คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 678/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ผู้ตายกับโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นภรรยาร่วมกันทำกิจการโรงแรมมีเจตนาเป็นเจ้าของร่วมกัน เงินที่ใช้เป็นทุนปลูกสร้างโรงแรมจะเกิดจากฝ่ายใดหามาไม่สำคัญ ต้องถือว่าโรงแรมเป็นทรัพย์สินร่วมกันระหว่างผู้ตายกับโจทก์ที่ 1 เมื่อผู้ตายยินยอมให้ใช้ที่ดินดังกล่าวปลูกสร้างโรงแรมเพื่อทำกิจการค้าร่วมกันกับโจทก์ที่ 1โรงแรมจึงไม่เป็นส่วนควบกับที่ดินเข้าข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 109 จำเลยที่ 5 จดทะเบียนสมรสกับผู้ตาย แม้จำเลยที่ 5 จะเลิกร้างกับผู้ตายไปนานแล้ว แต่เมื่อไม่ได้จดทะเบียนหย่ากัน ทรัพย์ที่ผู้ตายได้มาระหว่างที่เป็นสามีภรรยากับจำเลยที่ 5 ย่อมเป็นสินสมรส เงินรายได้จากกิจการโรงแรมรวมทั้งร้านตัดผมที่ได้มาหลังจากที่ผู้ตายถึงแก่กรรมแล้ว มิใช่ทรัพย์มรดกของผู้ตายเพราะมิใช่ทรัพย์ที่มีอยู่ก่อนหรือในขณะที่ผู้ตายถึงแก่กรรม แต่เป็นดอกผลของโรงแรมตกได้แก่ผู้ที่เป็นเจ้าของโรงแรมตามสัดส่วนแห่งความเป็นเจ้าของโรงแรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 111และมาตรา 1360 และเมื่อเงินดังกล่าวมิใช่มรดกของผู้ตาย แม้ทายาทคนหนึ่งปิดบังหรือยักย้ายเงินส่วนนี้ ทายาทคนนั้นก็ไม่ถูกกำจัดมิให้รับมรดก

ย่อยาว

คดีทั้งสามสำนวน ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาและพิพากษาโดยเรียกโจทก์ทั้งห้าในสำนวนแรกว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 ตามลำดับ จำเลยที่ 1 ทั้งสามสำนวนว่าจำเลยที่ 1 โจทก์ทั้งสามในสำนวนที่สองว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 และโจทก์ในสำนวนที่สามว่าจำเลยที่ 5
สำนวนแรกโจทก์ฟ้องว่า นายวิบูลย์ อูนากูล เจ้ามรดกมีภรรยา 4 คน ได้แก่ (1) นางสอิ้ง อูนากูล มีบุตรด้วยกัน 4 คนคือ จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 นางสอิ้งได้ถึงแก่กรรมไปก่อนนายวิบูลย์ประมาณ 30 ปี (2) จำเลยที่ 5มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือนางสาวพรทิพย์ อูนากูล (3) โจทก์ที่ 1มีบุตรด้วยกัน 4 คน คือ โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 (4) นางสง่า อูนากูลมีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ นายอาษา อูนากูล โจทก์ที่ 1 ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับนายวิบูลย์ แต่ได้อยู่กินร่วมกันอย่างออกหน้าเป็นที่รู้จักกันทั่วไป และได้ร่วมกันทำมาหากินตั้งแต่ พ.ศ. 2485โดยร่วมกันซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 878 ต่อมาปี พ.ศ. 2491 ได้ร่วมกันก่อสร้างโรงแรมอูนากูล ในอาคารโรงแรมยังได้แบ่งส่วนให้เช่าทำร้านตัดผม ทรัพย์สินดังกล่าวจึงเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมของโจทก์ที่ 1กับนายวิบูลย์คนละกึ่งส่วนเท่ากัน ปัจจุบันที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีราคารวมประมาณ 20 ล้านบาท นอกจากนี้โจทก์ที่ 1 และนายวิบูลย์ยังมีกรรมสิทธิ์ร่วมในเงินฝากธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ จำกัดสาขาชลบุรี ซึ่งฝากในนามของนายวิบูลย์อีก 45,000 บาทนายวิบูลย์ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2526 และได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้โจทก์ที่ 1 และบุตรของนายวิบูลย์อีก 9 คน ทายาท นอกนั้นจึงถูกตัดมิให้รับมรดกโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นบุตรนอกกฎหมายที่ผู้ตายได้รับรองแล้วจึงเป็นทายาทและมีสิทธิได้รับมรดกตามพินัยกรรมคนละ 1 ส่วนโจทก์ที่ 5 และจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน ตามคำสั่งศาลโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 ประสงค์จะให้นำทรัพย์สินมาแบ่งกันจึงให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 จัดการแบ่งจำเลยที่ 1 เพิกเฉย จำเลยที่ 4 เป็นผู้ครอบครองและเก็บผลประโยชน์ของโรงแรมตั้งแต่ผู้ตายถึงแก่กรรมจนถึงปัจจุบัน ค่าเช่าโรงแรมและค่าเช่าร้านตัดผมเก็บได้เดือนละประมาณ 80,000 บาท คิดถึงวันฟ้องเป็นเงินทั้งสิ้น 880,000 บาท จำเลยที่ 4 นำเงินดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว โจทก์ได้ให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยที่ 4 ส่งมอบเงินรายได้ และสรรพเอกสารตลอดจนบัญชีรายรับรายจ่ายให้โจทก์ที่ 5 ในฐานะผู้จัดการมรดกแล้วก็เพิกเฉย ถือได้ว่าจำเลยที่ 4 มีเจตนาปิดบังยักย้ายทรัพย์มรดกเท่ากับส่วนที่ตนจะได้รับตามพินัยกรรมจึงต้องถูกกำจัดไม่ให้รับมรดก ขอให้กำจัดจำเลยที่ 4 ไม่ให้รับมรดกของผู้ตาย ให้จำเลยที่ 1 ร่วมกับโจทก์ที่ 5 จัดการแบ่งทรัพย์สินและทรัพย์มรดกของผู้ตายโดยนำที่ดินโฉนดเลขที่ 878 พร้อมอาคารโรงแรมอูนากูล ออกขายนำเงินมาแบ่งให้โจทก์ที่ 1 ครึ่งหนึ่งก่อน ส่วนที่เหลือเป็นทรัพย์มรดกให้จัดแบ่งแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และนางสาวพรทิพย์ อูนากูล รวม 9 คน คนละ 1 ส่วนเท่ากัน หากไม่อาจขายโดยวิธีธรรมดาได้ ก็ให้นำออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกันตามส่วนซึ่งโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 มีสิทธิได้รับอย่างต่ำเป็นเงิน15,555,555.55 บาท ให้จำเลยที่ 4 นำเงินรายได้ของโรงแรมนับแต่วันที่ผู้ตายถึงแก่กรรมจนถึงวันฟ้องเป็นเงินทั้งสิ้น 880,000 บาทมาแบ่งแก่ทายาทรวม 9 คน ซึ่งโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 จะได้รับเป็นเงินทั้งสิ้น 684,444.45 บาท ให้จำเลยที่ 1 และที่ 4 นำเงินค่าเช่าร้านตัดผมและเงินรายได้ของโรงแรมในอัตราเดือนละ 80,000บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปมาแบ่งให้แก่ทายาท 9 คน ตามสัดส่วนจนกว่าคดีจะถึงที่สุดหรือจนกว่าจะขายที่ดินและกิจการโรงแรมไปแล้วและให้จำเลยที่ 1 แบ่งเงินฝากธนาคารจำนวน 45,000 บาท ให้แก่ทายาท 9 คน ตามส่วน ซึ่งโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 มีสิทธิได้รับรวมเป็นเงิน 35,000 บาท
จำเลยที่ 1 และที่ 4 ให้การว่า จำเลยทั้งสองเป็นบุตรของนางสอิ้งอันเกิดกับวิบูลย์ ผู้ตาย บิดามารดาอยู่กินกันเมื่อประมาณ พ.ศ. 2477 และเป็นสามีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมาย ที่ดินโฉนดที่ 878 บิดามารดาได้ซื้อมาเมื่อ พ.ศ. 2486 จึงเป็นสินสมรสเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2487 บิดามารดาได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินนี้ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ต่อมา พ.ศ. 2487 นางสอิ้งถึงแก่กรรมที่ดินแปลงนี้จึงต้องแบ่งเป็น 2 ส่วน ตกได้แก่ผู้ตาย 1 ส่วน และนางสอิ้ง 1 ส่วน ส่วนของนางสอิ้งตกได้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4ตามพินัยกรรม ส่วนของผู้ตายตกแก่ทายาททุกคน หลังจากนางสอิ้งถึงแก่กรรมแล้ว ผู้ตายได้จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 5 เมื่อพ.ศ. 2487 หลังจากนั้นได้ก่อสร้างโรงแรมอูนากูลลงในที่ดินแปลงดังกล่าว โรงแรมจึงเป็นสินสมรสระหว่างผู้ตายกับจำเลยที่ 5กึ่งหนึ่ง อีกกึ่งหนึ่งเป็นของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เมื่อผู้ตายถึงแก่กรรมต้องแบ่งสินสมรสระหว่างผู้ตายกับจำเลยที่ 5 ก่อนปรากฏว่าทั้งสองฝ่ายต่างมีสินเดิมมาก่อน การแบ่งโรงแรมจึงต้องแบ่งเป็น 4 ส่วน ผู้ตายได้ 1 ส่วน จำเลยที่ 5 ได้ 1 ส่วน อีก2 ส่วนเป็นของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ดังนั้นมรดกของผู้ตายจึงมีเพียง1 ใน 4 ส่วนเท่านั้น สำหรับเงินสดจำนวน 45,000 บาท ในธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ จำกัด สาขาชลบุรี เป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่ 5 กับผู้ตายแบ่งเป็น 2 ส่วน จำเลยที่ 5 ได้ 1 ส่วนเป็นเงิน 22,500 บาท ส่วนของผู้ตายเป็นมรดกตกแก่ทายาท 10 คนคนละ 1 ส่วนเท่ากันตามพินัยกรรม ในการก่อสร้างและดำเนินกิจการโรงแรมอูนากูล โจทก์ที่ 1 ไม่เคยร่วมทุนและไม่เคยมาช่วยทำกิจการจึงไม่มีสิทธิในที่ดินและโรงแรม จำเลยที่ 4 ไม่เคยนำรายได้จากกิจการโรงแรมไปใช้เป็นส่วนตัว แต่ได้ทำบัญชีรายรับรายจ่ายและเก็บรักษาเงินไว้ เพื่อส่งมอบให้แก่ทายาทของผู้ตายต่อไปจำเลยที่ 4 ไม่เคยรับหนังสือทวงถามจากโจทก์ การที่จำเลยที่ 4ไม่ยอมส่งมอบบัญชีและรายได้ให้โจทก์ที่ 5 นั้น ก็ไม่เป็นการยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดก จึงไม่ถูกกำจัดไม่ให้รับมรดก รายได้กิจการโรงแรมและค่าเช่าร้านตัดผมเดือนละ 70,200 บาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วเหลือเดือนละ 10,000 บาท แม้จะฟังว่าจำเลยที่ 4ปิดบังหรือยักย้ายทรัพย์มรดก ก็ไม่เกินส่วนที่จำเลยที่ 4มีสิทธิได้รับ จึงไม่ถูกกำจัดไม่ให้รับมรดก
