คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 678/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่ศาลจะสั่งขยายระยะเวลายื่นฎีกาให้หรือไม่นั้น อยู่ในดุลพินิจของศาลและโจทก์ยื่นคำร้องขอขยายก่อนครบกำหนดยื่นฎีกาทั้งเหตุที่ขอขยายเวลานั้นก็เพราะว่าโจทก์ได้ย้ายที่ทำการแห่งใหม่และได้แต่งตั้งทนายโจทก์คนใหม่แล้ว ทนายโจทก์คนใหม่ได้แจ้งให้ศาลทราบด้วยว่าการส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้โจทก์ขอให้แจ้งไปที่ทำการแห่งใหม่ ปรากฏว่าเจ้าพนักงานศาลได้ส่งหมายนัดไปยังทนายโจทก์คนเดิม โจทก์จึงไม่ทราบคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อันถือได้ว่าเป็นพฤติการณ์พิเศษและมีเหตุสมควร คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกาจึงชอบแล้ว การกู้ยืมเงิน แม้หนังสือสัญญากู้เงินจะมิได้ระบุว่าจำเลยกู้เงินไปจากใครก็ตาม แต่ก็มีข้อความระบุว่าจำเลยได้กู้เงินจำนวน500,000 บาทไป โจทก์ย่อมมีสิทธินำสืบได้ว่าจำเลยกู้เงินไปจากใคร

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกู้เงินจากโจทก์ 500,000 บาท ครบกำหนดจำเลยไม่ชำระเงินคืน ขอให้จำเลยชำระเงินดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ยจำเลยให้การต่อสู้หลายประการ และว่าจำเลยทำสัญญากู้จริงแต่ไม่ได้ทำกับโจทก์และไม่ได้รับเงินไปจากโจทก์ ภายหลังไม่ได้มีการกู้ยืมเงินตามสัญญา สัญญากู้จึงถูกยกเลิกต่อกัน ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2526 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยก่อนฟ้องต้องไม่เกิน 21,874 บาท จำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยคัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์ขยายเวลายื่นฎีกานั้นเห็นว่า การที่ศาลจะสั่งขยายระยะเวลายื่นฎีกาให้หรือไม่นั้น อยู่ในดุลพินิจของศาล และปรากฏว่าโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอขยายก่อนครบกำหนดยื่นฎีกาทั้งเหตุที่ขอขยายเวลานั้น ก็เพราะว่าโจทก์ได้ย้ายที่ทำการแห่งใหม่ และได้แต่งตั้งทนายโจทก์คนใหม่แล้ว ทนายโจทก์คนใหม่ได้แจ้งให้ศาลทราบด้วยว่าการส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้โจทก์ ขอให้แจ้งไปที่ทำการแห่งใหม่ ปรากฏว่าเจ้าพนักงานศาลได้ส่งหมายนัดไปยังทนายโจทก์คนเดิม โจทก์จึงไม่ทราบคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ อันถือได้ว่าเป็นพฤติการณ์พิเศษและมีเหตุสมควร คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกานั้น จึงชอบแล้ว ปัญหาตามข้อฎีกาของโจทก์ต่อไปมีว่า
1. นายเรียวเฮ ฮากิฮารา กรรมการของโจทก์ได้ลงนามในหนังสือมอบอำนาจให้นายสุวิทย์ ชุณศิลปเวช ดำเนินคดีนี้แทนโจทก์หรือไม่ซึ่งศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยในปัญหาข้อนี้
2. จำเลยได้กู้เงินไปจากโจทก์ตามฟ้องหรือไม่
