คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6837/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนได้นำใบกำกับภาษีปลอมมาใช้เป็นหลักฐานในการเครดิตภาษีจำเลยที่ 1 จึงต้องมีความผิดตามฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนและเป็นผู้ใช้ใบกำกับภาษีปลอมในนามของจำเลยที่ 1 จึงเป็นตัวการร่วมกระทำผิดอันจะต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 อยู่แล้ว กรณีไม่จำต้องอาศัยความในมาตรา 90/5 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นบทสันนิษฐานให้กรรมการหรือผู้แทนนิติบุคคลต้องรับโทษฐานนั้นด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลรัษฎากร มาตรา 90/4(7),86/13, 77/1 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83 และริบของกลาง

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลรัษฎากรมาตรา 90/4(7) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน200,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 7 ปี จำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ริบของกลาง

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 90/4(7) จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 90/5 ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปีนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยทั้งสองฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ ที่จำเลยทั้งสองฎีกาเป็นทำนองว่าโจทก์มีหน้าที่นำสืบพิสูจน์ว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้กระทำความผิดแต่โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นแสดงว่า ใบกำกับภาษีจำนวน 119 ฉบับตามเอกสารหมาย จ.3 ถึง จ.17เป็นเอกสารปลอม จึงไม่อาจลงโทษจำเลยทั้งสองได้นั้น เห็นว่า ในการนำสืบพิสูจน์ความผิดของจำเลยทั้งสอง โจทก์มีนางศรีสุดา รามสูตร เจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสอบการเสียภาษีของจำเลยที่ 1 และนายปรีชา พรสุนทรสวัสดิ์นิติกรผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับกฎหมายภาษีสรรพากรสำนักงานสรรพากรภาค 1 เป็นพยานเบิกความยืนยันถึงบัญชีรายชื่อนิติบุคคลที่ออกใบกำกับภาษีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายที่กรมสรรพากรได้รวบรวมไว้ตามเอกสารหมาย จ.19 ซึ่งจำเลยทั้งสองได้นำใบกำกับภาษีของนิติบุคคลตามบัญชีดังกล่าว 11 ราย จำนวน 119 ฉบับ มาใช้ในการเครดิตภาษีต่อกรมสรรพากรระหว่างเดือนมีนาคม 2538 ถึงเดือนพฤษภาคม 2540 และนางศรีสุดาได้แจ้งให้จำเลยทั้งสองทราบเพื่อให้นำพยานหลักฐานมาปกป้องสิทธิแสดงว่าจำเลยทั้งสองกระทำโดยสุจริต แต่จำเลยทั้งสองไม่สามารถนำพยานบุคคลหรือเอกสารใด ๆมาแสดงให้เห็นว่าได้มีการซื้อขายสินค้ากันจริงตามใบกำกับภาษีเหล่านั้นเลยทั้งนี้จำเลยทั้งสองเป็นบุคคลผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการซื้อขายสินค้าตามใบกำกับภาษีดังกล่าว ซึ่งสามารถพิสูจน์ถึงความจริงตามใบกำกับสินค้าได้โดยง่าย เพราะหากมีการซื้อขายสินค้ากันจริงพยานบุคคลและเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ย่อมต้องมีอยู่ที่จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นฝ่ายผู้ซื้อด้วย โดยเฉพาะการซื้อขายสินค้าตามใบกำกับภาษีที่ออกให้โดยห้างหุ้นส่วนจำกัดปฐมพงษ์ค้าวัสดุมีจำนวนถึง 31 ฉบับระยะเวลาการติดต่อซื้อขายกันตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนธันวาคม2538 นานถึง 10 เดือน เงินที่ชำระค่าสินค้ามีจำนวนสูงหาใช่เป็นการซื้อขายลักษณะรายย่อยประเภทครั้งคราวที่มีจำนวนเงินเพียงเล็กน้อยแต่อย่างใด