คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6827/2543

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่โจทก์แม้จะเป็นธนาคารพาณิชย์ แต่โจทก์ก็ได้ให้บริการประเภทบัตรเครดิตแก่สมาชิกซึ่งทำให้สมาชิกสามารถใช้บัตรเครดิตที่โจทก์ออกให้ไปชำระค่าสินค้าหรือบริการได้โดยไม่ต้องนำเงินสดไปชำระในทันทีมีลักษณะเป็นกิจการงานบริการอำนวยความสะดวกแก่สมาชิกโดยโจทก์เรียกเก็บค่าบริการและค่าธรรมเนียมรายปีด้วยถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้รับทำการงานต่าง ๆ เรียกเอาค่าที่ได้ออกเงินทดรองไปสิทธิเรียกร้องดังกล่าวจึงมีอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(7) จำเลยชำระหนี้ให้โจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2537 แล้วมิได้ชำระหนี้อีกเลยอันเป็นการรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ ทำให้ อายุความสะดุดหยุดลงและเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2537 แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 3 ตุลาคม 2540 พ้นกำหนด 2 ปี แล้ว สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงขาดอายุความ
กรณีที่โจทก์ให้จำเลยทำคำขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันและสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเฉพาะสินเชื่อธนวัฎบัตรเครดิตถือมิได้ว่า เป็นบัญชีเดินสะพัดเนื่องจากโจทก์ได้คิดค่าธรรมเนียมการใช้บัตรเป็นรายปี และค่าบริการในแต่ละคราว ย่อมมิใช่การกู้เบิกเงินเกินบัญชี
สินเชื่อบัตรเครดิตไม่ใช่การกู้ยืมเงิน แต่เป็นสัญญาที่ไม่มีชื่อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 296,508.11 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 166,634.70 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้นในเรื่องอายุความ

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยเฉพาะในปัญหาข้อกฎหมายว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า หนี้ตามฟ้องเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัด การให้สินเชื่อบัตรเครดิตเป็นธุรกิจสินเชื่อประเภทหนึ่งของธนาคารโจทก์ ไม่ใช่การที่โจทก์ประกอบธุรกิจในการดูแลกิจการของจำเลย จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 เห็นว่า โจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์จำเลยเป็นสมาชิกบัตรเครดิตของโจทก์ยอมผูกพันตามเงื่อนไขของผู้ถือบัตรตกลงให้โจทก์ทดรองจ่ายเงินอันเนื่องจากจำเลยใช้บัตรเครดิตไปชำระค่าสินค้าค่าบริการ หรือเบิกเงินสดล่วงหน้าโดยจำเลยยอมชำระคืนให้โจทก์ในภายหลัง โจทก์ได้ทดรองจ่ายเงินไปแล้วแต่จำเลยไม่ยอมชำระเงินแก่โจทก์ ดังนี้การที่โจทก์แม้จะเป็นธนาคารพาณิชย์แต่โจทก์ก็ได้ให้บริการประเภทบัตรเครดิตแก่สมาชิกซึ่งทำให้สมาชิกสามารถใช้บัตรเครดิตที่โจทก์ออกให้ไปชำระค่าสินค้าหรือบริการได้โดยไม่ต้องนำเงินสดไปชำระในทันทีมีลักษณะเป็นกิจการงานบริการอำนวยความสะดวกแก่สมาชิก ทั้งนี้ โดยโจทก์เรียกเก็บค่าบริการและค่าธรรมเนียมรายปีด้วย ถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้รับทำการงานต่าง ๆ เรียกเอาค่าที่ได้ออกเงินทดรองไป สิทธิเรียกร้องดังกล่าวจึงมีอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(7) มิใช่อายุความ 10 ปีปรากฏตามคำฟ้องโจทก์ว่า จำเลยชำระหนี้ให้โจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 7กุมภาพันธ์ 2537 แล้วมิได้ชำระหนี้อีกเลย อันเป็นการรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงและเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์2537 แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 3 ตุลาคม 2540 พ้นกำหนด 2 ปีแล้วสิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงขาดอายุความแล้ว กรณีที่โจทก์ให้จำเลยทำคำขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันและสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเฉพาะสินเชื่อธนวัฎบัตรเครดิต ก็ถือมิได้ว่าเป็นบัญชีเดินสะพัดเนื่องจากโจทก์ได้คิดค่าธรรมเนียมการใช้บัตรเป็นรายปีและค่าบริการในแต่ละคราวย่อมมิใช่การกู้เบิกเงินเกินบัญชีในอันที่โจทก์จะคิดดอกเบี้ยทบต้นได้ตามประเพณีการค้าของธนาคารพาณิชย์ ทั้งสินเชื่อบัตรเครดิตไม่ใช่การกู้ยืมเงินแต่เป็นสัญญาธรรมดาที่ไม่มีชื่อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็ตาม บุคคลอื่นก็ย่อมประกอบกิจการได้เช่นบัตรเครดิตที่ออกโดยเอกชนมิใช่ธนาคารพาณิชย์แต่เมื่อโจทก์รับเอากิจการดังกล่าวมาประกอบธุรกิจเช่นเอกชนโจทก์จะอ้างว่าโจทก์มิได้ประกอบธุรกิจในการดูแลกิจการแทนจำเลยได้อย่างไร”

พิพากษายืน

Share