แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยไม่ได้เป็นผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 862 และตามตารางกรมธรรม์ประกันภัย อีกทั้งข้อยกเว้นที่จำเลยที่ 3ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัย ก็ไม่มีกรณีที่ลูกจ้างของผู้เอาประกันภัยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงรวมอยู่ด้วย จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือไม่ จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 2ผู้เป็นนายจ้างให้ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 82-5681 นครปฐมอันเป็นยานพาหนะเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลไปส่งดินให้แก่ลูกค้าเมื่อถึงที่หมายจำเลยที่ 1 ยกกระบะท้ายเทดินส่งมอบแก่ลูกค้าแล้วคงปล่อยกระบะท้ายคาไว้ ไม่ลดระดับลงเพื่อเก็บเข้าที่อันเป็นการกระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นจำเลยที่ 1 จักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวกลับมาตามถนนเพชรเกษมมุ่งหน้าไปทางหนองแขม กระบะท้ายซึ่งอยู่ในระดับสูงกว่าสะพานลอยคนเดินข้ามถนนหน้าวิทยาลัยเอเซียอาคเนย์ จึงชนสะพานลอยแห่งนั้นโดยแรงจนกระบะท้ายหลุดออกจากตัวรถยนต์บรรทุกเป็นเหตุให้สะพานลอยดังกล่าวได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 2ซึ่งเป็นนายจ้างและจำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวต้องร่วมกันรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหายจำนวน212,813.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 201,480 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ให้การว่า โจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของสะพานลอยที่เกิดเหตุ ในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 82-5681 นครปฐม ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงยกกระบะท้ายขึ้นสูงโดยมิได้ควบคุมลดระดับให้ต่ำลงหลังจากใช้งานแล้วจนเป็นเหตุให้กระบะท้ายชนกับสะพานลอยดังกล่าวจำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดในวินาศภัยที่เกิดขึ้น แม้จำเลยที่ 1จะกระทำในฐานะลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยก็ตามโจทก์เสียหายไม่เกิน 20,000 บาท โจทก์ไม่เคยทวงถามให้ชำระหนี้ตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามชำระค่าเสียหายจำนวน212,813.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 201,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายจำนวน 212,306.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 201,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า เหตุเกิดขึ้นเพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 879 นั้น บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าววรรคหนึ่งมีใจความว่าผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดในเมื่อวินาศภัยได้เกิดขึ้นเพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์และมาตรา 862 ได้บัญญัติไว้ว่า คำว่า “ผู้เอาประกันภัย” ท่านหมายความว่า คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลงจะส่งเบี้ยประกันภัย และคำว่า “ผู้รับประโยชน์”ท่านหมายความว่า บุคคลผู้จะพึงได้รับค่าสินไหมทดแทน หรือรับจำนวนเงินใช้ให้ตามสำเนาตารางกรมธรรม์เอกสารหมาย จ.31ระบุว่า สัญญาประกันภัยรายนี้ จำเลยที่ 2 เป็นผู้เอาประกันภัยและนายประสิทธิ์ ดีศิลปกิจเป็นผู้รับประโยชน์ จำเลยที่ 1ไม่ได้เป็นผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์และจะแปลความหมายของคำว่า ผู้เอาประกันภัยตามมาตรา 879 วรรคหนึ่ง รวมถึงลูกจ้างของผู้เอาประกันภัยด้วยก็ขัดกับคำนิยามของคำว่า ผู้เอาประกันภัยตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 862 และตามตารางกรมธรรม์ดังกล่าวปรากฏว่า มีข้อยกเว้นที่ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัยข้อ 2.3 คือความรับผิดเพื่อความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอกไว้หลายประการ แต่ไม่มีกรณีที่ลูกจ้างของผู้เอาประกันภัยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงรวมอยู่ด้วยจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือไม่ เพราะเมื่อไม่มีข้อยกเว้นที่จำเลยที่ 3ไม่ต้องรับผิดทั้งตามบทบัญญัติของกฎหมายและตามสัญญาประกันภัยจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามตารางกรมธรรม์ ฎีกาจำเลยที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน