คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6775/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่ผู้มีสิทธิจะได้รับเงินตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง ให้คำนึงถึงราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกา ราคาที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่ ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ประกอบกับสภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์นั้น พร้อมทั้งเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนรวม 5 ข้อ ประกอบกัน มิใช่พิจารณาข้อใดข้อหนึ่งแต่เพียงข้อเดียวเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทั้งผู้ถูกเวนคืนและสังคม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 182965 ตำบลคันนายาว อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 43 ตารางวา เมื่อปี 2536 ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 37 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ตอนแยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 34 (บางพลี) บรรจบทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 (วังน้อย) พ.ศ. 2536 จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว และเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 ที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนเนื้อที่ 5.1 ตารางวา คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ตารางวาละ 40,000 บาท รวมเป็นเงิน204,000 บาท เป็นราคาต่ำและไม่เป็นธรรม โจทก์อุทธรณ์ขอเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแล้วแต่รัฐมนตรีฯ ยังไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ ที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนติดถนนรามอินทราอยู่บริเวณด้านหน้าอาคารพาณิชย์ 4 ชั้น 1 คูหา โจทก์ใช้ประกอบธุรกิจการค้า บริเวณที่ถูกเวนคืนใช้เป็นที่จอดรถยนต์ของลูกค้า เมื่อไม่มีที่จอดรถยนต์ โจทก์ไม่สามารถประกอบการค้าได้ จึงขอเงินค่าทดแทนที่ดินตารางวาละ 170,000 บาท รวมเป็นเงิน867,000 บาท เมื่อหักกับส่วนที่ได้รับไว้แล้ว จำเลยทั้งสองจะต้องชำระอีกจำนวน 663,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินอัตราร้อยละ 10.75 ต่อปี นับแต่วันที่ 19 มิถุนายน 2539 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินบางส่วนจากจำเลยทั้งสอง รวมต้นเงินและดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 728,333บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 728,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10.75 ต่อปี ของต้นเงิน 663,000 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การว่า คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ได้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ตามหลักเกณฑ์พระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 และประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44เงินค่าทดแทนที่ดินถูกต้องเหมาะสมและเป็นธรรมแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 182965 ตำบลคันนายาว อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 43 ตารางวา ซึ่งมีเนื้อที่บางส่วนจำนวน5.1 ตารางวา อยู่ในบริเวณที่ที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 37 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ตอนแยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 34(บางพลี) บรรจบทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 (วังน้อย) พ.ศ. 2536 ซึ่งมีผลใช้บังคับวันที่ 2 พฤศจิกายน 2536 คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ตารางวาละ 40,000 บาท เป็นเงิน204,000 บาท โจทก์ได้รับเงินแล้ว แต่เห็นว่าต่ำไปจึงอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมขอให้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่ม รัฐมนตรีฯมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ภายในกำหนดเวลาตามกฎหมาย โจทก์จึงฟ้องคดีนี้ ต่อมารัฐมนตรีฯ ได้วินิจฉัยอุทธรณ์เพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์เป็นตารางวาละ 52,500 บาท ศาลชั้นต้นเห็นว่า เงินค่าทดแทนที่ดินดังกล่าวเหมาะสมและเป็นธรรมแก่โจทก์ ทั้งโจทก์ชอบที่จะขอรับเงินค่าทดแทนที่ดินที่รัฐมนตรีฯ กำหนดเพิ่มให้ได้อยู่แล้ว พิพากษายกฟ้องศาลอุทธรณ์พิพากษายืน มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่าโจทก์ควรได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้นจากที่รัฐมนตรีฯ กำหนดหรือไม่เพียงใด เห็นว่า การพิจารณากำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่ผู้มีสิทธิจะได้รับเงินอย่างโจทก์นี้ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ว่าให้คำนึงถึงราคาของอสังหาริมทรัพย์นั้น 3 อย่าง ได้แก่ ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ สำหรับคดีนี้คือวันที่ 2 พฤศจิกายน 2536 ราคาที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่ ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ประกอบกับสภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์นั้น พร้อมทั้งเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืน รวม5 ข้อ ที่ต้องพิจารณาประกอบกัน มิใช่พิจารณาข้อใดข้อหนึ่งแต่เพียงข้อเดียวเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทั้งผู้ถูกเวนคืนและสังคม แต่ตามบันทึกผลการพิจารณาอุทธรณ์ฯ ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ คณะที่ 1ในการประชุมครั้งที่ 12/2540 เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2540 เอกสารหมายล.9 คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ มุ่งเน้นการพิจารณาไปในเรื่องสภาพและที่ตั้ง และประโยชน์ที่ได้รับหลังจากถูกเวนคืน แล้ววางหลักเกณฑ์กำหนดราคาเพิ่มสำหรับที่ดินที่อยู่ติดถนนรามอินทราเท่า ๆ กันหมดถ้าแปลงใดมีส่วนที่ถูกเวนคืนอยู่ไม่ลึกจากถนนรามอินทรามากนัก ไม่เกิน80 เมตร ก็กำหนดเพิ่มให้เป็นตารางวาละ 52,500 บาท ถ้าอยู่ลึกเข้าไปมากกว่านั้นก็กำหนดราคาให้ต่ำลงไปอีก ที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์เพิ่มขึ้นเป็นตารางวาละ 52,500 บาทโดยใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าวนั้นยังคำนึงไม่ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง ส่วนโจทก์มีตัวโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า ที่ดินของโจทก์อยู่ประมาณหลักกิโลเมตรที่ 11 ใกล้ศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์ฝั่งเดียวกันกับห้างฯ ห่างประมาณ 300 เมตร ในปี 2535 มีการซื้อขายที่ดินกันในราคาตารางวาละ 176,000 บาท ตามสำเนาหนังสือขายที่ดินและสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.4 และตอบคำถามค้านของทนายจำเลยทั้งสองว่าบริเวณที่เป็นชุมชนหนาแน่นของถนนรามอินทราอยู่ประมาณหลักกิโลเมตรที่ 8 และที่ดินตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.4 นั้น ผู้ซื้อเป็นธนาคารซื้อเพื่อทำเป็นสาขาของธนาคารทั้งสิ้น ทั้งหมดตั้งอยู่บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 8 และทุกสัญญาเป็นการซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างด้วย เห็นว่าที่ดินที่ซื้อขายกันตามเอกสารดังกล่าวรวม 7 แปลงนั้น อยู่ห่างจากที่ดินของโจทก์ถึงประมาณ 3 กิโลเมตร ทั้งหมดตั้งอยู่ในบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 8 ซึ่งโจทก์เบิกความรับอยู่แล้วว่าเป็นบริเวณที่เจริญกว่าที่ดินของโจทก์เพราะมีชุมชนหนาแน่น ทั้งเป็นการซื้อที่ดินพร้อมตึกแถว ซึ่งโจทก์มิได้นำสืบหลักเกณฑ์การคิดหักราคาตึกแถวให้เหลือแต่ราคาที่ดินมาให้เห็นชัดเจนด้วยราคาซื้อขายที่ปรากฏตามสำเนาหนังสือขายที่ดินเอกสารหมาย จ.4 ย่อมต้องสูงกว่าราคาที่ดินของโจทก์มาก แต่อย่างไรก็ตามที่ดินของโจทก์เป็นที่ดินแปลงเล็กมีเนื้อที่เพียง 43 ตารางวา จะต้องเวนคืน 5.1 ตารางวา ซึ่งเป็นส่วนที่ดีที่สุดคืออยู่ติดกับถนนรามอินทราอันเป็นถนนใหญ่สายสำคัญสายหนึ่งและอยู่ในทำเลที่ไม่ไกลจากแหล่งที่มีความเจริญมากแล้ว เมื่อคำนึงถึงสภาพและที่ตั้งของที่ดินของโจทก์ดังกล่าว ประกอบเหตุต่าง ๆ ตามมาตรา 21วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) เท่าที่ปรากฏจากพยานหลักฐานที่ทั้งสองฝ่ายนำสืบแล้วเห็นว่า เงินค่าตอบแทนที่ดินของโจทก์ที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯเพิ่มให้เป็นตารางวาละ 52,500 บาท ยังต่ำไป และเห็นว่าเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่เป็นธรรมแก่โจทก์และสังคมคือตารางวาละ 65,000 บาทเพิ่มขึ้นจากที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดอีกตารางวาละ25,000 บาท เนื้อที่ 5.1 ตารางวา เป็นเงิน 127,500 บาท ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน และเนื่องจากยังไม่ปรากฏว่าฝ่ายจำเลยไม่จ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ กำหนดเพิ่มขึ้นให้แก่โจทก์ไปแล้วหรือไม่ ในชั้นนี้จึงยังไม่เอาเงินค่าทดแทนที่ดินที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ กำหนดเพิ่มขึ้นดังกล่าวมาหักออกจากเงินค่าทดแทนที่ดินที่ศาลฎีกากำหนดให้ข้างต้น แต่หากมีการจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ กำหนดเพิ่มขึ้นกับดอกเบี้ยของเงินที่กำหนดเพิ่มให้แก่โจทก์ไปแล้วก็ต้องนำเอามาหักกันในชั้นบังคับคดี

