แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 คำว่า “ผู้ใดออกเช็ค” มิได้หมายความว่าผู้ที่จะมีความผิดคือผู้ที่ออกเช็คเท่านั้น แต่อาจจะมีผู้ที่ร่วมกระทำความผิดด้วยกันกับผู้ออกเช็ค และถือว่าเป็นตัวการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองบังอาจร่วมกันออกเช็คให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ค่าซ่อมรถยนต์ โดยจำเลยที่ ๑ เป็นผู้สั่งจ่าย และจำเลยที่ ๒ เป็นผู้สลักหลัง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีโจทก์มีมูล ให้ประทับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณา
จำเลยที่ ๑ ไม่มาศาล ศาลชั้นต้นออกหมายจับจำเลยที่ ๑ และสั่งจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ ๑ ชั่วคราว
จำเลยที่ ๒ ให้การปฏิเสธ
ในวันนัดสืบพยานโจทก์ โจทก์และจำเลยที่ ๒ แถลงรับกันว่า จำเลยที่ ๒ เป็นผู้สลักหลังเช็คพิพาท ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยที่ ๒
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓ ใช้คำว่า “ผู้ใดออกเช็ค” ซึ่งหมายความเฉพาะผู้สั่งจ่ายเท่านั้นจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นเพียงผู้สลักหลังเช็คย่อมไม่มีความผิดตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายที่ว่า “ผู้สลักหลังเช็คมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓ หรือไม่”
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓ จะใช้คำว่าผู้ใดออกเช็ค แต่มิได้หมายความว่าผู้ที่จะมีความผิดตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวคือผู้ที่ออกเช็คเท่านั้น ส่วนผู้ที่ร่วมกระทำความผิดด้วยกันกับผู้ออกเช็คไม่มีความผิด อาจจะมีผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันกับผู้ออกเช็ค และถือว่าผู้ที่ร่วมกระทำความผิดด้วยกันกับผู้ออกเช็คเป็นตัวการเช่นเดียวกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองบังอาจร่วมกันออกเช็คให้แก่โจทก์ เพื่อชำระหนี้ค่าซ่อมรถยนต์ โดยจำเลยที่ ๑ เป็นผู้สั่งจ่ายและจำเลยที่ ๒ เป็นผู้สลักหลัง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ ซึ่งศาลชั้นต้นได้ไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีของโจทก์มีมูลและสั่งประทับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาแล้ว จึงต้องฟังพยานหลักฐานต่อไปว่า จำเลยทั้งสองได้กระทำความผิดตามโจทก์ฟ้องหรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งงดสืบพยานแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษายกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปความ