คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6752/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 วรรคหนึ่ง เป็นบทบัญญัติที่คุ้มครองนายจ้างในกรณีที่นายจ้างประสบปัญหามีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว แต่นายจ้างมีความประสงค์จะประกอบกิจการของตนต่อไป เพื่อเป็นการบรรเทาค่าใช้จ่ายของนายจ้าง จึงให้นายจ้างรับภาระจ่ายเงินเท่ากับค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในระหว่างการหยุดงานเพียงครึ่งเดียว แทนที่จะต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างเต็มจำนวนในระหว่างที่หยุดกิจการนั้น แต่ในขณะเดียวกันก็ถือว่าเป็นบทบัญญัติที่คุ้มครองลูกจ้างด้วยเพราะหากไม่มีบทบัญญัติดังกล่าวนายจ้างอาจไม่สามารถรับภาระค่าใช้จ่ายในด้านแรงงานทั้งหมดได้ จำเป็นต้องเลิกจ้างลูกจ้าง ทำให้ลูกจ้างต้องตกงานขาดรายได้และได้รับความเดือดร้อน ความจำเป็นของนายจ้างที่จะยกขึ้นอ้างเพื่อให้ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง จะต้องเป็นความจำเป็นที่สำคัญอันจะมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้างอย่างมาก ทำให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการตามปกติได้
การที่จำเลยผู้เป็นนายจ้างให้บริษัท ย. เช่าอาคารโรงงาน โรงอาหาร โกดังเก็บสินค้า และที่ดินรอบอาคารที่ตั้งบริษัทจำเลย รวมทั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆ ทั้งหมดของจำเลย เพื่อให้บริษัทดังกล่าวใช้ผลิตเครื่องปรับอากาศและอุปกรณ์ทำความเย็นอันเป็นผลิตภัณฑ์ที่จำเลยเคยผลิตอยู่ก่อนแทนจำเลยนั้น จำเลยจึงไม่มีกิจการผลิตเครื่องปรับอากาษอันเป็นกิจการหลักที่จะดำเนินการต่อไป แม้จำเลยจะยังคงดำเนินกิจการต่อไปโดยเปลี่ยนไปเป็นประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2 นับตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2543 หลังวันให้เช่าโรงงานไปเพียงวันเดียวก็ตาม แต่ก็เป็นการผลิตชิ้นส่วนเครื่องปรับอากาศส่งจำหน่ายให้บริษัท ย. แห่งเดียวเมื่อพิจารณาประกอบกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏว่า หลังให้เช่าโรงงานจำเลยคงมีลูกจ้างเหลืออยู่จำนวน 95 คน ซึ่งเป็นลูกจ้างที่ยื่นข้อเรียกร้องต่อจำเลยไว้และยังตกลงกันไม่ได้ ประกอบกับอาคารโรงงานจำเลยผลิตชิ้นส่วนเครื่องปรับอากาศเป็นอาคารโรงงานก่อด้วยสังกะสีล้อมรอบอันมีลักษณะไม่ถาวร และในระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2543 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2544 จำเลยเคยประกาศให้ลูกจ้างทั้งหมดหยุดงานไปครั้งหนึ่งแล้วด้วยสาเหตุคำสั่งซื้อลดน้อยลง เมื่อลูกจ้างทั้งหมดรวมทั้งโจทก์ทั้งห้าสิบกลับเข้าทำงานในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2544 จำเลยก็ได้ประกาศให้ลูกจ้างทั้งหมดหยุดงานในระหว่างวันที่ 2 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2544 อีก อ้างเหตุผลว่าคำสั่งซื้อน้อยมาก จำเลยไม่มีงานให้ทำ ย่อมแสดงให้เห็นว่านับตั้งแต่จำเลยให้บริษัท ย.เช่าโรงงานทั้งหมดแล้วจำเลยคงประสงค์ที่จะได้รายได้หลักจากค่าเช่าเดือนละ 500,000 บาท เท่านั้น จำเลยหามีเจตนาที่จะประกอบกิจการอย่างแท้จริงอีกต่อไปไม่ การที่จำเลยประกาศให้โจทก์ทั้งห้าสิบหยุดงานระหว่างวันที่ 2 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2544 จึงมิใช่เป็นการหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวตามความหมายของมาตรา 75 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

คดีทั้งห้าสิบสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันโดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 50 และให้เรียกจำเลยทุกสำนวนว่าจำเลย
โจทก์ทั้งห้าสิบสำนวนฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างค้างให้โจทก์ทั้งห้าสิบอีกคนละร้อยละห้าสิบของค่าจ้างของโจทก์แต่ละคน พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์แต่ละสำนวน
จำเลยทั้งห้าสิบสำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ทั้งห้าสิบเพิ่ม พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินค่าจ้างของโจทก์แต่ละคนนับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 3 กรกฎาคม 2545) จนกว่าจะชำระแก่โจทก์ทั้งห้าสิบเสร็จสิ้น
