระทำในฐานะตัวแทนลูกหนี้และลูกหนี้ยินยอมให้นายชาญเป็นผู้เก็บรักษาทรัพย์สินจำนำ ผู้คัดค้านที่ 1สามารถเข้าตรวจตราและขนย้ายเครื่องจักรจำนำได้ทุกเวลา สัญญาจำนำเครื่องจักรระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 กับลูกหนี้จึงมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมายคำสั่งของผู้คัดค้านที่ 2 ที่ให้ผู้คัดค้านที่ 1 ได้รับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตามสัญญาจำนำเครื่องจักรลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2538 จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำคัดค้านว่า ตามสัญญาจำนำเครื่องจักรลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2538 และสัญญารักษาทรัพย์สินจำนำลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2538 ลูกหนี้ในฐานะผู้จำนำได้ส่งมอบเครื่องจักรอันเป็นทรัพย์สินจำนำให้แก่ผู้รับจำนำโดยมีผู้รักษาทรัพย์สินจำนำคือนายชาญ อัศวโชค ซึ่งกระทำในฐานะส่วนตัว มิใช่กระทำในฐานะกรรมการหรือพนักงานลูกหนี้ และในสัญญารักษาทรัพย์สินจำนำไม่มีข้อความระบุว่าผู้รักษาทรัพย์สินจำนำ คือ บุคคลของลูกหนี้จึงเป็นการตกลงกันให้บุคคลภายนอกเป็นผู้เก็บรักษาทรัพย์สินจำนำไว้และไม่ใช่เรื่องผู้รับจำนำยอมให้ทรัพย์สินจำนำกลับคืนไปสู่ครอบครองของผู้จำนำ เพราะตามสัญญาจำนำเครื่องจักรคู่สัญญาตกลงกันให้ผู้รักษาทรัพย์สินจำนำตามสัญญารักษาทรัพย์สินจำนำเป็นผู้รักษาเครื่องจักร ถึงแม้ผู้จำนำจะได้รับอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในเครื่องจักรที่จำนำก็ไม่ถือว่าเครื่องจักรกลับคืนไปสู่ครอบครองของผู้จำนำ แต่ถ้าว่ายังอยู่ในครอบครองของผู้รักษาทรัพย์สินจำนำข้อตกลงตามสัญญาจำนำเครื่องจักรและสัญญารักษาทรัพย์สินจำนำดังกล่าวมีผลใช้บังคับได้ ผู้คัดค้านที่ 1 จึงเป็นเจ้าหนี้มีประกัน คำสั่งของผู้คัดค้านที่ 2 ที่อนุญาตให้ผู้คัดค้านที่ 1 ได้รับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตามสัญญาจำนำเครื่องจักรลงวันที่ 19 กรกฎาคม2538 เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกคำร้อง
ในวันนัดไต่สวนคำร้อง ศาลล้มละลายกลางเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้ จึงให้งดไต่สวนและนัดฟังคำสั่ง
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ผู้ร้องว่า ผู้คัดค้านที่ 2 มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้คัดค้านที่ 1ได้รับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตามสัญญาจำนำเครื่องจักรลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2538 ชอบหรือไม่ เห็นว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 747 บัญญัติว่า “อันว่าจำนำนั้นคือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้จำนำ ส่งมอบสังหาริมทรัพย์สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับจำนำ เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้” ดังนั้น การที่ลูกหนี้กับผู้คัดค้านที่ 1 ตกลงทำสัญญาจำนำเครื่องจักรลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2538 โดยมีเงื่อนไขระบุในข้อ 1 ว่าผู้จำนำตกลงจำนำเครื่องจักรตามรายละเอียดแนบท้ายสัญญาไว้แก่ผู้รับจำนำและได้ส่งมอบเครื่องจักรดังกล่าวให้แก่ผู้รับจำนำหรือผู้รักษาทรัพย์สินจำนำเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ทุกลักษณะซึ่งผู้จำนำเป็นหนี้ผู้รับจำนำ และข้อ 3. คู่สัญญาตกลงกันให้ผู้รักษาทรัพย์สินจำนำตามสัญญารักษาทรัพย์สินจำนำท้ายสัญญานี้เป็นผู้รักษาเครื่องจักรแทนผู้รับจำนำ ถ้าแม้ผู้จำนำจะได้รับอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในเครื่องจักรที่จำนำ ก็ไม่ถือว่าเครื่องจักรกลับคืนไปสู่ครอบครองของผู้จำนำ แต่ถือว่ายังอยู่ในครอบครองของผู้รักษาทรัพย์สินจำนำ และตามสัญญารักษาทรัพย์สินจำนำลงวันที่ 19กรกฎาคม 2538 ระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 ในฐานะผู้รับจำนำกับนายชาญอัศวโชค ผู้รักษาทรัพย์สินจำนำ ซึ่งระบุว่าได้กระทำในฐานะส่วนตัวเมื่อพิจารณาจากสัญญาทั้งสองฉบับแล้ว ถือได้ว่าลูกหนี้ได้ส่งมอบเครื่องจักรอันเป็นทรัพย์สินจำนำให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 โดยลูกหนี้และผู้คัดค้านที่ 1 ตกลงกันให้นายชาญเป็นผู้เก็บรักษาทรัพย์สินจำนำไว้ มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามอุทธรณ์ของผู้ร้องว่า ผู้คัดค้านที่ 1ยอมให้เครื่องจักรอันเป็นทรัพย์สินจำนำกลับคืนไปสู่ครอบครองของลูกหนี้ซึ่งเป็นผู้จำนำ จำนำจึงระงับสิ้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 769(2) หรือไม่เห็นว่า เมื่อพิจารณาจากสัญญาจำนำเครื่องจักรมีถ้อยคำสำนวนตามตัวอักษรในข้อ 3. ว่า คู่สัญญาจำนำตกลงกันให้ผู้รักษาทรัพย์สินจำนำเป็นผู้รักษาเครื่องจักร แม้ผู้จำนำจะได้รับอนุญาตใช้ประโยชน์ในเครื่องจักรที่จำนำก็ไม่ถือว่าเครื่องจักรกลับคืนไปสู่การครอบครองของผู้จำนำแต่ถือว่ายังอยู่ในครอบครองของผู้รักษาทรัพย์สินจำนำ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า เครื่องจักรที่จำนำนั้นนายชาญเป็นผู้รักษาทรัพย์สินจำนำโดยลูกหนี้เป็นผู้ใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินจำนำในการประกอบธุรกิจของตนมาโดยตลอดโดยนายปกรณ์ สุวรรณวัฒนะ ผู้รับมอบอำนาจจากผู้คัดค้านที่ 1 ให้การต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านที่ 2ว่า ทรัพย์สินจำนำเป็นเครื่องจักรที่นำเข้าจากต่างประเทศ ผู้จำนำสั่งซื้อเข้ามาเพื่อผลิตสินค้าออกจำหน่ายการเดินเครื่องจักรเพื่อผลิตสินค้าออกมาได้เร็วเท่าใดก็สามารถสร้างรายได้ให้แก่ผู้จำนำซึ่งสามารถนำมาชำระคืนให้แก่ผู้รับจำนำ การจำนำเครื่องจักรจึงเป็นหนทางที่สะดวกรวดเร็วกว่าการทำจำนองแสดงให้เห็นถึงเจตนาของลูกหนี้ที่ต้องการที่จะใช้เครื่องจักรนำมาผลิตสินค้าเพื่อประโยชน์ของตนแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยมิได้คำนึงถึงการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายที่บัญญัติไว้เพื่อคุ้มครองบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต การที่ลูกหนี้ทำสัญญาจำนำเครื่องจักรไว้ โดยมีถ้อยคำสำนวนตามตัวอักษรระบุว่าแม้ผู้จำนำจะได้รับอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในเครื่องจักรที่จำนำก็ไม่ถือว่าเครื่องจักรกลับคืนไปสู่การครอบครองของผู้จำนำ ก็เป็นการเขียนสัญญาไว้เพื่อเลี่ยงกฎหมาย ซึ่งในการตีความการแสดงเจตนานั้นให้เพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 171 เมื่อเจตนาที่แท้จริงของลูกหนี้ต้องการที่จะใช้ประโยชน์จากเครื่องจักรอันเป็นทรัพย์สินจำนำ การที่ผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นผู้รับจำนำเครื่องจักรยอมให้ลูกหนี้เข้าใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินจำนำ ย่อมเป็นการยอมให้ทรัพย์สินจำนำกลับคืนไปสู่ครอบครองของผู้จำนำตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 769(2) แล้วสิทธิจำนำของผู้คัดค้านที่ 1 จึงระงับสิ้นไปตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง โดยเห็นชอบตามที่ผู้คัดค้านที่ 2 อนุญาตให้ผู้คัดค้านที่ 1 ได้รับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตามสัญญาจำนำเครื่องจักรลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2538 นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังขึ้น”
พิพากษากลับว่า ให้เพิกถอนคำสั่งผู้คัดค้านที่ 2 ในส่วนที่อนุญาตให้ผู้คัดค้านที่ 1 ได้รับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตามสัญญาจำนำเครื่องจักรลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2538