สำนวนที่สองจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นโจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสามดังกล่าวและจำเลยที่ 1 เป็นบุตรของผู้ตายอันเกิดจากนางสอิ้ง จำเลยที่ 1 และโจทก์ที่ 5 เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล ผู้ตายและนางสอิ้งเป็นสามีภรรยากันเมื่อประมาณพ.ศ. 2477 อยู่ร่วมกันจนนางสอิ้งตายเมื่อ พ.ศ. 2487 ผู้ตายและนางสอิ้งได้ซื้อที่ดินโฉนดที่ 878 เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2486โดยใส่ชื่อผู้ตายเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ จึงเป็นสินสมรสของผู้ตายและนางสอิ้ง ต่อมาเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2487 นางสอิ้งได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินแปลงดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 คนละ 1 ส่วนเท่า ๆ กัน หลังจากนางสอิ้งตายแล้วผู้ตายก็ครอบครองที่ดินส่วนของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 แทนตลอดมาและได้เอาไปจำนองธนาคารเอาเงินมาก่อสร้างโรงแรมอูนากูลซึ่งเป็นการดำเนินการแทนจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ทำให้จำเลยที่ 1ถึงที่ 4 มีส่วนเป็นเจ้าของอาคารและกิจการโรงแรมอยู่คนละ 1ใน 8 ส่วน ต่อมาผู้ตายถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2526หลังจากนั้นโรงแรมมีรายได้เป็นกำไรสุทธิเดือนละ 10,000 บาทนับถึงวันฟ้องเป็นเงิน 112,666.66 บาท ซึ่งเป็นส่วนของจำเลยที่ 2ที่ 3 และที่ 4 คนละ 1 ใน 8 ส่วน ขอให้จำเลยที่ 1 และโจทก์ที่ 5ในฐานะผู้จัดการมรดกโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างและกิจการโรงแรมให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 คนละ 1 ใน 8 ส่วนของกรรมสิทธิ์ทั้งหมด หากจำเลยที่ 1 และโจทก์ที่ 5 เพิกเฉยก็ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยที่ 1 และโจทก์ที่ 5 และให้จำเลยที่ 1 และโจทก์ที่ 5 ชำระเงินให้จำเลยที่ 2ที่ 3 และที่ 4 คนละ 14,083.33 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จกับให้จำเลยที่ 1 และโจทก์ที่ 5 จ่ายเงินรายได้โรงแรมอูนากูลให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ 3และที่ 4 คนละ 1,250 บาทต่อเดือน นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4
จำเลยที่ 1 ให้การรับตามฟ้อง
โจทก์ที่ 5 ให้การว่า จำเลยที่ 4 ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะถูกกำจัดมิให้รับมรดก ที่ดินตามฟ้องเป็นทรัพย์สินที่ผู้ตายกับนางสอิ้งทำมาหาได้ด้วยกัน ผู้ตายได้โจทก์ที่ 1 ก่อนที่นางสอิ้งจะตายที่ดินพิพาทได้มาก่อนนางสอิ้งตาย พินัยกรรมของนางสอิ้งปลอมผู้ตายทำพินัยกรรมฉบับใหม่แล้วเพิกถอนฉบับเดิม ผู้ตายมิได้ถือกรรมสิทธิ์แทนจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 โรงแรมมีกำไรไม่ต่ำกว่าเดือนละ 20,000 บาท
