แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หนังสือมอบอำนาจของโจทก์มีข้อความว่า บริษัทไอบีเอ็มประเทศไทย จำกัด โดยนายพงศ์ศักดิ์ ตัณสถิตย์ ขอมอบอำนาจให้ นาย ว. เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนในกิจการดังต่อไปนี้ คือ ข้อ 1. ให้มีอำนาจดำเนินคดีแพ่ง อาญา และคดีล้มละลายกับบริษัทโรงแรมรอยัลเลควิล จำกัด ข้อ 2. ฟ้องคดีในเรื่อง ข้อหา ฐานความผิด กับบุคคลดังกล่าว ข้อ 1. ต่อศาลทั่วราชอาณาจักร ข้อความตามที่ระบุดังกล่าวเป็นเรื่องโจทก์มอบอำนาจเฉพาะการมิใช่มอบอำนาจทั่วไปและระบุให้ผู้รับมอบอำนาจฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1 เท่านั้น นาย ว. ผู้รับมอบอำนาจจึงไม่มีอำนาจแต่งตั้งทนายความให้ดำเนินคดีแทนจำเลยที่ 2 การที่ทนายโจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ด้วยจึงเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจหรือทำนอกเหนือขอบอำนาจที่โจทก์มอบหมายไว้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบเครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมอุปกรณ์คืนแก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน ๙๓,๔๙๒.๓๒ บาท พร้อมค่าตอบแทนการจัดการอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องถึงวันส่งมอบทรัพย์ที่เช่าคืนหรือใช้ราคาแทน และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน ๗๔๔,๙๑๓.๑๗ บาท พร้อมค่าตอบแทนการจัดการอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๕๗๐,๙๗๐.๙๔ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า นายวัชรพันธ์ เพ็ชร์สุทธิ์ ไม่มีอำนาจลงชื่อในคำฟ้องดำเนินคดีแก่จำเลยที่ ๒ เพราะโจทก์ไม่ได้มอบอำนาจให้นายวิศิษฏ์ สิตวานิช ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ ๒ คำฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ ๒ จึงไม่ชอบ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบเครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมอุปกรณ์ที่เช่าคืนแก่โจทก์ในสภาพที่สมบูรณ์ใช้การได้ดี ถ้าส่งคืนไม่ได้ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ราคาแทนเป็นเงิน ๙๓,๔๙๒.๓๒ บาท ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์เป็นเงิน ๑๘๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๑๘๐,๐๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๔๒) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ ๑๐,๐๐๐ บาท
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าขึ้นศาลแทนโจทก์ในศาลชั้นต้นตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ ๑ ทำสัญญาเช่าเครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมอุปกรณ์ หลายรายการจากโจทก์มีกำหนดระยะเวลา ๖๐ เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๓๕ ถึงวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ อัตราค่าเช่าเดือนละ ๒๑,๑๓๘.๙๒ บาท โดยเป็นค่าเช่า ๑๙,๗๕๖ บาท และค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม ๑,๓๘๒.๙๒ บาท เริ่มชำระงวดแรกวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๓๕ ในการนี้มีจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ภายหลังทำสัญญาจำเลยที่ ๑ ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าตั้งแต่งวดที่ ๔๖ เป็นต้นมา
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ ๒ มีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๒ หรือไม่ จำเลยที่ ๒ ฎีกาว่า โจทก์มอบอำนาจให้นายวิศิษฏ์ สิตวานิช มีอำนาจดำเนินคดีเฉพาะจำเลยที่ ๑ คนเดียว และนายวิศิษฏ์แต่งตั้ง นายวัชรพันธ์ เพ็ชร์สุทธิ์ เป็นทนายความดำเนินคดีนี้ นายวัชรพันธ์ จึงไม่มีอำนาจดำเนินคดีจำเลยที่ ๒ แต่นายวัชรพันธ์กลับฟ้องให้จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ให้ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ ซึ่งเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจหรือ ทำนอกเหนือขอบอำนาจที่โจทก์มอบหมายไว้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๒ เห็นว่า หนังสือมอบอำนาจ มีข้อความว่า บริษัทไอบีเอ็มประเทศไทย จำกัด โดยนายพงศ์ศักดิ์ ตัณสถิตย์ ขอมอบอำนาจให้นายวิศิษฏ์ สิตวานิช เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนในกิจการดังต่อไปนี้คือ ข้อ ๑. ให้มีอำนาจดำเนินคดีแพ่ง อาญา และคดีล้มละลายกับบริษัทโรงแรมรอยัลเลควิล จำกัด ข้อ ๒. ฟ้องคดีในเรื่อง ข้อหา ฐานความผิด กับบุคคลดังกล่าวข้อ ๑. ต่อศาลทั่วราชอาณาจักร
ข้อความตามที่ระบุดังกล่าวเป็นเรื่องโจทก์มอบอำนาจเฉพาะการมิใช่มอบอำนาจทั่วไป และระบุให้ผู้รับมอบอำนาจฟ้องเฉพาะจำเลยที่ ๑ เท่านั้น นายวิศิษฏ์จึงไม่มีอำนาจแต่งตั้งนายวัชรพันธ์เป็นทนายความให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ ๒ การที่นายวัชรพันธ์ทนายโจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ ๒ ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ด้วยจึงเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจหรือทำนอกเหนือขอบอำนาจที่โจทก์มอบหมายไว้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๒ เมื่อจำเลยที่ ๒ ไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ ๑ รับผิดต่อโจทก์ในคดีนี้แล้วจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ ๒ ในประเด็นอื่น เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ ๒ ต้องร่วมกับจำเลยที่ ๑ รับผิดต่อโจทก์ด้วย ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๒ และยกคำขออื่นของโจทก์ในส่วนที่ศาลชั้นต้น ไม่กำหนดให้ ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ ทั้งสามศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไป ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.