คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6746/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำพิพากษาศาลชั้นต้นจะถึงที่สุดก็ต่อเมื่อไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ คดีนี้แม้โจทก์จะเป็นผู้อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยให้หนักขึ้นและไม่รอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยก็ตาม คำพิพากษาศาลชั้นต้นสำหรับจำเลยก็ยังไม่ถึงที่สุด
ปัญหาเรื่องการกำหนดโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำผิดเป็นดุลพินิจของศาล ถ้าศาลชั้นต้นกำหนดมาไม่เหมาะสม และคดีขึ้นมาสู่ศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ย่อมแก้ได้เสมอเมื่อคดีส่วนของจำเลยคนนั้นยังไม่ถึงที่สุด ไม่ว่าฝ่ายใดจะยกขึ้นอุทธรณ์มาโดยเฉพาะหรือไม่ก็ตาม โดยคำนึงถึงพฤติการณ์ประกอบการกระทำความผิดศาลอุทธรณ์คงถูกห้ามเพียงแต่มิให้พิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย เว้นแต่โจทก์จะได้อุทธรณ์ในทำนองนั้นตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 212 เท่านั้น คดีนี้โจทก์เองเป็นผู้อุทธรณ์ทำนองขอให้เพิ่มโทษจำเลย และศาลอุทธรณ์ก็กำหนดโทษน้อยกว่าที่ศาลชั้นต้นวางไว้จึงไม่ต้องห้ามแต่อย่างใด และบทบัญญัติแห่ง ป.อ. มาตรา 55เป็นเรื่องกฎหมายให้อำนาจศาลจะกำหนดโทษจำคุกตามกฎหมายให้น้อยลง แต่คดีนี้เป็นเรื่องที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยให้น้อยลงกว่าศาลชั้นต้น จึงนำหลักเกณฑ์ตาม ป.อ. มาตรา 55 มาปรับแก่คดีนี้ไม่ได้
โจทก์มิได้บรรยายฟ้องอ้างเหตุว่าการที่จำเลยไม่อยู่ให้ความช่วยเหลือตามสมควร ไม่แสดงตัวและไม่แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันทีอันเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 78 แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ.2522 นั้น เป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย คดีจึงไม่อาจลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 160 วรรคสอง ได้ และปัญหานี้แม้คู่ความจะมิได้อุทธรณ์ฎีกา แต่เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสองประกอบมาตรา 225

Share