คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6741/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ผู้ร้องทั้งสองส่งมอบรถยนต์ให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ในวันที่ 18 ธันวาคม 2557 และในวันที่ 22 ธันวาคม 2557 โดยในระยะแรกผู้ร้องทั้งสองได้รับค่าเช่ารถยนต์ตามสัญญา ต่อมาเมื่อผู้ร้องทั้งสองไม่ได้รับค่าเช่า ผู้ร้องทั้งสองจึงทราบว่าผู้ร้องทั้งสองถูกฉ้อโกง ต่อมามีการดำเนินคดีอาญาแก่ผู้กระทำความผิด ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษผู้กระทำผิดฐานฉ้อโกง กรณีไม่อาจถือว่าในวันที่ผู้ร้องทั้งสองส่งมอบรถยนต์เป็นวันที่ความผิดสำเร็จอันจะถือเป็นวันวินาศภัยซึ่งจะส่งผลว่าผู้ร้องทั้งสองยื่นคำเสนอข้อพิพาทเมื่อพ้นกำหนดสองปี ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการซึ่งหากมีการยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ซึ่งหากมีการยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าวย่อมเป็นผลให้ผู้ร้องทั้งสองเสียประโยชน์ เพราะข้อเท็จจริงย่อมเป็นการยากต่อวิญญูชนคนทั่วไปที่จะทราบว่าถูกฉ้อโกงมาตั้งแต่วันที่มีการส่งมอบรถยนต์ไปตามสัญญา กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่า วันวินาศภัยให้นับตั้งแต่วันที่มีการส่งมอบรถยนต์ตามสัญญา การชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการย่อมขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงเห็นได้ว่า กรณีมีเหตุที่จะเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตามมาตรา 40 แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545

ย่อยาว

ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ และให้บริษัท ศรีอยุธยา เจนเนอรัล ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ใช้ค่าฤชาธรรมเนียม และค่าทนายความแทนผู้ร้องทั้งสอง
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษายกคำร้องของผู้ร้องทั้งสอง ให้ผู้ร้องทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียม และค่าทนายความแทนผู้คัดค้าน
ศาลมีคำสั่งงดสืบพยานผู้ร้องทั้งสองและผู้คัดค้าน แล้วมีคำสั่งให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 72, 74/2560 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 642-643/2560 ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า นางสาวพิมพ์วิไล ผู้ร้องที่ 1 เป็นเจ้าของรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า คันหมายเลขทะเบียน ผห 1795 นครราชสีมา นายกลยุทธ ผู้ร้องที่ 2 เป็นเจ้าของรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า คันหมายเลขทะเบียน กษ 549 นครราชสีมา ผู้ร้องที่ 1 และผู้ร้องที่ 2 ทำสัญญาประกันภัยรถยนต์ไว้กับผู้คัดค้าน รถยนต์ของผู้ร้องที่ 1 มีอายุคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย วันที่ 30 ธันวาคม 2557 สิ้นสุดวันที่ 30 ธันวาคม 2558 รถยนต์ของผู้คัดค้านที่ 2 ระยะเวลาคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย เริ่มตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558 สิ้นสุดวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2559 โดยผู้ร้องที่ 1 ส่งมอบรถยนต์เข้าร่วมกิจการกับห้างหุ้นส่วนจำกัด สามสหาย ทรานสปอร์ต เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2557 ผู้ร้องที่ 2 ส่งมอบรถยนต์วันที่ 22 ธันวาคม 2557 ภายหลังส่งมอบรถยนต์ห้างหุ้นส่วนจำกัด สามสหาย ทรานสปอร์ต ไม่ชำระค่าตอบแทนให้ผู้ร้องทั้งสองตามที่ตกลง จนกระทั่งผู้ร้องทั้งสองไปแจ้งความร้องทุกข์ ในวันที่ 13 พฤษภาคม 2558 และมีการจับกุมตัวนายบัญชา และนายเฉลิมเกียรติ ต่อมาศาลจังหวัดนครราชสีมา มีคำพิพากษาว่านายเฉลิมเกียรติ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรก
