คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3071-3072/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์สามคนต่างใช้สิทธิเฉพาะตัวของโจทก์แต่ละคนตามลำพังฟ้องให้จำเลยใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการละเมิดทำให้รถยนต์ของโจทก์แต่ละคนเสียหาย แม้จะรวมฟ้องมาในคดีเดียวกันก็ต้องพิจารณาจำนวนทุนทรัพย์ของคดีสำหรับโจทก์แต่ละคน ถ้าทุนทรัพย์ไม่เกิน 50,000 บาท และศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เล็กน้อยก็ฎีาข้อเท็จจริงไม่ได้ ส่วนทุนทรัพย์ที่ไม่เกิน 20,000 บาทนั้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริง แม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยข้อเท็จจริงมาก็เป็นการมิชอบเพราะปัญหาดังกล่าวยุติตั้งแต่ศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 4 ในสำนวนหลังฎีกา แต่ในสำนวนหลังนี้ศาลชั้นต้นสั่งว่าจำเลยที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การ จำเลยที่ 4 จึงหาอาจเรียกพยานของตนเข้าสืบได้ไม่ ดังนั้น พยานที่จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 ในสำนวนแรกนำสืบรวมมาในสำนวนแรกจึงไม่อาจนำมาวินิจฉัยในสำนวนหลังได้
แม้จำเลยที่ 4 จะฎีกาแต่ผู้เดียว แต่คำพิพากษาศาลฎีกาในส่วนที่เป็นผลดีแก่จำเลยที่ 4 เกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ จึงมีผลถึงจำเลยอื่นที่ไม่ได้ฎีกาด้วย
จำเลยทั้งสองต่างขับรถยนต์ด้วยความเร็วแซงและแข่งกันมา เป็นเหตุให้ชนรถของโจทก์ซึ่งจอดอยู่ พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดของจำเลยทั้งสองมีเท่ากัน และเป็นกรณีต่างทำละเมิดโดยไม่ได้ร่วมกัน จึงไม่ต้องร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนทั้งหมดแก่โจทก์จำเลยทั้งสองต้องรับผิดแบ่งออกเป็นส่วนเท่าๆกัน