ปัญหาข้อแรก โจทก์มีนายสุวิทย์ ชุณศิลปเวช สมุห์บัญชีของโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์เบิกความประกอบหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 ยืนยันว่า ในการมอบอำนาจให้ดำเนินคดีนี้ นายเรียวเฮ ฮากิฮารา เป็นผู้ทำการแทนโจทก์ พยานจำเลยมีจำเลยแต่ผู้เดียวที่เบิกความลอย ๆ แต่เพียงว่า ลายมือชื่อในช่องผู้มอบอำนาจในเอกสารหมาย จ.2 จะเป็นลายมือชื่อของนายเรียวเฮฮากิฮารา หรือไม่จำไม่ได้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า นายเรียวเฮฮากิฮารา กรรมการของโจทก์ได้ลงนามมอบอำนาจให้นายสุวิทย์ดำเนินคดีนี้แทนโจทก์ โดยไม่จำต้องนำนายเรียวเฮ ฮากิฮาราผู้มอบอำนาจมาเบิกความประกอบ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ปัญหาข้อสุดท้าย จำเลยได้กู้เงินไปจากโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ศาลฎีกาเห็นว่า แม้หนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.3 จะมิได้ระบุว่าจำเลยกู้เงินไปจากใครก็ตาม แต่ก็มีข้อความระบุว่าจำเลยได้กู้เงินจำนวน 500,000 บาทไป ดังนั้น โจทก์ย่อมมีสิทธินำสืบได้ว่า จำเลยกู้เงินไปจากใคร ได้ความจากคำเบิกความของนายสุวิทย์ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ นายกฤษฎ์ สมศิริกาญจนคุณ ผู้ช่วยสมุห์บัญชีของโจทก์ และนางสาวภารดี อัญชพันธ์ พนักงานบัญชีของโจทก์พยานโจทก์ว่า เมื่อเดือนมีนาคม 2526 จำเลยได้กู้เงินไปจากโจทก์ 500,000 บาท กำหนดชำระเงินคืนภายในเดือนมิถุนายน 2526นายมาซาโตมิ โอซูก้า ประธานกรรมการของโจทก์เป็นผู้อนุมัติให้จำเลยกู้เงินและจำเลยได้มอบภาพถ่ายโฉนดที่ดินของจำเลยเอกสารหมายจ.10 ให้แก่นายเรียวเฮ ฮากิฮารา กรรมการของโจทก์ยึดไว้เป็นประกันนายเรียวเฮ ฮากิฮารา เป็นผู้อนุมัติให้จ่ายเงินกู้แก่จำเลยนางสาวภารดีเป็นผู้จัดพิมพ์เช็คธนาคารแห่งอินโดจีนและสุเอชจำกัด ลงวันที่ 7 มีนาคม 2526 จำนวนเงิน 500,000 บาท นายเรียวเฮฮากิฮารา และนายสุรศักดิ์ ชิมตระกูล ร่วมกันลงชื่อสั่งจ่ายเช็คปรากฏตามภาพถ่ายเช็คเอกสารหมาย จ.8 ให้แก่จำเลยและจำเลยได้ลงชื่อรับเงินไว้ในใบสำคัญการจ่ายเงินเอกสารหมาย จ.7 ต่อมาเช็คดังกล่าวได้มีการเรียกเก็บเงินไปแล้ว จำเลยอ้างตนเองเป็นพยานและมีนายสุรศักดิ์ ชิมตระกูล อดีตกรรมการของโจทก์มาเบิกความประกอบว่าเมื่อ พ.ศ. 2526 ขณะจำเลยเป็นทนายความที่ปรึกษากฎหมายของโจทก์ และนายสุรศักดิ์เป็นกรรมการคนหนึ่งของโจทก์ โจทก์ต้องการขายหินประดับ”ซินเธติค สโตน” จำนวน 200,000 ชุด ราคาชุดละ 999 บาท เพื่อให้ได้ผลในการโฆษณาโจทก์โดยนายเรียวเฮ ฮากิฮารา และนายสุรศักดิ์ได้มอบหมายให้จำเลยดำเนินการโฆษณาเผยแพร่สินค้าดังกล่าวในนามของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษ โดยใช้ชื่อโครงการว่า”โรแยล โปรเจ็คท์” หรือโครงการหลวง โดยโจทก์ตกลงให้จำเลยได้รับผลประโยชน์ตอบแทนในอัตราร้อยละ 2 ของยอดเงินที่ขายได้ จำเลยได้เบิกเงินเป็นค่าใช้จ่ายล่วงหน้าจำนวน 500,000 บาทจากโจทก์โจทก์ได้จ่ายเงินให้จำเลยเป็นเช็คธนาคารแห่งอินโดจีนและสุเอชจำกัด มีนายเรียวเฮ ฮากิฮารา ร่วมกันลงชื่อสั่งจ่ายเช็คตามภาพถ่ายเช็คเอกสารหมาย จ.8 (ซึ่งตรงกับสำเนาภาพถ่ายเช็คเอกสารหมาย จ.11) ขณะเบิกเงินจำเลยยังทำการไม่สำเร็จตามโครงการนายสุรศักดิ์ ซึ่งขณะนั้นไม่ใช่กรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์แต่เป็นผู้จัดการของโจทก์ ได้ให้จำเลยทำหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.3 ให้ไว้โดยจำเลยได้มอบสำเนาภาพถ่ายโฉนดที่ดินของจำเลยเอกสารหมาย จ.10 ให้ไว้เป็นประกันด้วย นายสุรศักดิ์สัญญาว่าจะคืนหนังสือสัญญากู้เงินและภาพถ่ายโฉนดที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยเมื่องานเสร็จตามโครงการแล้ว โดยจะนำค่าตอบแทนที่จำเลยจะได้รับมาหักกับหนี้เงินที่กู้ไป ศาลฎีกาเห็นว่า แม้จะได้ความว่าในขณะนั้นนายเรียวเฮ ฮากิฮารา และนายสุรศักดิ์มิใช่เป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนโจทก์ ปรากฏตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย ล.3 ก็ตาม แต่นายสุรศักดิ์ก็เป็นผู้จัดการของโจทก์ในขณะนั้น และต่อมานายเรียวเฮ ฮากิฮารา ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนโจทก์ตามสำเนาภาพถ่ายหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.1 ทั้งโจทก์เป็นผู้ริเริ่มโครงการหลวง เพื่อโฆษณาเผยแพร่สินค้าเครื่องประดับของโจทก์และนายมาซาโตมิ โอซูก้าประธานกรรมการของโจทก์ในขณะนั้นเป็นผู้อนุมัติให้จำเลยกู้เงินเช็คตามเอกสารหมาย จ.8 หรือ จ.11 ก็เป็นของโจทก์ที่เปิดบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคารแห่งอินโดจีนและสุเอช จำกัด ซึ่งธนาคารดังกล่าวได้มอบให้โจทก์ไว้เพื่อสั่งจ่ายเบิกเงินไปจากบัญชีของโจทก์ การที่นายเรียวเฮ ฮากิฮารา กับนายสุรศักดิ์ได้ร่วมกันสั่งจ่ายเช็คเอกสารหมาย จ.8 หรือ จ.11 มอบให้แก่จำเลยไปโดยให้จำเลยลงชื่อไว้ในใบสำคัญจ่ายเงินเอกสารหมาย จ.7 ซึ่งเป็นเอกสารของโจทก์ และเช็คดังกล่าวได้ถูกนำไปเรียกเก็บเงินจากบัญชีของโจทก์ไปเรียบร้อยแล้ว ทั้งจำเลยยังได้มอบภาพถ่ายโฉนดที่ดินของจำเลยเอกสารหมาย จ.10 ให้นายสุรศักดิ์ยึดไว้เป็นประกันพร้อมกับหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.3 ด้วย จากข้อเท็จจริงดังกล่าวมาแล้วย่อมถือได้ว่านายเรียวเฮ ฮากิฮารา และนายสุรศักดิ์ได้กระทำไปในฐานะเป็นตัวแทนของโจทก์ และเงินกู้ที่จำเลยรับไปเป็นเงินของโจทก์หาใช่ของนายสุรศักดิ์ไม่ รูปคดีจึงฟังได้ว่าจำเลยได้กู้เงินและรับเงินไปจากโจทก์ตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.3 ที่จำเลยทำขึ้นให้นายสุรศักดิ์ตัวแทนของโจทก์ยึดไว้พร้อมกับสำเนาโฉนดที่ดินของจำเลยเป็นประกัน เมื่อสัญญากู้เงินดังกล่าวถึงกำหนดชำระเงินแล้วจำเลยไม่ยอมชำระ จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้เงินกู้จำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยตามกฎหมายนับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไป พยานจำเลยที่นำสืบว่า เงินจำนวน 500,000บาท ดังกล่าว เป็นเงินที่จำเลยได้เบิกล่วงหน้าจากโจทก์เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามโครงการหลวงนั้น จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ไว้ จึงไม่มีน้ำหนักรับฟังหักล้างพยานโจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share