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่า ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการชอบหรือไม่ ผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่าในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3509/2558 ศาลชั้นต้น พิพากษาว่านายเฉลิมเกียรติ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 ฐานฉ้อโกงประชาชนโดยหลอกลวงผู้ร้องทั้งสองให้ส่งมอบรถยนต์ให้แก่จำเลยที่ 2 กับพวก เมื่อผู้ร้องทั้งสองส่งมอบรถยนต์ให้แก่จำเลยที่ 2 กับพวกรับไว้ ถือเป็นความผิดสำเร็จและถือว่าวันดังกล่าวเป็นวันวินาศภัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 882 วรรคหนึ่ง การที่ผู้ร้องทั้งสองได้รับค่าเช่ารถ มิได้มีผลให้อายุความสัญญาประกันภัยขยายออกไปจนถึงวันที่ผู้ร้องทั้งสองรู้หรือเชื่อว่ารถยนต์ของตนหาย ทั้งผู้ร้องทั้งสองจะถือเอาวันที่แจ้งความและรับคำร้องทุกข์เป็นวันวินาศภัยตามสัญญาประกันภัยมิได้การเรียกร้องค่าเสียหายเอาแก่ผู้คัดค้าน ต้องใช้อายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 882 วรรคหนึ่ง ดังนั้น แม้คดีอาญาดังกล่าวจะพิพากษาว่าการกระทำนายเฉลิมเกียรติเป็นความผิดฐานฉ้อโกงแต่ความรับผิดทางแพ่งตามกรมธรรม์ประกันภัยถือได้ว่าเป็นการลักทรัพย์โดยใช้กลอุบาย เมื่อผู้ร้องที่ 1 และผู้ร้องที่ 2 นำรถยนต์มอบให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด สามสหาย ทรานสปอร์ต ในวันที่ 18 ธันวาคม 2557 และในวันที่ 22 ธันวาคม 2557 ย่อมถือว่าวันดังกล่าวเป็นวันที่ความผิดสำเร็จ เป็นวันวินาศภัยตามสัญญาประกันภัยแล้ว เมื่อผู้ร้องยื่นคำเสนอข้อพิพาทเมื่อพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันวินาศภัย คำเสนอข้อพิพาทของผู้ร้องทั้งสองจึงขาดอายุความคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการชอบแล้วนั้น เห็นว่า การที่ผู้ร้องทั้งสองส่งมอบรถยนต์ให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด สามสหาย ทรานสปอร์ต ในวันที่ 18 ธันวาคม 2557 และในวันที่ 22 ธันวาคม 2557 โดยในระยะแรกผู้ร้องทั้งสองได้รับค่าเช่ารถยนต์ตามสัญญา ต่อมาเมื่อผู้ร้องทั้งสองไม่ได้รับค่าเช่า ผู้ร้องทั้งสองจึงทราบว่าผู้ร้องทั้งสองถูกฉ้อโกง ต่อมามีการดำเนินคดีอาญาแก่ผู้กระทำความผิด ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษผู้กระทำผิดฐานฉ้อโกงกรณีไม่อาจถือว่า ในวันที่ผู้ร้องทั้งสองส่งมอบรถยนต์เป็นวันที่ความผิดสำเร็จ อันจะถือว่าเป็นวันวินาศภัยซึ่งจะส่งผลว่า ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำเสนอข้อพิพาทเมื่อพ้นกำหนดสองปี ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการซึ่งหากมีการยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าวย่อมเป็นผลให้ผู้ร้องทั้งสองเสียประโยชน์ เพราะข้อเท็จจริงย่อมเป็นการยากต่อวิญญูชนคนทั่วไปที่จะทราบว่าถูกฉ้อโกงมาตั้งแต่วันที่มีการส่งมอบรถยนต์ไปตามสัญญา กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่า วันวินาศภัยให้นับตั้งแต่วันที่มีการส่งมอบรถยนต์ตามสัญญา การชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการย่อมขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงเห็นได้ว่า กรณีมีเหตุที่จะเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามาชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share