สำนวนที่สาม จำเลยที่ 5 เป็นโจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 5กับผู้ตายเป็นสามีภรรยากันโดยจดทะเบียนสมรสเมื่อ พ.ศ. 2487ต่างมีสินเดิมมาด้วยกัน มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือนางสาวพรทิพย์อูนากูล จำเลยที่ 5 ได้ร่วมกับผู้ตายปลูกสร้างอาคารโรงแรมอูนากูลลงในที่ดินพิพาท และดำเนินกิจการโรงแรมตลอดมาจนผู้ตายถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2526 อาคารโรงแรมเป็นสินสมรสเงินฝากของผู้ตายที่ธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ จำกัด สาขาชลบุรีจำนวน 45,000 บาท ก็เป็นสินสมรส จำเลยที่ 5 มีสิทธิในสินสมรสกึ่งหนึ่ง ตั้งแต่ผู้ตายถึงแก่กรรมโรงแรมมีรายได้กำไรสุทธิเดือนละ10,000 บาท นับถึงวันฟ้องเป็นเงิน 111,666.66 บาท จำเลยที่ 5มีส่วนกึ่งหนึ่งเป็นเงิน 55,833.55 บาท (ที่ถูกน่าจะเป็น55,833.33 บาท) และจำเลยที่ 5 มีสิทธิในกิจการโรงแรมอีกเดือนละ5,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จำเลยที่ 5 ได้บอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 และโจทก์ที่ 5 ในฐานะผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าวข้างต้นให้จำเลยที่ 5 แล้วจำเลยที่ 1 และโจทก์ที่ 5 เพิกเฉย ขอให้จำเลยที่ 1 และโจทก์ที่ 5จัดการลงชื่อจำเลยที่ 5 เป็นเจ้าของร่วมกึ่งหนึ่งในอาคารโรงแรมและกิจการของโรงแรม หากจำเลยที่ 1 และโจทก์ที่ 5 เพิกเฉยก็ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยที่ 1 และโจทก์ที่ 5 และให้จำเลยที่ 1 และโจทก์ที่ 5 แบ่งเงิน 22,500 บาทที่ฝากธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ จำกัด สาขาชลบุรี ให้จำเลยที่ 5 ตามสิทธิที่มีอยู่กึ่งหนึ่งกับให้แบ่งเงินรายได้จากกิจการโรงแรม 8,333.33 บาท และต่อไปอีกเดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้จำเลยที่ 5 เสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การรับตามฟ้องโจทก์
โจทก์ที่ 5 ให้การว่า อาคารโรงแรมและเงินฝากธนาคารจำนวน45,000 บาท ไม่ใช่สินสมรสของจำเลยที่ 5 กับผู้ตาย เพราะก่อนนางสอิ้งภรรยาคนแรกของผู้ตายถึงแก่กรรมประมาณ 2 ปี ผู้ตายได้ร่วมอยู่กินกับโจทก์ที่ 1 ฉันสามีภรรยาเรื่อยมาตั้งแต่พ.ศ. 2485 ตลอดมาจนผู้ตายถึงแก่กรรมมีบุตรกับโจทก์ที่ 1 รวม4 คน คือโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 จำเลยที่ 5 เพิ่งจดทะเบียนสมรสกับผู้ตายเมื่อปี พ.ศ. 2487 หลังจากนั้นประมาณ 2-3 เดือน จำเลยที่ 5จงใจทิ้งร้างผู้ตายไป จวบ จนผู้ตายถึงแก่กรรมเป็นเวลานานถึง 39 ปีแม้หลังผู้ตายถึงแก่กรรม จำเลยที่ 5 ก็ไม่เคยมาในงานศพของผู้ตายส่วนโจทก์ที่ 1 กับผู้ตายได้ร่วมประกอบอาชีพด้วยกันโดยในปีพ.ศ. 2491 ได้ร่วมกันสร้างอาคารโรงแรมเป็นเรือนไม้ลงในที่ดินพิพาทต่อมาปี พ.ศ. 2508 ได้ร่วมกันสร้างอาคารเป็นตึก 4 ชั้น แทนเรือนไม้หลังเก่า จำเลยที่ 5 ไม่เคยเข้ามายุ่งเกี่ยวหรือร่วมประกอบกิจการโรงแรม มีแต่โจทก์ที่ 1 กับผู้ตายร่วมกันทำมาหาได้มาตลอดจึงไม่ใช่เป็นสินสมรสของจำเลยที่ 5 กับผู้ตาย หากแต่เป็นทรัพย์กรรมสิทธิ์ร่วมของโจทก์ที่ 1 กับผู้ตาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์ที่ 1 มีส่วนเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท1 ใน 15 ส่วนของที่ดิน เป็นเจ้าของอาคารโรงแรม 21 ใน 40ส่วนของอาคารโรงแรม เป็นเจ้าของเงินฝากในธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การจำกัด สาขาชลบุรี กึ่งหนึ่งของเงินในบัญชี และเป็นเจ้าของรายได้จากกิจการโรงแรมหลังจากผู้ตายถึงแก่กรรม 21 ใน 40 ส่วนของรายได้สุทธิที่รับมา โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทคนละ 1 ใน 15 ส่วนของที่ดิน มีส่วนเป็นเจ้าของอาคารโรงแรมคนละ1 ใน 40 ส่วนของอาคารโรงแรม เป็นเจ้าของเงินฝากธนาคารคนละ1 ใน 44 ส่วนของเงินที่มีอยู่ในบัญชี เป็นเจ้าของรายได้จากกิจการโรงแรมหลังจากผู้ตายถึงแก่กรรมคนละ 1 ใน 40 ส่วนของรายได้สุทธิที่รับมา จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทคนละ3 ใน 20 ส่วนของที่ดิน เป็นเจ้าของอาคารโรงแรมคนละ 1 ใน 40 ส่วนของอาคารโรงแรม เป็นเจ้าของเงินฝากธนาคารคนละ 1 ใน 44 ส่วนของเงินที่มีอยู่ในบัญชี และเป็นเจ้าของรายได้จากกิจการโรงแรมหลังจากผู้ตายถึงแก่กรรมคนละ 1 ใน 40 ส่วนของรายได้สุทธิที่รับมาจำเลยที่ 5 มีส่วนเป็นเจ้าของอาคารโรงแรม 1 ใน 4 ของอาคารโรงแรมเป็นเจ้าของเงินฝากธนาคาร 1 ใน 4 ส่วนของเงินที่มีอยู่ในบัญชีและเป็นเจ้าของรายได้จากกิจการโรงแรมหลังจากผู้ตายถึงแก่กรรม1 ใน 4 ส่วนของรายได้สุทธิที่รับมา ให้จำเลยที่ 1 และโจทก์ที่ 