คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6839/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ในระหว่างที่ศาลแรงงานภาคและศาลแรงงานจังหวัดยังมิได้เปิดทำการในท้องที่ใด ศาลแรงงานกลางย่อมมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแรงงานได้ทั่วราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 60 โจทก์จึงยื่นฟ้องคดีที่ศาลแรงงานกลาง (ศาลจังหวัดเชียงใหม่) ได้โดยไม่ต้องคำนึงว่าศาลจังหวัดเชียงใหม่เป็นศาลที่โจทก์หรือจำเลยมีภูมิลำเนาหรือเป็นศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นหรือไม่ เมื่อศาลแรงงานกลางสั่งรับคำฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาศาลแรงงานกลางย่อมมีอำนาจออกไปนั่งพิจารณาพิพากษาที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2536 บริษัทยูไนเต็ด คอมมูนิเคชั่นอินดัสตรี (เวิลด์เรดิโอ) จำกัด (มหาชน) ตกลงจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ต่อมาวันที่ 20 สิงหาคม 2542 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด และมิได้บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมายขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 12,000 บาทและค่าเสียหาย 144,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีกับค่าชดเชย 72,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โดยคิดดอกเบี้ยจากต้นเงินแต่ละจำนวน นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นพนักงานของจำเลยจริง แต่โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า เดิมโจทก์เข้าทำงานที่บริษัทยูไนเต็ดคอมมูนิเคชั่นอินดัสตรี (เวิลด์เรดิโอ) จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของจำเลย ต่อมาโจทก์โอนมาทำงานกับจำเลย จำเลยข่มขู่บีบบังคับให้โจทก์ลาออกโดยไม่สมัครใจ ถือเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์พิพากษาให้จำเลยชำระค่าชดเชย 72,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้าง (วันที่ 20 สิงหาคม 2542) สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 12,000 บาท นับแต่วันถึงกำหนดจ่ายค่าจ้าง (วันที่ 31 สิงหาคม 2542) ค่าเสียหาย 60,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2542เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า ศาลแรงงานกลาง (ศาลจังหวัดเชียงใหม่) มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้หรือไม่ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นกล่าวในศาลแรงงานกลาง จำเลยก็มีสิทธิยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวมาตรา 60 บัญญัติว่า “ในระหว่างที่ศาลแรงงานภาคและศาลแรงงานจังหวัดยังมิได้เปิดทำการในท้องที่ใดให้ศาลแรงงานกลางมีเขตอำนาจในท้องที่นั้นด้วย โจทก์จะยื่นคำฟ้องต่อศาลจังหวัดแห่งท้องที่นั้นก็ได้ ให้ศาลจังหวัดแจ้งไปยังศาลแรงงานกลางเมื่อศาลแรงงานกลางสั่งรับคดีนั้นไว้พิจารณาแล้ว ให้ศาลแรงงานกลางออกไปนั่งพิจารณาพิพากษา ณ ศาลจังหวัดแห่งท้องที่นั้น” ซึ่งในปัจจุบันศาลแรงงานภาคและศาลแรงงานจังหวัดยังมิได้เปิดทำการในท้องที่ใดจากบทบัญญัติดังกล่าวศาลแรงงานกลางย่อมมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแรงงานได้ทั่วราชอาณาจักร ฉะนั้น โจทก์จึงยื่นฟ้องคดีนี้ที่ศาลแรงงานกลาง (ศาลจังหวัดเชียงใหม่) ได้โดยไม่ต้องคำนึงว่าศาลจังหวัดเชียงใหม่เป็นศาลที่โจทก์หรือจำเลยมีภูมิลำเนาหรือเป็นศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นหรือไม่ดังที่จำเลยอุทธรณ์ เมื่อศาลแรงงานกลางสั่งรับคำฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณา ศาลแรงงานกลางย่อมมีอำนาจออกไปนั่งพิจารณาพิพากษาคดีนี้ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้ตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 12,000 บาท นับแต่วันถึงกำหนดจ่ายค่าจ้าง (วันที่ 31 สิงหาคม 2542) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share