คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6783/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ลูกจ้างคือผู้ซึ่งตกลงทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้างภายใต้การบังคับบัญชาของนายจ้างซึ่งต้องทำงานตามที่นายจ้างมอบหมายในวันเวลาทำงานที่นายจ้างกำหนด และต้องปฏิบัติตามคำสั่งระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของนายจ้าง หากฝ่าฝืนนายจ้างลงโทษได้ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5 มาตรา 119 และ ป.พ.พ. มาตรา 583 เมื่อโจทก์มีอำนาจเต็มในการบริหารกิจการและไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของบริษัทจำเลยที่ 1 โจทก์บริหารกิจการของจำเลยที่ 1 ไปตามที่เห็นสมควร เพียงแต่รายงานผลการทำงานให้กรรมการอื่นทราบเดือนละครั้ง ดังนี้โจทก์จึงไม่ใช่ลูกจ้างของบริษัทจำเลยที่ 1 แม้โจทก์จะทำงานให้บริษัทจำเลยที่ 1 ได้รับค่าตอบแทนเดือนละ 50,000 บาท ก็ตาม

ย่อยาว

คดีนี้เดิมศาลแรงงานภาค 8 พิจารณาพิพากษารวมกับคดีหมายเลขดำที่ 75/2547 ของศาลแรงงานภาค 8 แต่คดีดังกล่าวถึงที่สุดไปโดยคู่ความไม่ได้อุทธรณ์ คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จำนวน 50,000 บาท ค่าจ้างค้างชำระจำนวน 231,666.50 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 16,666.50 บาท ค่าชดเชยจำนวน 499,999.75 บาท และค่าเสียหายอันเกิดจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจำนวน 4,200,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 4,998,332.75 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 8 พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ลูกจ้างคือผู้ซึ่งตกลงทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้างภายใต้การบังคับบัญชาของนายจ้างซึ่งต้องทำงานตามที่นายจ้างมอบหมายในวันเวลาทำงานที่นายจ้างกำหนด และต้องปฏิบัติตามคำสั่งระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของนายจ้าง หากฝ่าฝืนนายจ้างลงโทษได้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5 มาตรา 119 และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 คดีนี้ศาลแรงงานภาค 8 รับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์มีอำนาจเต็มในการบริหารกิจการไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของบริษัทจำเลยที่ 1 โจทก์บริหารกิจการของจำเลยที่ 1 ไปตามที่เห็นสมควร เพียงแต่รายงานผลการทำงานให้กรรมการอื่นทราบเดือนละครั้ง แม้โจทก์จะทำงานให้บริษัทจำเลยที่ 1 ได้รับค่าตอบแทนเดือนละ 50,000 บาท แต่โจทก์ไม่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของบริษัทจำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่ลูกจ้างของบริษัทจำเลยที่ 1 ที่ศาลแรงงานภาค 8 พิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ส่วนประเด็นอื่นตามอุทธรณ์ของโจทก์ แม้วินิจฉัยไปก็ไม่ทำให้ผลแห่งคำพิพากษาของศาลฎีกาเปลี่ยนแปลง จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน.

Share