คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 675/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า ผู้ตายซึ่งเป็นพนักงานขับรถบรรทุกน้ำมันลูกจ้างของโจทก์ ขับรถเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด จนรถคว่ำถึงแก่ความตาย เป็นการจงใจฝ่าฝืนกฎหมาย โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าทดแทนให้แก่ทายาทของผู้ตาย แต่จำเลยให้การปฏิเสธและต่อสู้ว่า ผู้ตายขับรถโดยประมาทปราศจากความระมัดระวัง มิใช่กระทำโดยจงใจฝ่าฝืนกฎหมาย เพราะไม่มีเหตุผลประการใดที่ผู้ตายจะจงใจกระทำในเรื่องที่มีผลให้ตนต้องถึงแก่ความตาย ดังนี้ เป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องนำสืบข้อเท็จจริงตามข้ออ้างในฟ้อง เมื่อโจทก์ไม่นำสืบ ย่อมรับฟังตามที่โจทก์อ้างไม่ได้
ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายเงินค่าทดแทนฯข้อ 3 ให้คำนิยามคำว่า “ค่าจ้าง” ไว้ หมายความถึงสินจ้างที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้าง ไม่ว่าสินจ้างนั้นจะเรียกชื่อหรือคำนวณอย่างไรก็ตามแต่ไม่รวมถึงค่าล่วงเวลาค่าล่วงเวลาในวันหยุด โบนัส หรือผลประโยชน์อย่างอื่นที่มีลักษณะเป็นการสงเคราะห์ลูกจ้าง ผู้ตายเป็นลูกจ้างขับรถบรรทุกน้ำมันของโจทก์ได้รับเงินเดือน ๆ ละ 350 บาทและเบี้ยเลี้ยงถัวเฉลี่ยเดือนละ 957.60 บาท เงินเดือนที่ผู้ตายได้รับนั้นเป็นอัตราที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็นค่าจ้างในปัจจุบัน และไม่ได้ส่วนสัดกับงานของพนักงานขับรถบรรทุกน้ำมัน ส่วนเบี้ยเลี้ยงนั้น โจทก์จ่ายให้แก่พนักงานขับรถเพิ่มขึ้นอีกส่วนหนึ่งโดยคำนวณตามเวลาที่ทำงานให้แก่โจทก์ซึ่งสมควรแก่ปริมาณงานที่ทำ จึงถือได้ว่าเบี้ยเลี้ยงนั้นเป็นส่วนหนึ่งของสินจ้างที่โจทก์จ่ายให้แก่ผู้ตายในฐานะเป็นลูกจ้างเช่นเดียวกับเงินเดือน เพราะฉะนั้น “เบี้ยเลี้ยง” จึงเป็น “ค่าจ้าง” ตามนัยของประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว หาใช่เป็นเงินสงเคราะห์ลูกจ้างที่ต้องมีภาระเพิ่มขึ้นเพราะต้องทำงานนอกสถานที่ไม่
ประมวลรัษฎากรกับประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวเป็นกฎหมายคนละประเภทและมีวัตถุประสงค์ต่างกัน ทั้งไม่มีเหตุผลพิเศษที่แสดงให้เห็นว่าผู้ร่างกฎหมายต้องการใช้คำว่า “เบี้ยเลี้ยง” และคำว่า “ค่าจ้าง” ในกฎหมายสองฉบับนั้นให้มีความหมายตรงกันการตีความคำเหล่านี้จึงต้องตีความไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายแต่ละฉบับที่ปรากฏในตัวบทกฎหมายนั้นๆ เองโดยเฉพาะประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวได้ให้คำนิยามคำว่า “ค่าจ้าง” ไว้เพื่อการคำนวณค่าทดแทนอยู่แล้ว การตีความคำว่า “ค่าจ้าง” ในเรื่องเงินค่าทดแทน จึงต้องเป็นไปตามคำนิยามนั้น (จะอ้างประมวลรัษฎากรมาประกอบการตีความว่า เบี้ยเลี้ยงไม่ต้องเสียภาษีเงินได้อย่างค่าจ้าง