คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1538/2514

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การประชุมใหญ่ที่นัดเรียกหรือลงมติไปโดยฝ่าฝืนกฎหมายหรือฝ่าฝืนข้อบังคับของบริษัทหาเป็นโมฆะไม่ แต่กรรมการหรือผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดมีสิทธิที่จะขอให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่ที่ผิดระเบียบนั้นได้ ฉะนั้นตราบใดที่ศาลยังมิได้สั่งเพิกถอน มติของที่ประชุมใหญ่ดังกล่าวก็ต้องถือว่ายังใช้ได้อยู่
มาตรา 1166 เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการดำเนินกิจการภายในของบริษัท หรือความเกี่ยวพันระหว่างกรรมการของบริษัทกับบรรดาผู้ถือหุ้นทั้งหลาย และจะนำมาตรานี้มาใช้ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับบุคคลภายนอกหาได้ไม่

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยรวม ๑๔ คนว่าโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นของธนาคารไทยพัฒนา จำกัด ต่อมาได้มีการเพิ่มทุนของธนาคารจาก ๕๐ ล้านเป็น ๑๐๐ ล้านบาท ธนาคารจึงได้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ ๑/๒๕๑ เพื่อเลือกตั้งกรรมการใหม่ การประชุมดังกล่าวดำเนินไปโดยขัดต่อกฎหมายและขัดต่อข้อบังคับของธนาคาร กล่าวคือการบอกกล่าวเรียกประชุมให้เวลาล่วงหน้าไม่ครบกำหนดตามกฎหมาย การประชุมนี้จึงเป็นโมฆะและที่ประชุมได้มีมติเลือกตั้งจำเลยทั้ง ๑๔ คนนี้เป็นกรรมการของธนาคาร ฉะนั้นมติเลือกตั้งจำเลยเป็นกรรมการจึงไร้ผลไปด้วย โจทก์ได้ยื่นฟ้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมวิสามัญครั้งที่ ๑/๒๕๑๓ นั้นแล้ว ต่อมาจำเลยในฐานะกรรมการของธนาคารได้เรียกประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นครั้งที่ ๑/๒๕๑๓ เพื่อจะรับรองให้การประชุมวิสามัญครั้งที่ ๑/๒๕๑๓ อันไม่ชอบดังกล่าวให้เป็นผลขึ้น โจทก์ได้ทำหนังสือคัดค้านการเรียกประชุมแล้ว แต่จำเลยไม่เชื่อฟังจึงขอให้พิพากษาว่าการประชุมใหญ่สามัญครั้งที่ ๑/๒๕๑๓ นั้นเป็นโมฆะ และมติต่าง ๆ อันเกิดจากการประชุมครั้งนั้นตกเป็นอันไร้ผลไปด้วย
จำเลยให้การว่าการประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ ๑/๒๕๑๓ เพื่อเลือกตั้งกรรมการธนาคารชุดใหม่นั้นได้จัดทำโดยกรรมการธนาคารชุดเก่าโดยได้มีการพิมพ์โฆษณาคำบอกกล่าว เรียกประชุมในหนังสือพิมพ์ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว การประชุมดังกล่าวจึงไม่ไร้ผลและที่มีการประชุมครั้งนี้ก็เพื่อแก้ไขภาวะเสื่อมโทรมของธนาคาร ซึ่งกรรมการชุดเดิมทำไว้ ครั้นเมื่อกรรมการชุดใหม่เข้ามาดำเนินงานก็ได้ดำเนินงานไปในทางประหยัดตัดทอนค่าใช้จ่ายและเร่งรัดหนี้น่าจะเป็นผลดีแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น โจทก์ได้รับหนังสือนัดประชุมใหญ่วิสามัญแล้วไม่ไปประชุมกลับมาร้องคัดค้าน เห็นได้ว่าโจทก์อาจมีส่วนได้เสียกับลูกหนี้หรือผู้กระทำทุจริตต่อธนาคาร จึงได้พยายามขัดขวางการดำเนินงานของกรรมการชุดใหม่เพื่อประวิงเวลาไว้ด้วยเหตุนี้เองต่อมาจำเลยและกรรมการ ชุดใหม่ทั้งหมดจึงได้พร้อมใจกันลาออกจากตำแหน่ง และที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นสามัญครั้งที่ ๑/๒๕๑๓ ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ตั้งกรรมการชุดใหม่ และรับรองรายงานการประชุมใหญ่วิสามัญ ครั้งที่ ๑/๒๕๑๓ นั้นแล้ว เหตุที่โจทก์จะขอเพิกถอนจึงหมดไป หากการเรียกประชุมวิสามัญครั้งที่ ๑/๒๕๑๓ จะบอกกล่าวล่วงหน้าไม่ครบกำหนดเวลาตามกฎหมาย ก็หาทำให้มติการประชุมครั้งนั้นตกเป็นโมฆะไม่เพียงแต่เป็นข้อบกพร่องอยู่บ้างเท่านั้น ซึ่งการกระทำของกรรมการที่ผ่านมาย่อมใช้ได้สมบูรณ์อยู่เสมือนได้รับแต่งตั้งโดยถูกต้อง ฉะนั้น การจัดเรียกประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ ๑/๒๕๑๓ จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้โดยไม่ต้องสืบพยานและวินิจฉัยว่า มาตรา ๑๑๖๖ บัญญัติให้รับรองการกระทำของจำเลย เป็นอันสมบูรณ์เสมือนหนึ่งว่าได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการโดยถูกต้องแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยวินิจฉัยว่ามาตรา ๑๑๖๖ เป็นข้อยกเว้นซึ่งใช้เฉพาะกรณีที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก และศาลชั้นต้นยังมิได้ฟังข้อเท็จจริงในเรื่องนัดเรียกประชุมใหญ่ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานโจทก์และจำเลยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปความ
จำเลยฎีกา
ข้อเท็จจริงรับกันฟังได้ในเบื้องต้นว่า
๑. การเรียกประชุมผู้ถือหุ้นวิสามัญครั้งที่ ๑/๒๕๑๓ นั้น ได้กระทำไปโดยกรรมการธนาคารไทยพัฒนาจำกัดชุดเก่าที่ลาออกไปแล้ว
๒. ที่ประชุมผู้ถือหุ้นวิสามัญครั้งที่ ๑/๒๕๑๓ ได้มีมติให้ตั้งจำเลยทั้ง ๑๔ คน เป็นกรรมการชุดใหม่ของธนาคาร
๓. จำเลยทั้ง ๑๔ คนได้ลาออกจากกรรมการ และที่ประชุมผู้ถือหุ้นสามัญครั้งที่ ๑/๒๕๑๓ ได้มีมติเป็นเอกฉันท์แต่งตั้งจำเลย ๑๒ คนและบุคคลใหม่อีก ๑ คนเป็นกรรมการของธนาคาร
ปัญหาที่ว่าการประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ ๑/๒๕๑๓ จะได้มีการนัดเรียกหรือลงมติถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่ามาตรา ๑๑๙๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หาได้บัญญัติให้การประชุมใหญ่ที่นัดเรียกหรือลงมติไปโดยไม่ชอบนั้นเป็นโมฆะไม่ เพียงแต่ให้กรรมการหรือผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดขอให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมได้เท่านั้น ซึ่งตราบใดที่ศาลยังมิได้สั่งเพิกถอน มตินั้นก็ต้องถือว่ายังใช้ได้อยู่แม้การนัดเรียกประชุมใหญ่วิสามัญจะเป็นไปโดยไม่ชอบ ดังที่โจทก์อ้างในฟ้องเมื่อยังไม่มีการเพิกถอน มติของที่ประชุมนั้นก็ยังคงต้องถือว่าใช้ได้อยู่และมติที่แต่งตั้งจำเลยทั้ง ๑๔ คนเป็นกรรมการยังไม่เสียไป ฉะนั้นจำเลยจึงมีอำนาจเรียกประชุมใหญ่สามัญได้
ส่วนปัญหาที่ว่ามาตรา ๑๑๖๖ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จะใช้เฉพาะในกรณีที่เกี่ยวข้องกับบุคคลภายนอกเท่านั้น หรือในเรื่องกิจการภายในของธนาคารด้วย ศาลฎีกาเห็นว่ามาตรา ๑๑๖๖ หาได้มีข้อความใดที่บัญญัติไว้ว่าให้บังคับใช้แต่เฉพาะกรณีความเกี่ยวพันระหว่างกรรมการกับบุคคลภายนอกเท่านั้นไม่ตรงกันข้าม บทบัญญัติของกฎหมายในส่วนนี้ว่าด้วยวิธีจัดการบริษัทจำกัด ยังได้กล่าวถึงการแต่งตั้งและถอดถอนกรรมการ ตลอดจนหน้าที่ความรับผิดชอบและการกระทำต่าง ๆ ของกรรมการในการบริหารงานของบริษัทซึ่งเป็นเรื่องภายในระหว่างกรรมการกับบริษัทหรือบรรดาผู้ถือหุ้นทั้งหลาย ดังเช่นในเรื่องการเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่ก็เฉพาะกรรมการหรือผู้ถือหุ้นเท่านั้นที่จะร้องขอได้ บทบัญญัติของกฎหมายในส่วนนี้จึงวางไว้สำหรับเรื่องการดำเนินงานหรือความเกี่ยวพันระหว่างกรรมการของบริษัทกับผู้ถือหุ้นเป็นส่วนใหญ่ หากจะมีที่เกี่ยวข้องกับบุคคลภายนอกบ้างก็ได้บัญญัตยกเว้นไว้ในมาตรา ๑๑๖๗ แล้ว ฉะนั้นเมื่อมาตรา ๑๑๖๗ บัญญัติรับรองการกระทำของกรรมการหรือการแต่งตั้งกรรมการที่มีข้อบกพร่องว่าเป็นการกระทำหรือการแต่งตั้งที่สมบูรณ์ การที่จำเลยในฐานะกรรมการของธนาคารได้ทำการเรียกประชุมใหญ่สามัญครั้งที่ ๑/๒๕๑๓ จึงเป็นการกระทำที่สมบูรณ์ และการแต่งตั้งจำเลยเป็นกรรมการซึ่งโจทก์อ้างว่ามีข้อบกพร่องก็ต้องถือว่าสมบูรณ์ด้วย ทั้งไม่เป็นเหตุให้การเรียกประชุมใหญ่สามัญที่จำเลยได้กระทำไปนั้นเสียไป ตลอดจนมติต่ง ๆ ที่เกิดจากการประชุมดังกล่าวจึงหาเสียไปไม่ พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้บังคังคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share