มีปัญหาต้องวินิจฉัยเป็นข้อที่สองตามฎีกาของโจทก์ต่อไปว่า โจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยของเงินค่าทดแทนที่ดินที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวหรือไม่ เพียงใดในเรื่องดอกเบี้ยของเงินค่าทดแทนที่ดินที่เพิ่มขึ้นนี้ พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคสาม บัญญัติไว้ว่า”ในกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้น ให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้น” โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าว แต่ต้องไม่เกินคำขอของโจทก์ด้วย ส่วนจะได้รับตั้งแต่วันใดนั้น ปรากฏว่าโจทก์เบิกความว่า โจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนที่ดิน240,000 บาท ไปแล้ว ซึ่งจำนวนดังกล่าวเป็นยอดเงินค่าทดแทนที่ดินที่จำเลยที่ 1 จ่ายให้แก่โจทก์ตามที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯกำหนด โดยปรากฏตามตารางแสดงข้อเท็จจริงของผู้อุทธรณ์แต่ละรายที่แนบท้ายรายงานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ เอกสารหมายล.12 ว่า โจทก์ได้รับหนังสือแจ้งให้ไปรับเงินเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2539และรับเงินไปเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2539 โดยไม่ปรากฏว่าฝ่ายจำเลยกำหนดให้โจทก์มารับเงินค่าทดแทนที่ดินดังกล่าวในวันใด ถือได้ว่าวันที่โจทก์รับเงินไปดังกล่าวเป็นวันที่จำเลยที่ 1 กำหนดให้โจทก์ไปรับเงินอันเป็นวันที่ต้องมีการจ่ายเงินตามมาตรา 26 วรรคสาม ดังนั้น วันเริ่มคิดดอกเบี้ยของเงินค่าทดแทนที่ดินที่เพิ่มขึ้นคือวันที่ 16 มิถุนายน 2539 แต่โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 19 มิถุนายน 2539 จึงต้องเป็นไปตามที่โจทก์ขอ”

พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้นจากที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดอีก 127,500บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินแต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 10.75 ต่อปี นับแต่วันที่ 19มิถุนายน 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

Share