5ในฐานะผู้จัดการมรดกจัดการขายที่ดินและอาคารโรงแรมดังกล่าวโดยประมูลราคากันเองในระหว่างผู้เป็นเจ้าของก่อน ถ้าไม่เป็นผลก็ให้เอาออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาแบ่งกันตามสัดส่วนแห่งความเป็นเจ้าของ (ถ้าขายที่ดินและโรงแรมพร้อมกันไปได้เงินมาเท่าใด ก็ให้คิดเป็นอัตราส่วนระหว่างที่ดินกับโรงแรม โดยถืออัตราส่วน 1 ต่อ 16 หรือ เศษ 1 ส่วน 17 ต่อ เศษ 16 ส่วน 17)ให้ผู้จัดการมรดกไปเบิกเงินจากธนาคารแล้วแบ่งให้โจทก์จำเลยตามอัตราส่วนที่มีสิทธิ ให้จำเลยที่ 4 จัดการส่งมอบเงินรายได้สุทธิจากกิจการโรงแรม (รวมร้านตัดผม) ที่ได้รับมาทั้งหมดนับตั้งแต่ผู้ตายถึงแก่กรรมจนถึงวันที่ศาลพิพากษาคดีนี้ (ซึ่งฟังว่ามีรายได้สุทธิเดือนละ 25,000 บาท) ให้แก่โจทก์และจำเลยตามสัดส่วนที่มีสิทธิ และในการจัดการส่งมอบรายได้ดังว่านั้นซึ่งจะได้รับในอนาคต (หลังศาลพิพากษาคดีแล้ว) ให้โจทก์และจำเลยตามสัดส่วนที่มีสิทธิ จนกว่าจำเลยที่ 4 จะพ้นจากหน้าที่ผู้เก็บรักษาเงินถ้าจำเลยที่ 4 พ้นหน้าที่ไปแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1และโจทก์ที่ 5 ในฐานะผู้จัดการมรดกจะจัดการต่อไป คำขอของโจทก์จำเลยยิ่งกว่านี้ให้ยกเสีย จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายแบ่งทรัพย์สินที่พิพาทให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 และจำเลยที่ 2ถึงที่ 5 (ที่ไม่ระบุส่วนของจำเลยที่ 1 เพราะจำเลยที่ 1 มิได้ฟ้องแย้ง) ดังนี้
1. ที่ดินพิพาทแบ่งให้โจทก์ทั้งห้าคนละ เศษ 4 ส่วน 60 ส่วนและให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 คนละ เศษ 9 ส่วน 60 ของที่ดินพิพาททั้งหมด
2. อาคารโรงแรมทั้งหมดแบ่งให้จำเลยที่ 5 กึ่งหนึ่งส่วนที่เหลืออีกกึ่งหนึ่งแบ่งให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 คนละ เศษ 1 ส่วน 10 ของอาคารส่วนที่เหลือกึ่งหนึ่งดังกล่าว
3. เงินรายได้จากกิจการโรงแรม (รวมรายได้จากร้านตัดผม)หลังจากผู้ตายถึงแก่กรรมถึงวันฟ้องเป็นเงิน 165,000 บาท แบ่งให้จำเลยที่ 5 เศษ 13 ส่วน 22 ส่วน แบ่งให้โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 คนละ เศษ 2 ส่วน 22 ส่วนของเงินดังกล่าวส่วนเงินได้สุทธิจากกิจการโรงแรมหลังฟ้อง ซึ่งไม่อาจคาดคะเนได้ถูกต้องตามความเป็นจริงได้เพราะรายรับรายจ่ายแต่ละเดือนไม่เท่ากันเสมอไป จึงให้จำเลยที่ 1 แสดงรายรับรายจ่ายตามความเป็นจริงต่อทายาทผู้มีสิทธิ เมื่อตรวจสอบถูกต้องแล้วได้เงินสุทธิเท่าใด ก็ให้แบ่งไปตามสิทธิของทายาทแต่ละคนตามหลักเกณฑ์ข้างต้นเรื่อย ๆ ไปจนกว่าจะเลิกหรือโอนกิจการไป
4. เงินฝากในบัญชีธนาคารจำนวนเงินต้น 45,000 บาท ให้แบ่งแก่จำเลยที่ 5 จำนวน เศษ 13 ส่วน 22 ส่วน โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 คนละ เศษ 2 ส่วน 22 ส่วน ของเงินต้นทั้งหมดส่วนดอกเบี้ยที่เกิดจากเงินต้นดังกล่าวเป็นจำนวนเท่าใดให้นำมาแบ่งแก่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ตามส่วนที่ตนจะได้ดังกล่าวข้างต้น
ที่ดินพิพาทและอาคารโรงแรมพิพาทตามข้อ 1 และข้อ 2 ให้ทายาทผู้เป็นเจ้าของร่วมตกลงแบ่งกันเอง ถ้าไม่สามารถแบ่งได้ก็ให้ประมูลขายกันเองก่อน หากยังตกลงแบ่งกันไม่ได้อีก ก็ให้นำออกขายหรือขายทอดตลาดแล้วนำเงินที่ขายได้มาแบ่งให้แก่ผู้มีสิทธิตามส่วนดังกล่าวข้างต้น โจทก์ทั้งห้าฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่คู่ความนำสืบรับกันว่า นายวิบูลย์ผู้ตายมีภรรยา 4 คน คือ นางสอิ้งจำเลยที่ 5 โจทก์ที่ 1 และนางสง่า ผู้ตายมีบุตรกับภรรยาทั้งสี่ดังกล่าวดังนี้คือ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นบุตรเกิดกับนางสอิ้งนางสาวพรทิพย์เกิดกับจำเลยที่ 5 โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 เกิดกับโจทก์ที่ 1 และนายอาษาเกิดกับนางสง่า ภรรยาของผู้ตายทั้งหมดคงมีจำเลยที่ 5 คนเดียวได้จดทะเบียนสมรสกับผู้ตาย นอกนั้นไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน นางสอิ้งมารดาจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ถึงแก่กรรมไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2487 จำเลยที่ 5 กับนางสง่าแยกทางกับผู้ตายก่อนผู้ตายถึงแก่กรรมหลายปี