แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำว่าผู้ได้รับอนุญาตขายสุรา ตามความในกฎหมายสุรา ในพระราชกฤษฎีกาควบคุมโภคภัณฑ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2495 มาตรา 4(1) หมายความรวมถึงผู้ที่ขายสุราได้โดยมีใบอนุญาตคุ้มครอง ณ สถานที่ที่ระบุไว้ในใบอนุญาตนั้นด้วย มิใช่จำกัดเฉพาะแต่ผู้ที่มีนามเป็นผู้ถือใบอนุญาตเท่านั้น
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 10/2502)
ย่อยาว
คดีได้ความตามฟ้องและคำรับสารภาพของจำเลยว่า จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นตัวแทนได้รับมอบหมายอำนาจจากนางจีระผู้ได้รับใบอนุญาตให้จำหน่ายสุรา ได้ขายสุรานอกเวลาให้แก่จำเลยที่ ๒ – ๓ อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชกฤษฎีกา ควบคุมโภคภัณฑ์ จำเลยที่ ๒ – ๓ ได้ดื่มสุรานั้นในร้านนอกเวลาดังกล่าว
ศาลชั้นต้นลงโทษปรับจำเลยที่ ๒ – ๓ ส่วนจำเลยที่ ๑ ศาลชั้นต้นเห็นว่า มิใช่เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ขายสุรา กฎหมายไม่ได้มุ่งหมายจะลงโทษแก่ผู้แทนของผู้ได้รับอนุญาตขายสุรา แม้จำเลยที่ ๑ รับสารภาพก็ลงโทษไม่ได้ ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ ๑
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ผู้ได้รับอนุญาตขายสุราตามความในกฎหมายสุรานั้น ไม่จำต้องทำการจำหน่ายสุราด้วยตนเอง คือ จะให้ตัวแทนหรือลูกจ้างจำหน่ายแทนก็ได้ ถือว่าตัวแทนหรือลูกจ้าง เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ขายสุราตามใบอนุญาตนั้นด้วย ผู้ได้รับอนุญาตให้ขายสุราตามความในพระราชกฤษฎีกาควบคุมโภคภัณฑ์ ก็ทำนองเดียวกัน พิพากษาแก้ว่า จำเลยที่ ๑ ผิดตาม พ.ร.บ. ควบคุมโภคภัณฑ์ พ.ศ. ๒๔๙๕ มาตรา ๙ พระราชกฤษฎีกาควบคุมโภคภัณฑ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๕ มาตรา ๔ กฎกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเศรษฐการ พ.ศ. ๒๔๙๕ (ลงวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๔๙๕) ปรับจำเลยที่ ๑ เมื่อลดรับกึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา ม.๗๘ แล้วคงเหลือ ๕๐ บาท
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่ เห็นว่าพระราชกฤษฎีกาควบคุมโภคภัณฑ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๕ มาตรา ๔(๑) คำว่าผู้ได้รับอนุญาตขายสุราตามความในกฎหมายสุราหมายความถึงผู้ที่ขายสุราได้โดยมีใบอนุญาตคุ้มครอง ณ สถานที่ที่ระบุไว้ในใบอนุญาตนั้นด้วย มิใช่จำกัดเฉพาะแต่ผู้ที่มีนามเป็นผู้ถือใบอนุญาตอยู่เท่านั้น จำเลยที่ ๑ เป็นตัวแทนได้รับมอบอำนาจให้เป็นผู้ขายสุราตามใบอนุญาตของนางจีระ จำเลยที่ ๑ จึงขายสุราได้โดยมีใบอนุญาตนั้นคุ้มครองอยู่ เมื่อจำเลยที่ ๑ ขายสุราก่อนเวลา ตามที่พระราชกฤษฎีกาควบคุมโภคภัณฑ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๕ มาตรา ๔ ห้ามไว้ จำเลยที่ ๑ ก็ต้องมีความผิดดังที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามา ศาลฎีกาพิพากษายืน