จึงถือว่าเป็นค่าจ้างไม่ได้นั้น หาได้ไม่)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายมีศักดิ์ จีวระ เป็นลูกจ้างของโจทก์ ทำหน้าที่ขับรถยนต์บรรทุกน้ำมัน ได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน ๆ ละ ๓๕๐ บาทนายมีศักดิ์ได้ขับรถบรรทุกน้ำมันโดยจงใจฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้าง และฝ่าฝืนกฎหมาย โดยขับด้วยความเร็วสูงเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด และแซงรถข้างหน้า จนรถพลิกคว่ำ เป็นเหตุให้นายมีศักดิ์ถึงแก่ความตายนางแพภริยาและนางด้วงมารดาของนายมีศักดิ์ยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทน เจ้าหน้าที่ซึ่งกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งได้วินิจฉัยให้โจทก์จ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้อยู่ในอุปการะของนายมีศักดิ์เป็นรายเดือน ๆ ละ ๖๔๖.๗๕ บาท มีกำหนด ๕ ปี กับจ่ายค่าทำศพอีก๓,๘๘๐.๕๐ บาท โจทก์อุทธรณ์คำสั่งต่อจำเลย จำเลยแก้จำนวนเงินทดแทนเป็นรายเดือน ๆ ละ ๗๘๔.๕๖ บาท มีกำหนด ๕ ปี และค่าทำศพ๓,๙๒๒.๘๐ บาท โจทก์ไม่เห็นด้วย ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลย
จำเลยให้การว่า นายมีศักดิ์ขับรถยนต์พลิกคว่ำ เป็นการกระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวัง มิใช่จงใจฝ่าฝืนกฎหมายนอกจากเงินเดือน นายมีศักดิ์ยังได้เบี้ยเลี้ยงอีก เฉลี่ยเดือนละ ๙๕๗.๖๐บาท ซึ่งต้องรวมกับค่าจ้างรายเดือนคำนวณค่าทดแทนและค่าทำศพ
วันชี้สองสถาน โจทก์จำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงกันบางประการแล้วต่างไม่สืบพยาน
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ประเด็นข้อ ๑ โจทก์ฎีกาว่า นายมีศักดิ์ จีวระ พนักงานขับรถบรรทุกน้ำมันลูกจ้างของโจทก์ ขับรถเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด จึงเป็นการจงใจฝ่าฝืนกฎหมายกล่าวคือ มีเจตนากระทำการฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าทดแทนให้แก่ทายาทของนายมีศักดิ์ จีวระ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายเงินค่าทดแทน ฯลฯ ลงวันที่ ๒๐ ธันวาคม๒๕๐๑ ข้อ ๑๕(๒) นั้น เห็นว่าโจทก์กล่าวอ้างข้อเท็จจริงนี้ขึ้นมาในคำฟ้องจริงแต่จำเลยให้การปฏิเสธ และต่อสู้ว่านายมีศักดิ์ จีวระ ลูกจ้างของโจทก์ขับรถโดยประมาทปราศจากระมัดระวัง มิใช่การกระทำโดยจงใจฝ่าฝืนกฎหมายเพราะไม่มีเหตุผลประการใดที่นายมีศักดิ์ จีวระ จะจงใจกระทำในเรื่องที่มีผลให้ตนต้องถึงแก่ความตายจึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องนำสืบข้อเท็จจริงตามข้ออ้างในฟ้อง เมื่อโจทก์ไม่นำสืบ ย่อมรับฟังตามที่โจทก์อ้างไม่ได้ ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ตกไป
