คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6811/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามสัญญาประนีประนอมยอมความโจทก์ยังไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดิน เพียงแต่โจทก์อยู่ในฐานะจดทะเบียนสิทธิได้ก่อนผู้อื่นเท่านั้น ความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 จะต้องได้ความในเบื้องต้นเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ เมื่อที่ดินพิพาทยังเป็นของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 อยู่ โจทก์ไม่อาจอ้างได้ว่าโจทก์ถูกผู้อื่นยักยอกทรัพย์ได้และสิทธิดังกล่าวที่โจทก์มีอยู่ ไม่ใช่ทรัพย์ตามความหมายของ ป.อ. มาตรา 352 ซึ่งหมายถึงทรัพย์ที่มีรูปร่าง จึงไม่อาจถูกยักยอกได้ เมื่อทางนำสืบของโจทก์เองโจทก์มิเคยได้มอบหมายให้จำเลยที่ 5 นำสิทธิเรียกร้องของโจทก์ไปดำเนินการใดๆ เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 5 ไปดำเนินการโดยพลการ เงินที่ได้มาจึงมิใช่เงินที่จำเลยที่ 5 จะต้องส่งมอบให้แก่โจทก์ โจทก์มีแต่สิทธิที่จะบังคับให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความเท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งแปดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 90, 91, 341, 349, 350, 352, 353
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 8 ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นจำหน่ายคดีในส่วนของจำเลยที่ 8 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 5 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก จำคุก 3 ปี ทางนำสืบของจำเลยที่ 5 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก กับให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 และที่ 7
โจทก์และจำเลยที่ 5 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 5 ฐานยักยอกด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ขอให้เพิกถอนนิติกรรมและเรียกกรรมสิทธิ์ในที่ดินคืนต่อศาลชั้นต้น ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 แบ่งแยกโอนที่ดินพิพาท น.ส.3 ก. เลขที่ 2076 ตำบลเกาะยาว อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา จำนวน 6 ไร่ 2 งาน แก่โจทก์ ส่วนที่ดินอีก 11 ไร่ 2 งาน 61 ตารางวา ส่วนที่เหลือ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ตกลงขายให้โจทก์ โดยโจทก์จะชำระค่าที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ภายในกำหนด 3 เดือน ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ การฟ้องเพิกถอนนิติกรรม โจทก์ตั้งจำเลยที่ 5 เป็นทนายความ ต่อมาในระหว่างที่ยังไม่มีการจดทะเบียนแบ่งแยกและโอนที่ดินให้โจทก์ตามสัญญาซื้อขาย จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ได้นำที่ดินแปลงดังกล่าวไปจดทะเบียนให้จำเลยที่ 8 เช่า มีกำหนดระยะเวลา 30 ปี โดยมีจำเลยที่ 5 เป็นผู้ดำเนินการในการจดทะเบียนเช่า
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 5 มีความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก หรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญาประนีประนอมยอมความโจทก์ยังไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดิน เพียงแต่โจทก์อยู่ในฐานะจดทะเบียนสิทธิได้ก่อนผู้อื่นเท่านั้น ความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 จะต้องได้ความในเบื้องต้นเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ เมื่อที่ดินพิพาทยังเป็นของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 อยู่ โจทก์จึงไม่อาจอ้างได้ว่าโจทก์ถูกผู้อื่นยักยอกทรัพย์ได้และสิทธิดังกล่าวที่โจทก์มีอยู่ ไม่ใช่ทรัพย์ตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ซึ่งหมายถึงทรัพย์ที่มีรูปร่าง จึงไม่อาจถูกยักยอกได้เช่นกัน เมื่อตามทางนำสืบของโจทก์เองก็ได้ความว่า โจทก์มิเคยได้มอบหมายให้จำเลยที่ 5 นำสิทธิเรียกร้องของโจทก์ไปดำเนินการใดๆ เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 5 ไปดำเนินการโดยพลการ ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ได้วินิจฉัยไว้แล้ว เงินที่ได้มาจึงมิใช่เงินที่จำเลยที่ 5 จะต้องส่งมอบให้แก่โจทก์ โจทก์คงมีแต่สิทธิที่จะบังคับให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความเท่านั้น ศาลฎีกาไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share