คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 674/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อโจทก์จำเลยได้ประนีประนอมยอมความกันและศาลพิพากษาตามยอมไปแล้ว ถ้าจำเลยขัดขวางไม่ยอมปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความโจทก์ก็ชอบที่จะขอให้ศาลบังคับจำเลยให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอมในคดีเดิม จะนำคดีเรื่องเดียวกันที่ศาลชี้ขาดแล้วมาฟ้องขอให้ศาลบังคับเป็นอีกคดีหนึ่งโดยอ้างเหตุว่าจำเลยขัดขวางไม่ยอมปฏิบัติตามคำพิพากษาในคดีเดิมซึ่งยังมีผลบังคับได้อยู่ ย่อมไม่เป็นการถูกต้อง ส่วนการที่โจทก์จำเลยได้ทำสัญญากันเองนอกเหนือจากสัญญาประนีประนอมยอมความอีกนั้น เมื่อโจทก์มาฟ้องเป็นคดีใหม่อ้างว่าจำเลยผิดสัญญาประนีประนอมยอมความและผิดข้อตกลงตามสัญญาที่ทำกันเอง เรื่องผิดสัญญาประนีประนอมยอมความหรือไม่อย่างไร เป็นเรื่องที่จะต้องว่ากล่าวกันในคดีเดิม ศาลย่อมวินิจฉัยให้ในคดีหลังเฉพาะในข้อที่ว่าจำเลยผิดสัญญาที่ทำกันเองหรือไม่ และจะบังคับตามคำขอของโจทก์ได้หรือไม่เท่านั้น
โจทก์จดทะเบียนสิทธิอาศัยและภารติดพันในอสังหาริมทรัพย์ให้แก่จำเลยตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว จำเลยจึงเป็นผู้ทรงทรัพยสิทธิ์นั้นโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1406 ได้บัญญัติให้สิทธิแก่ผู้อาศัยไว้ว่า ถ้าผู้ให้อาศัยมิได้ห้ามไว้โดยชัดแจ้ง ผู้อาศัยจะเก็บดอกผลธรรมดาหรือผลแห่งที่ดินมาใช้เพียงที่จำเป็นแก่ความต้องการของครัวเรือนก็ได้ และมาตรา 1429 บัญญัติว่าอสังหาริมทรัพย์อาจตกอยู่ในภาระติดพันอันเป็นเหตุให้ผู้รับประโยชน์มีสิทธิ ฯลฯ ได้ใช้และถือเอาซึ่งประโยชน์แห่งทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ ในเรื่องนี้โจทก์ได้จดทะเบียนภารติดพันในอสังหาริมทรัพย์ไว้ว่า โจทก์ตกลงยินยอมให้จำเลยอาศัยและทำกินในที่ดินพิพาทได้ตลอดชีวิต เมื่อโจทก์มิได้ตั้งรูปคดีที่จะฟ้องขอเพิกถอนสิทธิอาศัยและสิทธิภารติดพันในอสังหาริมทรัพย์หรือฟ้องโดยอาศัยบทบัญญัติต่างๆ ในมาตรา 1409 ศาลก็จะบังคับตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ที่ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยส่งมอบอาคารในบริเวณที่ดินที่จำเลยอาศัยให้แก่โจทก์และห้ามมิให้จำเลยเกี่ยวข้องกับอาคารดังกล่าวหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยมีคดีพิพาทกัน แต่ได้ประนีประนอมยอมความกันและศาลได้พิพากษาตามยอมแล้ว ตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจำเลยตกลงยินยอมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 855 และ 209 คืนให้แก่โจทก์โดยโจทก์จำเลยตกลงร่วมกันบริหารโรงเรียน 3 โรงเรียน โดยถือว่ากิจการและทรัพย์สินของโรงเรียนเป็นสิทธิและกรรมสิทธิ์อันร่วมกันของโจทก์จำเลย และเนื่องจากโจทก์จำเลยมีหนี้สินเกี่ยวกับการดำเนินกิจการโรงเรียนดังกล่าวอยู่ โจทก์จึงยินยอมเอาที่ดินดังกล่าวและที่ดินแปลงอื่นไปจำนองเอาเงินมาทดรองชำระหนี้นั้น และให้นำเงินรายได้จากการดำเนินกิจการโรงเรียนไปผ่อนชำระคืนให้แก่โจทก์ นอกจากนี้โจทก์ยังตกลงยินยอมให้จำเลยอาศัยอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 855 และ 209 เฉพาะส่วนที่ปลูกบ้านเลขที่ 486/3 เนื้อที่ 200 ตารางวา ได้จนตลอดชีวิต โดยจดทะเบียนสิทธิอาศัยให้แก่จำเลย และเมื่อหนี้ที่โจทก์ทดรองไปนั้นได้ชำระหมดแล้วโจทก์ยินยอมยกกิจการและทรัพย์สินของโรงเรียนทั้งสามให้เป็นสิทธิของจำเลยแต่ผู้เดียว หากฝ่ายใดผิดสัญญายอมให้อีกฝ่ายหนึ่งบังคับคดีให้เป็นไปตามสัญญานี้ หลังจากตกลงยอมความกันแล้วจำเลยประพฤติผิดสัญญาหลายประการ เช่นไม่ยอมให้โจทก์เข้าร่วมบริหารกิจการของโรงเรียน และจำเลยได้ปลูกอาคารเรือนไม้ชั้นเดียวสามห้องลงในที่ดินที่ยอมให้จำเลยอาศัยโดยมิได้ขออนุญาต จำเลยเพิ่งมาขออนุญาตภายหลังโดยเสนอว่า จะใช้อาคารดังกล่าวทำเป็นโรงเรียนอนุบาลและยินยอมให้โจทก์บริหารเก็บรายได้ทั้งหมดผ่อนชำระหนี้ตามสัญญายอม ทั้งยอมให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ โจทก์จึงอนุญาตไป แต่ต่อมาจำเลยดำเนินกิจการโรงเรียนอนุบาลดังกล่าวเก็บรายได้ทั้งหมดเป็นประโยชน์ของตนฝ่ายเดียว ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 855 เฉพาะเนื้อที่ 200 ตารางวา และบ้านเลขที่ 486/3 ห้ามจำเลยมิให้ดำเนินกิจการโรงเรียนอนุบาลดังกล่าว ทั้งส่งมอบอาคารโรงเรียนและอาคารอื่นที่ปลูกขึ้นในที่ดินที่จำเลยอาศัยให้แก่โจทก์ ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องต่อไป

จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้ประพฤติผิดสัญญายอม หากจำเลยผิดสัญญายอมก็ชอบที่โจทก์จะไปร้องขอในคดีที่ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันนั้นให้ศาลบังคับจำเลย จะมาฟ้องขับไล่หรือเลิกสัญญาในคดีนี้ไม่ได้

ศาลชั้นต้นสอบถามโจทก์จำเลย คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงบางประการศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้ว จึงให้งดสืบพยานซึ่งโจทก์แถลงคัดค้านไว้ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยส่งมอบอาคารเฉพาะที่จำเลยใช้ทำการเป็นโรงเรียนอนุบาลในบริเวณที่ดินที่จำเลยอาศัยในโฉนดเลขที่ 855 ให้แก่โจทก์คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์และจำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาตามฎีกาโจทก์ที่ว่า จะสมควรให้โจทก์ได้นำพยานหลักฐานเข้าสืบเพื่อแสดงว่าจำเลยได้ขัดขวางไม่ให้โจทก์เข้าดำเนินการบริหารโรงเรียนอนุสรณ์พาณิชย์ โรงเรียนอนุสรณ์พาณิชย์แผนกสามัญ และโรงเรียนอนุสรณ์ศึกษา ซึ่งโจทก์ถือว่าเป็นการผิดสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 359/2511 หรือไม่ โดยโจทก์อ้างเหตุผลว่าถ้าหากโจทก์สามารถนำสืบได้ว่าจำเลยมิได้ปฏิบัติตามสัญญายอมความและคำพิพากษาท้ายยอมแล้ว ย่อมเป็นเหตุให้โจทก์มีสิทธิบังคับตามคำขอท้ายฟ้องในคดีนี้ได้ทุกประการนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อโจทก์ก็ยืนยันอยู่ว่าจะขอสืบพยานเฉพาะในประเด็นที่ว่า จำเลยขัดขวางไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งมีคำพิพากษาบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลงอยู่แล้วเช่นนี้กรณีก็ย่อมจะเป็นที่เห็นได้ชัดอยู่ในตัวว่า ถ้าหากจำเลยขัดขวางไม่ยอมปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความอย่างใด โจทก์ก็ชอบที่จะขอให้ศาลบังคับจำเลยให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอมในคดีเดิมนั้นได้ (คือคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 359/2511) โจทก์จะนำคดีเรื่องเดียวกันที่ศาลชี้ขาดแล้วมาฟ้องขอให้ศาลบังคับเป็นอีกคดีหนึ่ง โดยอ้างเหตุว่าจำเลยขัดขวางไม่ยอมปฏิบัติตามคำพิพากษาในคดีเดิม ซึ่งยังมีผลบังคับได้อยู่ ย่อมไม่เป็นการถูกต้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนไม่อนุญาตให้โจทก์นำสืบตามข้ออ้างของโจทก์นั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น สำหรับกรณีที่เกี่ยวกับเรื่องโรงเรียนอนุบาลบ้านไทยอันเป็นเรื่องเกี่ยวกับข้อตกลงต่างหากจากสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีเดิมนั้น จะได้วินิจฉัยไปพร้อมกับฎีกาของจำเลยต่อไปนี้