ย่อยาว

คดีแรกโจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามเป็นผู้ครอบครองรถยนต์แต่ละคัน จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นนายจ้างจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๓ เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุน จำเลยที่ ๔ เป็นเจ้าของรถยนต์และเป็นนายจ้างนายอนันต์ซึ่งเป็นผู้ขับ จำเลยที่ ๕ เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุน จำเลยที่ ๑ และนายอนันต์ต่างขับรถยนต์บรรทุกในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๒ และที่ ๔ โดยประมาทเลินเล่อด้วยความเร็วสูงกว่าที่กฎหมายกำหนดแซงและแข่งกันมา เป็นเหตุให้ชนรถยนต์ของโจทก์ทั้งสามและรถยนต์ของบุคคลอื่นเสียหาย ขอพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสามพร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ ไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๑ ไม่ได้ขับรถยนต์โดยประมาท เหตุที่รถยนต์ชนกันเพราะความประมาทของคนขับรถยนต์คันอื่น ค่าเสียหายของโจทก์ทั้งสามไม่ถึงจำนวนที่ฟ้อง
จำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ให้การว่า นายอนันต์ไม่ได้ขับรถยนต์โดยประมาทจำเลยที่ ๔ ไม่ต้องรับผิด โจทก์เรียกค่าเสียหายมากเกินไป และจำเลยที่ ๕ ว่าต้องรับผิดเฉพาะค่าซ่อมรถยนต์ตามกรมธรรม์ประกันภัยเท่านั้น
คดีหลังโจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๔ ขับรถยนต์บรรทุกแต่ละคัน ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๒ และที่ ๔ ด้วยความประมาทโดยขับแข่งกันมาด้วยความเร็วสูงพุ่งเข้าชนรถยนต์ของโจทก์ ๓ คัน และรถยนต์ของผู้เสียหาย ขอให้จำเลยทั้งสี่ใช้ค่าเสียหายพร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า ไม่ได้เป็นเจ้าของรถยนต์ตามฟ้อง จำเลยที่ ๑ ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๑ ขับรถยนต์ด้วยความระมัดระวัง เหตุเกิดขึ้นเพราะความผิดของจำเลยที่ ๓ ค่าเสียหายไม่ถึงจำนวนที่ฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า ไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๔ เหตุที่รถยนต์ชนกันไม่ได้เกิดจากความประมาทของจำเลยที่ ๓ แต่เกิดจากความประมาทของคนขับรถยนต์คันอื่น รถยนต์ของโจทก์เสียหายไม่ถึงจำนวนที่ฟ้อง
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การ และขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๔ ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาในคดีแรกให้จำเลยทั้งห้าใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสามพร้อมด้วยดอกเบี้ย และพิพากษาในคดีหลังให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ คดีแรกกับจำเลยที่ ๔ คดีหลังอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้จำนวนเงินที่ให้จำเลยทั้งห้าในคดีแรกร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ ๑ และแก้จำนวนเงินที่ให้จำเลยทั้งสี่ในคดีหลังร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ในคดีหลัง
โจทก์คดีหลังฎีกาขอให้จำเลยทั้งสี่ใช้ค่าเสียหายตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ คดีแรกกับจำเลยที่ ๔ คดีหลังฎีกาเรื่องค่าเสียหาย ขอให้แยกความรับผิดและยกฟ้อง
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า คดีแรกโจทก์ทั้งสามต่างใช้สิทธิเฉพาะตัวของโจทก์แต่ละคนตามลำพังฟ้องให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการละเมิดทำให้รถยนต์ของโจทก์แต่ละคนเสียหาย แม้จะรวมฟ้องมาในคดีเดียวกัน ก็ต้องพิจารณาจำนวนทุนทรัพย์ของคดีสำหรับโจทก์แต่ละคนแยกออกต่างหากจากกัน เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ ๑ เป็นเงิน ๓๘,๐๐๐ บาท ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ค่าเสียหายเป็น ๒๗,๕๐๐ บาท จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อย เมื่อฎีกาของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๘๘ (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๖ ส่วนคดีของโจทก์ที่ ๒ และที่ ๓ นั้น เป็นคดีที่จำนวนทุนทรัพย์ไม่เกินสองหมื่นบาท ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ข้อเท็จจริงตามมาตรา ๒๒๔ (ฉบับที่๖) พ.ศ.๒๕๑๘ มาตรา ๓ แม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยและพิพากษาเกี่ยวกับข้อเท็จจริงดังกล่าวมาก็เป็นการมิชอบ ปัญหานี้จึงยุติแต่ศาลชั้นต้น โจทก์จะฎีกาขึ้นมาอีกมิได้
ส่วนจำเลยที่ ๔ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าขาดนัดยื่นคำให้การแล้วก็เพียงแต่ยื่นใบแต่งทนายความและทนายมาศาลในวันนัดสืบพยานโดยไม่ได้แจ้งให้ศาลชั้นต้นทราบว่าไม่ได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การ เพื่อให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ยื่นคำให้การตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๙๙ จึงต้องถือว่าศาลชั้นต้นดำเนินคดีต่อไปโดยจำเลยที่ ๔ ขาดนัดยื่นคำให้การโดยจงใจหรือไม่มีเหตุอันสมควร จำเลยที่ ๔ หาอาจเรียกพยานของตนเข้าสืบได้ไม่ พยานที่จำเลยที่ ๔ นำสืบรวมมาในคดีแรกจึงไม่อาจนำมาวินิจฉัยในคดีนี้ได้
แต่เมื่อฎีกาจำเลยที่ ๔ เกี่ยวกับค่าซ่อมรถยนต์โจทก์ฟังขึ้น และคำพิพากษาศาลฎีกาในส่วนที่เป็นผลดีแก่จำเลยที่ ๔ เกี่ยวด้วยการชำระหนี้อื่นไม่อาจแบ่งแยกได้ จึงมีผลถึงจำเลยที่ไม่ได้ฎีกาด้วย
เมื่อจำเลยที่ ๓ และจำเลยที่ ๑ ในคดีหลังต่างขับรถยนต์ด้วยความเร็วและแข่งกันมารถยนต์กระทบกันเป็นเหตุให้รถยนต์ที่จำเลยที่๓ ขับไปชนรถยนต์ของโจทก์ที่จอดอยู่นั้น พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดของจำเลยที่ ๓ และที่ ๑ มีเท่ากัน จำเลยที่ ๓ และที่ ๑ ต่างทำละเมิดโดยไม่ได้รวมกัน จึงไม่ต้องร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนทั้งหมดแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๓๒ และต่างต้องรับผิดแบ่งออกเป็นส่วนเท่าๆกัน ตามมาตรา ๔๓๘ เมื่อจำเลยที่ ๓ ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นจำนวนเงินเท่าไร จำเลยที่ ๔ ซึ่งเป็นนายจ้างก็ต้องร่วมรับผิดด้วยเพียงเท่านั้นตามมาตรา ๔๒๕ ฎีกาของจำเลยที่ ๔ ข้อนี้ฟังขึ้นและมีผลถึงจำเลยอื่นที่มิได้ฎีกาด้วยดังเหตุผลที่ได้วินิจฉัยไว้แล้ว
พิพากษาแก้จำนวนค่าสินไหมทดแทนที่ให้จำเลยทั้งสี่ใช้ให้แก่โจทก์ในสำนวนหลัง ทั้งห้าให้จำเลยที่ ๓ ร่วมกับจำเลยที่ ๔ ฝ่ายหนึ่ง กับจำเลยที่ ๑ ร่วมกับจำเลยที่ ๒ ฝ่ายหนึ่งรับผิดในค่าสินไหมทดแทนทั้งหมดต่อโจทก์ฝ่ายละครึ่งหนึ่ง

Share