ในประเด็นข้อ ๒ โจทก์ฎีกาว่า คำว่า “ค่าจ้าง” ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายเงินค่าทดแทน ฯลฯฉบับลงวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๐๑ นั้น ไม่รวมถึงคำว่า “เบี้ยเลี้ยง” ด้วยเพราะเบี้ยเลี้ยงเป็นเงินที่นายจ้างให้แก่ลูกจ้างในการที่ลูกจ้างออกไปปฏิบัติงานนอกสถานที่ทำงานของโจทก์ อันเป็นการสงเคราะห์ให้ลูกจ้างมิต้องมีภาระเพิ่มขึ้นในการทำงานนอกสถานที่นั้นตามประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับดังกล่าวข้อ ๓ ให้คำนิยามคำว่า “ค่าจ้าง” ไว้ว่าหมายถึงสินจ้างที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้าง ไม่ว่าสินจ้างนั้นจะเรียกชื่อหรือคำนวณอย่างไรก็ตาม แต่ไม่รวมถึงค่าล่วงเวลา ค่าล่วงเวลาในวันหยุดโบนัส หรือผลประโยชน์อย่างอื่นที่มีลักษณะเป็นการสงเคราะห์ลูกจ้าง”
เมื่อพิจารณาคำนิยามนี้ประกอบกับข้อเท็จจริงในสำนวนแล้วเห็นว่านายมีศักดิ์ จีวระผู้ตายได้รับเงินเดือนเพียงเดือนละ ๓๕๐ บาทซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็นค่าจ้างในปัจจุบัน ทั้งไม่ได้ส่วนสัดกับงานของพนักงานขับรถบรรทุกน้ำมันด้วย ดังนั้น จึงถือไม่ได้ว่าเฉพาะเงินเดือนนี้เท่านั้นที่เป็นค่าจ้างที่โจทก์จ่ายให้แก่ผู้ตาย ตรงกันข้ามเมื่อพิจารณาถึงอัตราเบี้ยเลี้ยงที่โจทก์จ่ายให้แก่พนักงานขับรถเพิ่มขึ้นอีกส่วนหนึ่ง โดยคำนวณตามเวลาที่ทำงานให้แก่โจทก์ด้วยแล้วย่อมเห็นได้ว่าสมควรแก่ปริมาณงานที่ทำ เบี้ยเลี้ยงนี้จึงถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของสินจ้างที่โจทก์จ่ายให้แก่ผู้ตายในฐานะเป็นลูกจ้างเช่นเดียวกับเงินเดือน เพราะฉะนั้น “เบี้ยเลี้ยง” จึงเป็น “ค่าจ้าง” ตามนัยในประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว หาใช่เป็นเงินสงเคราะห์ลูกจ้างที่ต้องมีภาระเพิ่มขึ้น เพราะต้องทำงานนอกสถานที่ดังที่โจทก์ฎีกาไม่
อนึ่ง ที่โจทก์ฎีกาต่อไปว่า ตามประมวลรัษฎากรนั้น เบี้ยเลี้ยงไม่ต้องเสียภาษีเงินได้อย่างค่าจ้าง จึงถือว่าเป็นค่าจ้างไม่ได้นั้น เห็นว่าประมวลรัษฎากรกับประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว เป็นกฎหมายคนละประเภทและมีวัตถุประสงค์ต่างกัน ทั้งไม่มีเหตุผลพิเศษที่แสดงให้เห็นว่า ผู้ร่างกฎหมายต้องการใช้คำว่า “เบี้ยเลี้ยง” และคำว่า “ค่าจ้าง”ในกฎหมายสองฉบับนั้นให้มีความหมายตรงกัน การตีความคำเหล่านี้จึงต้องตีความไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายแต่ละฉบับที่ปรากฏในตัวบทกฎหมายนั้น ๆ เอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว ก็ได้ให้คำนิยามคำว่า “ค่าจ้าง” ไว้เพื่อการคำนวณค่าทดแทนโดยเฉพาะอยู่แล้ว การตีความคำว่า “ค่าจ้าง”ในเรื่องนี้จึงต้องเป็นไปตามคำนิยามนั้น
ตามที่ศาลล่างทั้งสองศาลวินิจฉัยต้องกันมาว่า “เบี้ยเลี้ยง”ตามข้อเท็จจริงในคดีนี้เป็น “ค่าจ้าง” นั้น ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้จึงตกไปดุจกัน พิพากษายืน

Share