เช่นเดียวกับลักษณะการซื้อขายกับห้างหุ้นส่วนจำกัดทองใบโลหะกิจ ห้างหุ้นส่วนจำกัดนนทบุรีฮาร์ดแวร์แอนด์คอนสตรัคชั่นห้างหุ้นส่วนจำกัด 79 ฮาร์ดแวร์ก่อสร้าง และห้างหุ้นส่วนจำกัดโชคนำเจริญดีเวลลอบเม้นท์ ซึ่งเป็นการซื้อขายที่จำเลยทั้งสองอาจแสวงหาพยานหลักฐานมาแสดงได้โดยง่ายหาใช่ไม่อาจนำมาแสดงได้เลยแต่อย่างใด ตามพฤติการณ์แห่งรูปคดีที่โจทก์นำสืบมาดังกล่าวจึงมีน้ำหนักเพียงพอให้ฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าใบกำกับภาษีทั้ง 119 ฉบับ ตามเอกสารหมาย จ.3 ถึง จ.17 ที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนได้นำมาใช้เป็นหลักฐานในการเครดิตภาษีล้วนแต่เป็นเอกสารปลอม โจทก์ไม่จำต้องมีประจักษ์พยานผู้รู้เห็นโดยตรงถึงการทำเอกสารปลอมดังกล่าวมานำสืบแต่อย่างใดที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ไม่ทราบว่าใบกำกับภาษีดังกล่าวเป็นเอกสารปลอมด้วยเหตุผลต่าง ๆ นานา จำเลยทั้งสองจึงมิได้มีเจตนากระทำความผิดนั้นตามพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 ให้การต่อนางศรีสุดาในชั้นต้นถึงการได้ใบกำกับภาษีมาตามเอกสารหมาย จ.24 ว่า ผู้ขายสินค้าได้นำใบกำกับภาษีเหล่านั้นปนมากับใบกำกับภาษีที่ถูกต้อง แตกต่างไปจากที่ให้การต่อร้อยตำรวจเอกศุภกิจ ศิริประเสริฐกุล พนักงานสอบสวนในชั้นสอบสวนว่า ได้มาจากผู้รับเหมาช่วง และไม่สอดคล้องกับที่จำเลยทั้งสองนำสืบในชั้นพิจารณาว่าได้มาจากผู้ขายที่มาเสนอขายสินค้าเป็นครั้งคราวเป็นข้อพิรุธอันส่อแสดงว่าจำเลยทั้งสองนำเอกสารใบกำกับภาษีตามเอกสารหมาย จ.3 ถึง จ.17 ไปใช้เครดิตภาษีโดยรู้อยู่ว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารปลอม พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองจึงไม่มีน้ำหนักฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ จำเลยที่ 1 จึงต้องมีความผิดตามฟ้องส่วนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน และเป็นผู้ใช้ใบกำกับภาษีปลอมในนามของจำเลยที่ 1 จึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ดังนั้น เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นการร่วมกระทำผิดอันจะต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 อยู่แล้ว กรณีจึงไม่จำต้องอาศัยความในบทบัญญัติมาตรา 90/5 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นบทสันนิษฐานให้กรรมการหรือผู้แทนนิติบุคคลต้องรับโทษฐานนั้นด้วยที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ลงโทษจำเลยที่ 2 โดยอาศัยบทบัญญัติมาจาก 90/5 จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ส่วนที่จำเลยที่ 2ฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษนั้น เห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นการทุจริตแสวงหาประโยชน์จากการคดโกงภาษีของรัฐ ซึ่งมีผลกระทบก่อให้เกิดความเสียหายแก่การทำนุบำรุงและการพัฒนาประเทศชาติ เป็นตัวอย่างไม่ดีที่สมควรกำราบปราบปรามมิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป ประกอบกับศาลอุทธรณ์ได้ใช้ดุลพินิจแก้ไขเปลี่ยนแปลงกำหนดโทษจำคุกแก่จำเลยที่ 2 ให้เบาลงอันเป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 ที่ไม่รู้สำนึกตัวกลัวผิดและต่อสู้คดีมาโดยตลอดมากแล้วกรณีจึงไม่มีเหตุสมควรจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ลงโทษจำเลยที่ 2เบาลงและรอการลงโทษแก่จำเลยที่ 2 แต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลรัษฎากรมาตรา 90/4(7) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share