คงมีโจทก์ที่ 1 อยู่กินกับผู้ตายตลอดมา ทรัพย์สินที่พิพาทมีที่ดินโฉนดที่ 878 พร้อมด้วยอาคารโรงแรมอูนากูล ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินนี้ รายได้ของกิจการโรงแรมดังกล่าวตั้งแต่ผู้ตายถึงแก่กรรมตลอดมาและเงินฝากในบัญชีที่ธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ จำกัด สาขาชลบุรี จำนวน 45,000บาท จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามคำพิพากษาของศาลฎีกา เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2487 ผู้ตายกับนางสอิ้งได้ร่วมกันทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และต่อมาผู้ตายได้ทำพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 1 มกราคม 2522 ยกที่ดินพิพาทพร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินนี้ให้แก่ทายาท 10 คน ซึ่งมีโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 และจำเลยที่ 1ถึงที่ 4 รวมอยู่ด้วย เฉพาะที่ดินโฉนดเลขที่ 878 นั้น คดีได้ถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วว่าเป็นทรัพย์สินที่ผู้ตายกับนางสอิ้งทำมาหาได้ด้วยกันอันเป็นสินสมรส โจทก์ที่ 1ไม่มีส่วนทำมาหาได้ด้วย และคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้วว่าการแบ่งสินสมรสระหว่างผู้ตายกับนางสอิ้งที่อยู่กินก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 พ.ศ. 2477 ต้องบังคับไปตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย ผู้ตายกับนางสอิ้งต่างไม่มีสินเดิมด้วยกัน ที่ดินโฉนดที่ 878 ผู้ตายได้ส่วนแบ่ง 2 ส่วนนางสอิ้งได้ 1 ส่วน
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ทั้งห้าว่า โรงแรมอูนากูลเงินฝากธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ จำกัด สาขาชลบุรี ที่โจทก์อ้างว่ามีประมาณ 45,000 บาท และเงินรายได้จากกิจการโรงแรมซึ่งได้มาหลังจากผู้ตายถึงแก่กรรมโจทก์ที่ 1 มีส่วนทำมาหาได้กับผู้ตายหรือไม่ โจทก์นำสืบได้ความว่า โจทก์ที่ 1 ได้มาอยู่กินกับผู้ตายฉันสามีภรรยาตั้งแต่ผู้ตายมีอาชีพทำประมง โจทก์ที่ 1ร่วมกับผู้ตายทำมาหากินด้วยกันโดยช่วยทำอวนรัง ทำโป๊ะ ร่วมทำกิจการเดินรถยนต์ โดยสารประจำทางและเก็บหอมรอมริบเงินที่ได้จากการทำอวน ทำโป๊ะ มาร่วมกันสร้างอาคารโรงแรมเป็นเรือนไม้ก่อนต่อมารื้อแล้วสร้างเป็นตึกแถวคอนกรีตใหม่ตามที่เป็นอยู่ในปัจจุบันทั้งได้ช่วยดูแลกิจการโรงแรมด้วย กล่าวคือช่วยต้อนรับแขกเก็บเงินจากแขกที่มาพัก ช่วยเย็บปลอกหมอน เย็บที่นอน ฝ่ายจำเลยนำสืบโต้แย้งว่าโจทก์ที่ 1 เข้ามาสู่ครอบครัวของผู้ตายในฐานะคนรับใช้ก่อนหลังจากนางสอิ้งมารดาจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ถึงแก่กรรม โจทก์ที่ 1ทำหน้าที่เลี้ยงดูจำเลยที่ 4 ซึ่งขณะนั้นเพิ่งคลอดไม่นาน ต่อมาผู้ตายจดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 5 หลังจากนั้นผู้ตายจึงได้เสียกับโจทก์ที่ 1 ทำให้จำเลยที่ 5 โกรธจึงแยกทางไปจากผู้ตาย ผู้ตายประกอบอาชีพการประมงทำกิจการรถโดยสารประจำทางและกิจการโรงแรมด้วยตนเองทั้งสิ้น เป็นผู้ลงทุนเอง โจทก์ที่ 1 ไม่ได้ร่วมลงทุนด้วยเพราะเป็นคนยากจนมาก่อน เข้ามาในครอบครัวของผู้ตายก็ในฐานะคนรับใช้ ทำหน้าที่เลี้ยงดูเด็กในบ้านหรือทำหน้าที่แม่บ้านเท่านั้นแม้ขณะผู้ตายปลูกสร้างอาคารโรงแรมและดำเนินกิจการโรงแรมนั้นผู้ตายจัดการดำเนินการเองทั้งสิ้น โจทก์ที่ 1 มาช่วยงานของโรงแรมบ้าง ก็เป็นการทำตามคำสั่งของผู้ตาย เช่นเอาเสื้อผ้าของโรงแรมไปให้ลูกจ้างที่บ้านซัก ช่วยดูแลผ้าปูที่นอนและปลอกหมอนของโรงแรมและช่วยทำความสะอาดโรงแรม
