คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6767/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 10 วัน รวม 3 กระทงจำคุก 30 วัน ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลยกระทงละ6,200 บาท รวม 3 กระทง ปรับ 18,600 บาท อีกสถานหนึ่ง แล้วรอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 2 ปี อันเป็นการแก้ไขมาก แต่เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 40,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219การที่โจทก์ฎีกาขอให้ไม่รอการลงโทษจำเลย เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 3 อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวม 3 กระทง จำคุกกระทงละ 20 วัน รวมจำคุก 60 วัน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 30 วัน

จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับจำเลยกระทงละ12,400 บาท รวม 3 กระทง เป็นเงิน 37,200 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 18,600 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 10 วัน รวม 3 กระทง จำคุก 30 วัน ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่าให้ปรับจำเลยกระทงละ 6,200 บาท รวม 3 กระทง ปรับ 18,600 บาท อีกสถานหนึ่งแล้วรอการลงโทษจำคุกไว้ มีกำหนด 2 ปี อันเป็นการแก้ไขมาก แต่เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 40,000 บาทจึงต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 219 การที่โจทก์ฎีกาขอให้ไม่รอการลงโทษจำเลยเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 3 อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์มานั้นจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”

พิพากษายกฎีกาโจทก์

Share