คดีในส่วนที่เกี่ยวกับโรงเรียนอนุบาลบ้านไทย โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องให้ห้ามมิให้จำเลยดำเนินกิจการโรงเรียนอนุบาลบ้านไทยอีกต่อไป ให้จำเลยส่งมอบอาคารหลังที่ปลูกขึ้นเป็นโรงเรียนอนุบาลบ้านไทยและอาคารอื่น ๆบริเวณที่ดินที่จำเลยอาศัยในโฉนดเลขที่ 855 ห้ามมิให้จำเลยและบริวารเกี่ยวข้อง โดยโจทก์อ้างเหตุที่จะขอให้บังคับตามคำขอว่า เพราะจำเลยผิดสัญญาประนีประนอมยอมความและผิดข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.2ในข้อที่ว่า จำเลยได้ขัดขวางการที่โจทก์จะเข้าร่วมดำเนินกิจการโรงเรียนอนุบาลบ้านไทยก็ดี จำเลยไม่นำรายได้จากโรงเรียนอนุบาลบ้านไทยมาผ่อนชำระหนี้ของโจทก์ก็ดี จำเลยรื้อโรงรถและกรงเหล็กออกไปโดยไม่ได้รับอนุญาตก็ดีจำเลยปลูกสร้างอาคารขึ้นใหม่โดยไม่ได้รับอนุญาตก็ดี และประการสุดท้ายว่าจำเลยก่อกวนความสงบสุขของโจทก์และเพื่อนบ้านก็ดี เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ศาลฎีกาเห็นว่าจะต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่า ปัญหาเรื่องการผิดสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีเดิมกับการผิดข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยในภายหลังนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องบังคับแยกต่างหากจากกัน เรื่องผิดสัญญาประนีประนอมยอมความหรือไม่อย่างไรก็เป็นเรื่องที่จะต้องไปว่ากล่าวกันในคดีเดิม ดังที่ได้วินิจฉัยไว้แล้วข้างต้น ฉะนั้น จึงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในขณะนี้ที่เกี่ยวกับโรงเรียนอนุบาลบ้านไทยแต่เฉพาะในประเด็นที่ว่าจำเลยผิดสัญญาข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.2 หรือไม่ และจะบังคับให้ตามคำขอของโจทก์ได้หรือไม่เท่านั้น ซึ่งศาลฎีกาเห็นสมควรจะวินิจฉัยปัญหาข้อหลังที่ว่าโจทก์มีสิทธิที่จะบังคับตามคำขอของโจทก์ได้หรือไม่เสียก่อน

ข้อเท็จจริงรับกันแล้วว่า พฤติการณ์ต่าง ๆ ที่โจทก์อ้างเป็นเหตุเพื่อขอให้บังคับตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์นั้น เป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับที่ดิน 200 ตารางวา ซึ่งโจทก์ได้จดทะเบียนสิทธิอาศัยและภารติดพันในอสังหาริมทรัพย์ให้แก่จำเลยแล้ว ณ สำนักงานที่ดินจังหวัดธนบุรี จำเลยจึงเป็นผู้ทรงทรัพย์สิทธิดังกล่าวแล้วโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1406ได้บัญญัติให้สิทธิแก่ผู้อาศัยไว้ว่า ถ้าผู้ให้อาศัยมิได้ห้ามไว้โดยชัดแจ้ง ผู้อาศัยจะเก็บดอกผลธรรมดาหรือผลแห่งที่ดินมาใช้เพียงที่จำเป็นแก่ความต้องการของครัวเรือนก็ได้ และตามมาตรา 1429 บัญญัติว่า อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภารติดพันอันเป็นเหตุให้ผู้รับประโยชน์มีสิทธิ ฯลฯ ได้ใช้และถือเอาซึ่งประโยชน์แห่งทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ ในเรื่องนี้โจทก์ได้จดทะเบียนภารติดพันในอสังหาริมทรัพย์ไว้ว่า โจทก์ตกลงยินยอมให้จำเลยอาศัยและทำกินในที่ดินที่พิพาทได้ตลอดชีวิต คดีนี้โจทก์มิได้ตั้งรูปคดีที่จะฟ้องขอเพิกถอนสิทธิอาศัยและสิทธิภารติดพันในอสังหาริมทรัพย์ หรือฟ้องโดยอาศัยบทบัญญัติแห่งมาตราต่าง ๆ ในมาตรา 1409 ฉะนั้น ศาลจึงไม่อาจที่จะบังคับตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองไม่อนุญาตให้โจทก์สืบพยานในประเด็นข้อนี้ ชอบแล้ว แต่ที่พิพากษาต้องกันให้จำเลยส่งมอบอาคารไม้สองชั้นหนึ่งหลังและอาคารไม้ชั้นเดียวอีกหนึ่งหลังเฉพาะที่จำเลยใช้ทำการเป็นโรงเรียนอนุบาลบ้านไทยในบริเวณที่ดินที่จำเลยอาศัยในโฉนดเลขที่ 885 ให้แก่โจทก์ โดยห้ามมิให้จำเลยและบริวารเกี่ยวข้องกับอาคารสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวอีกต่อไปนั้น ยังหาต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาไม่ ฎีกาจำเลยฟังขึ้น

จึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า ให้ยกฟ้องของโจทก์เสียทั้งสิ้น

Share