จำเลยทั้งห้าสิบสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า จำเลยมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 วรรคหนึ่ง เป็นบทบัญญัติที่คุ้มครองนายจ้างในกรณีที่นายจ้างประสบปัญหามีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว แต่นายจ้างมีความประสงค์จะประกอบกิจการของตนอีกต่อไป เพื่อเป็นการบรรเทาค่าใช้จ่ายของนายจ้างจึงให้นายจ้างรับภาระจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในระหว่างการหยุดงานเพียงครึ่งเดียว แทนที่จะต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างเต็มจำนวนในระหว่างที่หยุดกิจการนั้น แต่ในขณะเดียวกันก็ถือว่าเป็นบทบัญญัติที่คุ้มครองลูกจ้างด้วย เพราะหากไม่มีบทบัญญัติดังกล่าวนายจ้างอาจไม่สามารถรับภาระค่าใช้จ่ายในด้านแรงงานทั้งหมดได้ จำเป็นต้องเลิกจ้างลูกจ้าง ทำให้ลูกจ้างต้องตกงานขาดรายได้และได้รับความเดือดร้อน สำหรับความจำเป็นของนายจ้างที่จะยกขึ้นอ้างเพื่อให้ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง จะต้องเป็นความจำเป็นที่สำคัญอันจะมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้างอย่างมาก ทำให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการตามปกติได้ จึงเห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า ตามข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาข้างต้นเป็นการหยุดกิจการทั้งหมดเป็นการชั่วคราวตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง หรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยให้บริษัทยูไนเต็ด เทคโนโลยี ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด เช่าอาคารโรงงาน โรงอาหาร โกดังเก็บสินค้า และที่ดินรอบอาคารที่ตั้งบริษัทจำเลย รวมทั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่าง ๆ ทั้งหมดของจำเลย เพื่อให้บริษัทดังกล่าวใช้ผลิตเครื่องปรับอากาศและอุปกรณ์ทำความเย็นอันเป็นผลิตภัณฑ์ที่จำเลยเคยผลิตอยู่ก่อนแทนจำเลยนั้น จำเลยจึงไม่มีกิจการผลิตเครื่องปรับอากาศอันเป็นกิจการหลักที่จะดำเนินการต่อไป แม้จำเลยจะยังคงดำเนินกิจการต่อไปโดยเปลี่ยนไปเป็นประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2 นับตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2543 หลังวันให้เช่าโรงงานไปเพียงวันเดียวก็ตาม แต่ก็เป็นการผลิตชิ้นส่วนเครื่องปรับอากาศส่งจำหน่ายให้บริษัทยูไนเต็ด เทโนโลยี ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด แห่งเดียว เมื่อพิจารณาประกอบกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏว่า หลังให้เช่าโรงงานจำเลยคงมีลูกจ้างเหลืออยู่จำนวน 95 คน ซึ่งเป็นลูกจ้างที่ยื่นข้อเรียกร้องต่อจำเลยไว้และยังตกลงกันไม่ได้ ประกอบกับอาคารโรงงานที่จำเลยผลิตชิ้นส่วนเครื่องปรับอากาศเป็นอาคารโรงงานก่อด้วยสังกะสีล้อมรอบอันมีลักษณะไม่ถาวร และในระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2543 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2544 จำเลยเคยประกาศให้ลูกจ้างทั้งหมดหยุดงานไปครั้งหนึ่งแล้วด้วยสาเหตุคำสั่งซื้อลดน้อยลง เมื่อลูกจ้างทั้งหมดรวมทั้งโจทก์ทั้งห้าสิบกลับเข้าทำงานในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2544 จำเลยก็ได้ประกาศให้ลูกจ้างทั้งหมดหยุดงานในระหว่างวันที่ 2 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2544 อีก อ้างเหตุผลว่าคำสั่งซื้อน้อยมาก จำเลยไม่มีงานให้ทำ ย่อมแสดงให้เห็นว่า นับตั้งแต่จำเลยให้บริษัทยูไนเต็ด เทคโนโลยี ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด เช่าโรงงานทั้งหมดแล้ว จำเลยคงประสงค์ที่จะได้รายได้หลักจากค่าเช่าเดือนละ 500,000 บาท เท่านั้น จำเลยหามีเจตนาที่จะประกอบกิจการอย่างแท้จริงอีกต่อไปไม่ การที่จำเลยประกาศให้โจทก์ทั้งห้าสิบหยุดงานระหว่างวันที่ 2 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2544 จึงมิใช่เป็นการหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวตามความหมายของมาตรา 75 วรรคหนึ่ง ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นด้วยในผล อุทธรณ์ของจำเลยทั้งห้าสิบสำนวนฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share