คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6788/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษปรับจำเลยที่ 1 หมายความว่าจำเลยที่ 1 ผู้ต้องคำพิพากษาศาลอุทธรณ์จะต้องนำค่าปรับมาชำระ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับแล้ว จำเลยที่ 1 ต้องถูกยึดทรัพย์สิน ใช้ค่าปรับหรือมิฉะนั้นต้องถูกกักขังแทนค่าปรับตาม ป.อ. มาตรา 29 วรรคหนึ่ง เดิม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้อง วิธีการยึดทรัพย์ใช้ค่าปรับหรือการกักขังแทนค่าปรับดังกล่าว เป็นวิธีที่จะกระทำเพื่อเป็นการชดใช้ค่าปรับซึ่งเป็นการบังคับคดีตามคำพิพากษาเท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่นำค่าปรับมาชำระตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว แม้จำเลยที่ 1 ต้องถูกกักขังแทนค่าปรับและในที่สุดศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 ก็ไม่มีเหตุที่ต้องจ่ายเงินค่าปรับที่จำเลยที่ 1 ต้องถูกกักขังแทนค่าปรับคืนให้แก่จำเลยที่ 1 ทั้งกรณีไม่อาจนำ ป.พ.พ. มาตรา 4 มาใช้บังคับกับคดีนี้ซึ่งเป็นคดีอาญาได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 จำคุก 4 ปี 8 เดือน และปรับ 266,666 บาท หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังแทนค่าปรับเกินกว่า 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี ต่อมาศาลชั้นต้นออกหมายจำคุกและกักขังจำเลยที่ 1 นับแต่วันที่ 2 กันยายน 2551 โดยหักวันต้องขังให้จำเลยที่ 1 มีกำหนด 524 วัน จำเลยที่ 1 ฎีกา ศาลฎีกาพิพากษากลับให้ยกฟ้อง โดยศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยที่ 1 ฟังในวันที่ 30 กันยายน 2556 และในวันเดียวกันศาลชั้นต้นออกหมายปล่อยจำเลยที่ 1
วันที่ 10 สิงหาคม 2558 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้คืนเงินค่าปรับตามจำนวนที่ถูกกักขังแทนค่าปรับแก่จำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งว่า กรณีไม่มีเหตุตามกฎหมายจะอนุญาตให้ได้ตามขอ ยกคำร้อง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า มีเหตุต้องจ่ายเงินค่าปรับคืนให้แก่จำเลยที่ 1 หรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า บทบัญญัติประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 30 แปลและอนุมานได้ว่า การที่รัฐโดยศาลสั่งให้ลงโทษปรับบุคคลใดเป็นการที่รัฐลงโทษบุคคลนั้นให้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายในทางทรัพย์สินและรัฐได้เงินจากบุคคลนั้น แต่กรณีที่รัฐไม่ได้เงินจากบุคคลที่ลงโทษปรับเพราะบุคคลนั้นถูกคุมขังในระหว่างการพิจารณาคดี เท่ากับได้มีการชำระเงินค่าปรับให้แก่รัฐแล้วโดยใช้อิสรภาพแลกกับการชำระเงินให้รัฐตามจำนวนวันที่ถูกกักขังแทนค่าปรับ จำเลยจึงมีสิทธิได้รับเงินค่าปรับคืนและสามารถนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 มาปรับใช้กับกรณีของจำเลยที่ 1 ได้ด้วยการเทียบเคียงบทกฎหมายนั้น เห็นว่า การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษปรับจำเลยที่ 1 หมายความว่าจำเลยที่ 1 ผู้ต้องคำพิพากษาศาลอุทธรณ์จะต้องนำค่าปรับมาชำระ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับแล้ว จำเลยที่ 1 ต้องถูกยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับหรือมิฉะนั้นต้องถูกกักขังแทนค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 วรรคหนึ่ง เดิม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้อง วิธีการยึดทรัพย์ใช้ค่าปรับหรือการกักขังแทนค่าปรับดังกล่าว เป็นวิธีที่จะกระทำเพื่อเป็นการชดใช้ค่าปรับซึ่งเป็นการบังคับคดีตามคำพิพากษาเท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่นำค่าปรับมาชำระตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว แม้จำเลยที่ 1 ต้องถูกกักขังแทนค่าปรับ ก็ไม่มีเหตุที่ต้องจ่ายเงินค่าปรับคืนให้แก่จำเลยที่ 1 ทั้งกรณีก็ไม่อาจนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 มาใช้บังคับกับคดีนี้ซึ่งเป็นคดีอาญาได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้ออื่นไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษานี้ จึงไม่จำต้องวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share