แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นลูกจ้างรายวันมีสิทธิได้รับค่าจ้างเฉพาะวันที่มาทำงาน แม้ว่าสัญญาจ้างแรงงานระหว่างจำเลยกับโจทก์ยังไม่สิ้นสุด แต่โจทก์ ก็มิได้ทำงานให้แก่จำเลย จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์
ย่อยาว
คดีทั้งสามสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางรวมพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยเรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ตามลำดับ
โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องว่า ขณะฟ้องคดีนี้โจทก์ทั้งสามยังเป็นลูกจ้างของจำเลย โจทก์ที่ 1 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายวันละ 226 บาท ค่าครองชีพเดือนละ 750 บาท เบี้ยขยันเดือนละ 750 บาท และเบี้ยเลี้ยงวันละ 15 บาทโจทก์ที่ 2 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายวันละ 367 บาท ค่าครองชีพเดือนละ 600บาท เบี้ยขยันเดือนละ 750 บาท และเบี้ยเลี้ยงวันละ 6 บาท โจทก์ที่ 3 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายวันละ 181 บาท ค่าครองชีพเดือนละ 750 บาท เบี้ยขยันเดือนละ 750 บาท และเบี้ยเลี้ยงวันละ 15 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 5และ 20 ของเดือน โจทก์ทั้งสามเป็นกรรมการลูกจ้างในสถานประกอบการของจำเลย จำเลยจงใจไม่ยอมจ่ายเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสามตั้งแต่วันที่ 18กันยายน 2542 จนถึงวันฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน12,246.29 บาท 17,421 บาท และ 10,401 บาท กับค่าจ้างเดือนละ 7,766บาท 10,298 บาท และ 6,569 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสามตามลำดับนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะสิ้นสุดการเป็นลูกจ้าง พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของค่าจ้างค้างจ่ายนับแต่วันถึงกำหนดจ่ายทุกคราวเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยจ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 15 ทุกเวลาเจ็ดวันของค่าจ้างค้างจ่ายนับแต่วันถึงกำหนดจ่ายทุกคราวเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์ทั้งสามเป็นลูกจ้างรายวันของจำเลยหากโจทก์ทั้งสามไม่ทำงานให้แก่จำเลยในวันใด จำเลยก็จะไม่จ่ายค่าจ้างให้ เมื่อวันที่ 11กันยายน 2542 จำเลยได้ทำหนังสือส่งโจทก์ทั้งสามไปปฏิบัติงานที่โครงการก่อสร้างเขื่อนและท่าเทียบเรือจังหวัดภูเก็ต โดยให้โจทก์ทั้งสามไปรายงานตัวที่หน่วยงานใหม่ในวันที่ 17 กันยายน 2542 ซึ่งตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยจำเลยมีอำนาจกระทำได้ แต่โจทก์ทั้งสามไม่ไปรายงานตัวและเข้าปฏิบัติงานที่จังหวัดภูเก็ต จึงถือว่าโจทก์ทั้งสามจงใจฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หรือคำสั่งของจำเลยอันชอบด้วยกฎหมายกรณีร้ายแรง และเป็นการละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย จำเลยจึงได้ร้องขอเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามต่อศาลแรงงานกลางซึ่งคดีอยู่ระหว่างพิจารณา เบี้ยเลี้ยงค่าครองชีพและเบี้ยขยันจำเลยจ่ายให้โจทก์ทั้งสามเป็นสวัสดิการ ไม่ใช่ค่าจ้างซึ่งมีวิธีการจ่ายและหลักเกณฑ์การจ่ายแตกต่างจากค่าจ้างหลายประการ เช่นจะได้รับเฉพาะวันที่มาทำงานเท่านั้นวันใดไม่มาทำงานก็จะไม่ได้เบี้ยเลี้ยง หรือถ้าหยุดงานไปเกินกว่าที่กำหนดไว้ในระเบียบหรือข้อตกลงก็จะไม่ได้ค่าครองชีพและเบี้ยขยัน โจทก์ทั้งสามไม่มีสิทธินำเบี้ยเลี้ยงและเบี้ยขยันมาคำนวณเป็นค่าจ้าง เมื่อโจทก์ทั้งสามไม่ได้ทำงานให้จำเลย จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าจ้างและเงินต่าง ๆ ตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ทั้งสามเป็นกรรมการลูกจ้างได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้าย วันละ 226 บาท 367 บาท และ 181 บาท ตามลำดับและยังมีสิทธิได้รับค่าครองชีพเบี้ยขยันและเบี้ยเลี้ยงตามระเบียบของจำเลยเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.3 โจทก์ทั้งสามทำงานอยู่ที่หน่วยงานท้ายบ้าน อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ต่อมาวันที่ 13 กันยายน 2542 จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งสามกับพวกรวม 72 คน ไปทำงานที่โครงการก่อสร้างเขื่อนและท่าเทียบเรือของจำเลยที่จังหวัดภูเก็ต ตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน 2542 โจทก์ทั้งสามทราบคำสั่งแล้วไม่ยอมเดินทางไปปฏิบัติงานที่จังหวัดภูเก็ต อ้างว่าครอบครัวของโจทก์ทั้งสามอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการ จำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ทั้งสาม ถึงวันที่ 16 กันยายน 2542 หลังจากนั้นไม่ได้จ่ายค่าจ้าง ค่าครองชีพ เบี้ยขยันและเบี้ยเลี้ยงให้โจทก์ทั้งสามอีก แล้ววินิจฉัยว่าเมื่อโจทก์ทั้งสามไม่ได้ทำงานให้จำเลย จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าจ้าง ค่าครองชีพ เบี้ยเลี้ยงและเบี้ยขยันให้โจทก์ทั้งสาม พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ว่าโจทก์ทั้งสามเป็นกรรมการลูกจ้าง เมื่อจำเลยยังมิได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งสาม ความเป็นนายจ้างลูกจ้างระหว่างจำเลยกับโจทก์ทั้งสามยังคงมีอยู่ จำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างตามฟ้องให้แก่โจทก์ทั้งสามจนกว่าความเป็นนายจ้างลูกจ้างจะสิ้นสุดลงนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5 บัญญัติว่า”สัญญาจ้าง หมายความว่า สัญญาไม่ว่าเป็นหนังสือหรือด้วยวาจาระบุชัดเจนหรือเป็นที่เข้าใจโดยปริยายซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่าลูกจ้างตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่านายจ้างและนายจ้างตกลงจะให้ค่าจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้” และ”ค่าจ้าง หมายความว่า เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนใน การทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน หรือระยะเวลาอื่น หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้าง ทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงานและให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาที่ลูกจ้างมิได้ทำงาน แต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัตินี้” ตามบทบัญญัติดังกล่าว หมายความว่า สัญญาจ้างแรงงานเป็นสัญญาต่างตอบแทนนายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานของลูกจ้างตลอดเวลาที่ลูกจ้างทำงานให้แก่นายจ้าง โจทก์ทั้งสามเป็นลูกจ้างรายวันมีสิทธิได้รับค่าจ้างเฉพาะวันที่มาทำงาน แม้ว่าสัญญาจ้างแรงงานระหว่างจำเลยกับโจทก์ทั้งสามยังไม่สิ้นสุดก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ทั้งสามมิได้ทำงานให้แก่จำเลยตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน 2542 เป็นต้นมา จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ทั้งสาม
พิพากษายืน