คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 679/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยมีสัญชาติอิตาลี โจทก์จำเลยจดทะเบียนหย่ากัน และทำบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าว่า “ให้ที่ดินจำนวน 3 งาน พร้อมบ้านเลขที่ 245 หมู่ที่ 9 ตำบลหนองหว้า อำเภอเขาฉกรรจ์ จังหวัดสระแก้ว เป็นสินทรัพย์ของ ซ. (จำเลย) แต่เพียงผู้เดียว” เมื่อที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินซึ่งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน ซึ่งเป็นที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐที่ได้มาโดยผลของกฎหมาย เพื่อให้รัฐนำที่ดินดังกล่าวนี้จัดสรรให้แก่เกษตรกรซึ่งมีคุณสมบัติตามกฎหมายที่มีสิทธิจะได้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมอันเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 19 (7) และเกษตรกรผู้ได้รับการจัดสรรที่ดินนั้นจะทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิไปให้แก่บุคคลอื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรมหรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกร หรือ ส.ป.ก. เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามมาตรา 39 บันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงขัดต่อกฎหมายดังกล่าว อันเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 จำเลยไม่อาจได้ไปซึ่งที่ดินและบ้านพิพาทดังกล่าว แม้โจทก์จะมิได้บรรยายมาในฟ้อง แต่เป็นข้อกฎหมายที่สามารถยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์และฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 ประกอบมาตรา 247

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนบันทึกท้ายทะเบียนหย่าความว่า “หากฝ่ายชายประสงค์จะนำบุตรไปเล่าเรียนที่ประเทศอิตาลี เพื่ออนาคตของบุตรทั้งสอง ฝ่ายหญิงยินยอมทุกประการ และส่วนที่ดิน 3 งาน พร้อมบ้านเลขที่ 245 หมู่ที่ 9 จังหวัดสระแก้ว และรถยนต์ยี่ห้ออีซูซุ หมายเลขทะเบียน กข 5303 สระแก้ว เป็นทรัพย์สินส่วนตัวของ ซ. แต่เพียงผู้เดียว”
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ แต่เนื่องจากเป็นคดีเกี่ยวด้วยสิทธิในครอบครัวศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้สืบพยานหลักฐานโจทก์ไปฝ่ายเดียวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 198 ทวิ วรรคสอง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า ให้บันทึกท้ายทะเบียนการหย่า เฉพาะข้อความที่ว่า “ที่ดินจำนวน 3 งาน พร้อมบ้านเลขที่ 245 หมู่ที่ 9 จังหวัดสระแก้ว เป็นทรัพย์สินของ ซ. แต่เพียงผู้เดียว” ตกเป็นโมฆะ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยเป็นบุคคลสัญชาติอิตาลี เมื่อประมาณปี 2540 โจทก์และจำเลยอยู่กินฉันสามีภริยาและจดทะเบียนสมรสกันที่สำนักงานทะเบียนเขตบางรัก เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2553 มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือเด็กชาย ณ. อายุ 11 ปี และเด็กหญิง ส. อายุ 2 ปี เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2555 โจทก์และจำเลยจดทะเบียนหย่าที่สำนักทะเบียนอำเภอเขาฉกรรจ์ ในการหย่ามีบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับอำนาจปกครองและทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาด้วย
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า ใบบันทึกท้ายทะเบียนการหย่า เฉพาะข้อความที่ว่า “ที่ดินจำนวน 3 งาน พร้อมบ้านเลขที่ 245 หมู่ที่ 9 จังหวัดสระแก้ว เป็นทรัพย์สินของ ซ. (จำเลย) แต่เพียงผู้เดียว” เป็นข้อตกลงที่ขัดต่อกฎหมายตกเป็นโมฆะเพราะเป็นที่ดินที่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินหรือไม่ เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงว่า ที่ดินพิพาทจำนวน 3 งาน ซึ่งโจทก์จำเลยตกลงตามบันทึกท้ายทะเบียนการหย่า ยกให้แก่จำเลยนั้น เป็นที่ดินซึ่งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินตั้งแต่ปี 2537 จำเลยไม่ฎีกาโต้แย้งการฟังข้อเท็จจริงดังกล่าว กลับยอมรับว่าเป็นที่ดินที่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินจริง โดยฎีกาโต้แย้งว่านาย ข. บิดาโจทก์ เพียงแต่ยื่นคำขอรับการจัดที่ดินในเขตปฏิรูปจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจังหวัดสระแก้ว เท่านั้น ยังถือไม่ได้ว่า นาย ข. เป็นบุคคลที่ได้รับสิทธิให้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ทั้งความเป็นจริง จำเลยเป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทมาจากบุคคลภายนอกในราคา 300,000 บาท และปลูกสร้างบ้านในราคา 4,000,000 บาทเศษ ดังนั้น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินซึ่งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน ก่อนที่โจทก์จำเลยจะทำข้อตกลงในบันทึกท้ายทะเบียนหย่า ที่ดินซึ่งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินนั้นเป็นที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐที่ได้มาโดยผลของกฎหมายเพื่อให้รัฐนำที่ดินดังกล่าวนี้จัดสรรให้แก่เกษตรกรซึ่งมีคุณสมบัติตามกฎหมายที่มีสิทธิจะได้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมอันเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 19 (7) และเกษตรกรผู้ได้รับการจัดสรรที่ดินนั้น จะทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิไปให้แก่บุคคลอื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม หรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกรหรือ ส.ป.ก. เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 39 การทำบันทึกข้อตกลงของโจทก์จำเลยดังกล่าว จึงเป็นการตกลงยกที่ดินของรัฐซึ่งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินให้ตกแก่จำเลย ย่อมเป็นข้อตกลงที่ต้องห้ามตามกฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกรอันเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน การตกลงที่ขัดต่อกฎหมายดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ แม้โจทก์จะมิได้บรรยายมาในฟ้อง แต่เป็นข้อกฎหมายที่สามารถยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์และฎีกาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ประกอบมาตรา 247 คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share