พิเคราะห์แล้ว ปัญหาเกี่ยวกับตัวโรงแรมได้ความจากการนำสืบของโจทก์ว่า โรงแรมสร้างเป็นเรือนไม้ก่อนเมื่อปี พ.ศ. 2491โดยมีชั้นเดียว แล้วต่อมาต่อเติมเป็นสองชั้น และในปี พ.ศ. 2508จึงเปลี่ยนมาเป็นตึกเสริมเหล็กสี่ชั้น ด้านหน้าติดถนนเจตน์ จำนงค์ชั้นล่างมีทางเข้าตรงกลาง ด้านขวาทั้งแถบจำเลยที่ 2 เปิดเป็นคลีนิควรรณะการแพทย์ ด้านซ้ายเป็นที่ทำการสำหรับต้อนรับแขกและริมซ้ายสุดกั้นเป็นห้องตัดผมให้คนเช่า และได้ความจากการนำสืบของฝ่ายจำเลยว่าโจทก์ที่ 1 ได้มาช่วยงานที่โรงแรมดูแลรักษาความสะอาด ซักผ้าปูที่นอนปลอกหมอนและเตรียมอาหารจากบ้านมาเลี้ยงดูพนักงานของโรงแรม ประกอบกับได้ความจากภาพถ่ายความเป็นไปในครอบครัวของผู้ตาย เช่น รูปหมู่ที่ถ่ายพร้อมหน้ากัน ภาพถ่ายตอนที่จำเลยที่ 2 รับปริญญา ทำพิธีแต่งงานจำเลยที่ 3 ทำพิธีแต่งงานก็มีโจทก์ที่ 1 ร่วมด้วยทุกครั้ง แสดงให้ปรากฏแก่คนทั่วไปว่าเป็นมารดาของบุตรทุกคนของผู้ตาย ตอนที่ทำพิธีสงฆ์เปิดโรงแรมตึกสี่ชั้น โจทก์ที่ 1 ก็แสดงตนเป็นเจ้าของกิจการร่วมกับผู้ตายทั้งโจทก์ที่ 1 ก็ทำบุญร่วมกับผู้ตายอย่างเสมอหน้ากัน ปรากฏตามอนุโมทนาบัตรและภาพถ่ายหมาย จ.7 ถึง จ.44 ข้อเท็จจริงจึงมีเหตุผลให้ฟังได้ว่า โจทก์ที่ 1 เป็นภรรยาที่ผู้ตายเชิดชูให้เกียรติเสมอตนเชื่อได้ว่าผู้ตายกับโจทก์ที่ 1 ร่วมกันทำกิจการโรงแรมมีเจตนาเป็นเจ้าของร่วมกัน เงินที่ใช้เป็นทุนปลูกสร้างโรงแรมนั้นจะเกิดจากฝ่ายใดหามาไม่สำคัญ ต้องถือว่าโรงแรมนั้นเป็นทรัพย์สินร่วมกันระหว่างผู้ตายกับโจทก์ที่ 1 โรงแรมที่โจทก์ที่ 1 ร่วมกับผู้ตายปลูกสร้างลงไปในที่ดินโฉนดเลขที่ 878 ซึ่งเป็นของผู้ตายนี้แสดงว่าผู้ตายยินยอมให้ใช้ที่ดินดังกล่าวปลูกสร้างโรงแรมเพื่อทำกิจการค้าร่วมกันกับโจทก์ที่ 1 ดังนั้นโรงแรมอูนากูลจึงไม่เป็นส่วนควบกับที่ดินดังกล่าว กรณีเข้าข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 109 ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าผู้ตายแต่เพียงคนเดียวเป็นเจ้าของและดำเนินกิจการโรงแรมอูนากูลมาตลอดไม่มีโจทก์ที่ 1 เป็นหุ้นส่วนด้วยและไม่จำต้องวินิจฉัยว่าอาคารโรงแรมอูนากูลบนที่ดินโฉนดที่ 878 เป็นส่วนควบกับที่ดินโฉนดดังกล่าวหรือไม่ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 5 จดทะเบียนสมรสกับผู้ตาย แม้จำเลยที่ 5จะเลิกร้างกับผู้ตายไปนานแล้ว แต่เมื่อไม่ได้จดทะเบียนหย่ากันทรัพย์สินที่ผู้ตายได้มาระหว่างที่เป็นสามีภรรยากับจำเลยที่ 5ย่อมเป็นสินสมรส ดังนั้นโรงแรมอูนากูลเมื่อแบ่งกรรมสิทธิ์รวมระหว่างผู้ตายกับโจทก์ที่ 1 แล้วครึ่งหนึ่งของโรงแรมที่ได้แก่ผู้ตายจึงเป็นสินสมรสระหว่างผู้ตายกับจำเลยที่ 5 ทางพิจารณาได้ความว่าทั้งผู้ตายและจำเลยที่ 5 ต่างมีสินเดิมจึงต้องแบ่งสินสมรสคนละครึ่งจำเลยที่ 5 มีสิทธิเป็นเจ้าของโรงแรม เศษ 1 ส่วน 4 ของโรงแรมและผู้ตายมีสิทธิเป็นเจ้าของเศษ 1 ส่วน 4 ของโรงแรมซึ่งเป็นมรดกของผู้ตายตกทอดแก่ทายาทตามพินัยกรรมรวม 10 คน สำหรับเงินฝากธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ จำกัด สาขาชลบุรี โจทก์ฟ้องว่ามีอยู่ประมาณ 45,000 บาท แต่เมื่อนำสืบแล้วได้ความว่ามีอยู่51,651.14 บาท ตามสำเนาเอกสารหมาย จ.59 ซึ่งระบุว่า เป็นเงินของผู้ตายและ/หรือโจทก์ที่ 1 ข้อเท็จจริงมีเหตุผลให้รับฟังว่าเป็นรายได้จากกิจการโรงแรมที่ผู้ตายกับโจทก์ที่ 1 ทำร่วมกันจึงเป็นเจ้าของคนละครึ่ง ครึ่งหนึ่งที่เป็นของผู้ตายเป็นสินสมรสระหว่างผู้ตายกับจำเลยที่ 5 ต้องแบ่งคนละครึ่งเป็นอย่างเดียวกับการแบ่งโรงแรมดังได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น จำเลยที่ 5 มีสิทธิเป็นเจ้าของอยู่เศษ 1 ส่วน 4 ของเงินที่มีอยู่ ผู้ตายมีสิทธิเป็นเจ้าของอยู่เศษ 1 ส่วน 4 ของเงินที่มีอยู่ เมื่อตามสำเนาพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.6 ที่ผู้ตายทำไว้มิได้ระบุตัวเงินดังกล่าว เงินส่วนของผู้ตายจึงตกได้แก่ทายาทโดยธรรมรวม 11 คน ได้คนละส่วนเท่ากันแต่ส่วนนี้สำหรับจำเลยที่ 5 ศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาแบ่งส่วนนี้ให้จำเลยที่ 5 ไม่อุทธรณ์จึงยุติ ส่วนเงินรายได้จากกิจการโรงแรมรวมทั้งร้านตัดผมที่ได้มาหลังจากที่ผู้ตายถึงแก่กรรมแล้ว เห็นว่ามิใช่ทรัพย์มรดกของผู้ตาย เพราะมิใช่ทรัพย์ที่มีอยู่ก่อนหรือในขณะที่ผู้ตายถึงแก่กรรม แต่เป็นดอกผลของโรงแรมตกได้แก่ผู้ที่เป็นเจ้าของโรงแรมตามสัดส่วนแห่งความเป็นเจ้าของโรงแรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 111 และมาตรา 1360 เงินรายได้นี้ฝ่ายโจทก์และจำเลยนำสืบโต้แย้งกัน โดยฝ่ายโจทก์นำสืบว่าควรจะมีรายได้สุทธิเดือนละ 70,000 บาท ฝ่ายจำเลยนำสืบว่ามีรายได้สุทธิเดือนละประมาณ 10,000 บาท ฝ่ายโจทก์นำสืบว่าโรงแรมมีห้องทั้งหมด 52 ห้อง ราคามีหลายระดับอย่างต่ำวันละ 40 บาทอย่างสูงวันละ 120 บาท แต่ฝ่ายโจทก์นำสืบไม่ชัดว่าห้องแต่ละระดับนั้นมีกี่ห้องและรายจ่ายมีอะไรบ้าง จึงไม่อาจกะประมาณได้ว่าเดือนหนึ่งควรจะมีรายได้สุทธิประมาณเท่าใด ส่วนฝ่ายจำเลยก็นำสืบไม่ชัดแจ้งเช่นเดียวกัน ทั้งทางพิจารณาได้ความว่านายเมฆ (ไม่ทราบนามสกุล) เป็นผู้เก็บเงินจากลูกค้าแล้วส่งมอบให้จำเลยที่ 4เก็บรักษาไว้ แต่ฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยก็มิได้นำนายเมฆมาสืบให้แจ้งชัดแต่อย่างใด เมื่อพิจารณารายรับรายจ่ายของโรงแรมตามสำเนาเอกสารหมาย ล.7 ที่จำเลยที่ 4 แสดงมาประกอบกับบัญชีเงินฝากส่วนตัวของจำเลยที่ 4 ที่ธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ สาขาชลบุรีและคำเบิกความของจำเลยที่ 4 แล้ว เห็นว่า จำเลยที่ 4 เบิกความไม่สมเหตุสมผลโดยเฉพาะจำเลยที่ 4 น่าจะนำเอารายได้ของโรงแรมไปฝากไว้ในบัญชีหนึ่งต่างหาก ไม่น่าจะเอาไปฝากรวมไว้ในบัญชีส่วนตัวของจำเลยที่ 4 จึงเป็นพิรุธ น่าเชื่อว่ารายได้สุทธิของโรงแรมเกินกว่าเดือนละ 10,000 บาท และมีรายได้สุทธิอย่างน้อยเดือนละ25,000 บาท เมื่อนับตั้งแต่วันที่ผู้ตายถึงแก่กรรมจนถึงวันฟ้องเป็นเวลาประมาณ 12 เดือน จึงควรเป็นรายได้สุทธิประมาณ 300,000บาท และหลังจากฟ้องก็ควรมีรายได้สุทธิประมาณเดือนละ 25,000 บาทตลอดมา ฎีกาโจทก์ทั้งห้าข้อนี้ฟังขึ้น
โจทก์ทั้งห้าฎีกาเป็นประการสุดท้ายว่า จำเลยที่ 4 เป็นผู้เก็บรักษาเงินรายได้จากกิจการโรงแรม (รวมทั้งร้านตัดผม)ได้ปิดบังหรือยักย้ายเงินส่วนนี้จึงต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกนั้นเห็นว่า เงินที่ได้จากกิจการโรงแรม (รวมทั้งร้านตัดผม) ที่ได้มาภายหลังผู้ตายถึงแก่กรรมไม่ใช่มรดกของผู้ตาย แม้จำเลยที่ 4 ปปิดบังหรือยักย้ายเงินส่วนนี้ จำเลยที่ 4 ก็ไม่ถูกกำจัดมิให้รับมรดก ฎีกาโจทก์ทั้งห้าข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายจัดการแบ่งทรัพย์ที่พิพาทดังนี้ แบ่งที่ดินพิพาทให้โจทก์ที่ 1 ได้เศษ 1 ส่วน 15 ส่วนของที่ดินพิพาท ได้เศษ 21 ส่วน 40 ส่วนของอาคารโรงแรมพิพาท ได้เศษ 1 ส่วน 2 ส่วนของเงินฝากในบัญชีธนาคารได้เศษ 21 ส่วน 40 ส่วนของเงินรายได้จากกิจการโรงแรมซึ่งรวมรายได้จากร้านตัดผมด้วย ให้โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 ได้คนละเศษ 1ส่วน 15 ส่วนของที่ดินพิพาท ได้เศษ 1 ส่วน 40 ส่วนของอาคารโรงแรมได้เศษ 1 ส่วน 44 ส่วนของเงินฝากในบัญชีธนาคาร ได้เศษ 1 ส่วน 40ส่วนของเงินรายได้จากกิจการโรงแรมฯ ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4ได้คนละเศษ 3 ส่วน 20 ส่วนของที่ดินพิพาท ได้เศษ 1 ส่วน 40 ส่วนของอาคารโรงแรมพิพาท ได้เศษ 1 ส่วน 44 ส่วนของเงินในบัญชีธนาคารได้เศษ 1 ส่วน 44 ส่วนของเงินรายได้จากกิจการโรงแรมฯ ให้จำเลยที่ 5 ได้เศษ 1 ส่วน 4 ส่วนของอาคารโรงแรม เศษ 1 ส่วน 4 ส่วนของเงินฝากในบัญชีธนาคาร ได้เศษ 1 ส่วน 4 ส่วนของเงินรายได้จากกิจการโรงแรมฯ ในการจัดแบ่งที่ดินและอาคารโรงแรมพิพาทดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการให้โจทก์จำเลยที่มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งให้ตกลงแบ่งกันเองก่อน ถ้าไม่สามารถแบ่งได้ก็ให้ประมูลขายในระหว่างกันเองนำเงินมาแบ่งกันตามส่วนที่มีสิทธิ หากยังตกลงแบ่งกันไม่ได้ก็ให้นำออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินที่ขายได้มาแบ่งให้แก่โจทก์จำเลยตามส่วนที่มีสิทธิกับให้จำเลยที่ 1 ไปเบิกเงินจากธนาคารแล้วแบ่งให้โจทก์จำเลยดังกล่าวตามส่วนที่มีสิทธิ และให้จำเลยที่ 4 ส่งมอบเงินรายได้สุทธิจากกิจการโรงแรมฯ ที่ได้รับมาทั้งหมดนับตั้งแต่ผู้ตายถึงแก่กรรม (ซึ่งฟังว่ามีรายได้สุทธิอย่างน้อยเดือนละ 25,000 บาท นับถึงวันฟ้องมีรายได้สุทธิประมาณ300,000 บาท) ให้แก่โจทก์จำเลยตามส่วนที่มีสิทธิดังกล่าวแล้วด้วยทั้งนี้จนกว่าจำเลยที่ 4 จะพ้นจากการเป็นผู้เก็บรักษาเงินรายได้ส่วนนี้คำขออื่นของโจทก์จำเลยนอกจากนี้ให้ยก

Share