แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยนำเงินตราซึ่งเป็นธนบัตรไทยจำนวนหกพันบาทเข้ามาในประเทศเป็นความผิดเพราะมีจำนวนเกินกว่าห้าร้อยบาทนั้น ความผิดอยู่ที่การไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานหาใช่เงินตราดังกล่าวเป็นของผิดกฎหมายที่ผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิดไม่จึงริบเงินตราไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ลักลอบนำเงินเหรียญโลหะเงินเปียสชนิดต่าง ๆและเศษเงินรวมราคาทั้งสิ้น 691 บาทเศษ ซึ่งเป็นของต้องห้ามจำกัดจากประเทศลาวเข้ามาในราชอาณาจักรไทย โดยยังมิได้เสียภาษี และได้นำเงินตราธนบัตรไทยรวม 6,000 บาทเข้ามาในประเทศเกินกว่ามูลค่าห้าร้อยบาทโดยไม่ได้รับอนุญาต ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469ฯลฯ พระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ. 2485 มาตรา 8, 9 ฯลฯ ริบของกลางและจ่ายเงินสินบนกับเงินรางวัล
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ฯลฯ พระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินพ.ศ. 2485 ฯลฯ พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิดพ.ศ. 2489 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 91 ลงโทษจำคุกและปรับริบเงินอินโดจีนและเศษโลหะเงินทั้งหมด ส่วนของกลางที่เป็นธนบัตรไทยจำนวน 6,000 บาทนั้นมิใช่ทรัพย์สินซึ่งทำหรือมีไว้เป็นความผิด และกรณีไม่เข้าตามพระราชบัญญัติศุลกากร มิใช่ทรัพย์สินจะพึงริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 จึงคืนให้แก่เจ้าของไป ให้จ่ายสินบนนำจับตามกฎหมาย
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ริบเงิน 6,000 บาทของกลาง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่จำเลยนำเงินตราของกลางจำนวน6,000 บาท เข้ามาในประเทศอันเป็นความผิดต้องรับโทษเพราะจำเลยนำเงินตราเข้ามาเกินกว่า 500 บาทตามที่รัฐมนตรีประกาศโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานความผิดของจำเลยอยู่ที่ไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน หาใช่จำเลยมีความผิดเพราะนำเงินตราของกลางซึ่งเป็นของผิดกฎหมายเข้ามาในประเทศไม่ ทั้งเงินตราของกลางเป็นธนบัตรของรัฐบาลไทยที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ไม่ใช่ทรัพย์สินที่กฎหมายบัญญัติว่าผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิดอันจะต้องริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 จึงริบเงินตราของกลางไม่ได้
พิพากษายืน