คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6736/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ผู้เสียหายได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังเป็นผู้ผูกขาดให้เก็บรังนกได้แต่เพียงผู้เดียว ผู้เสียหายได้ปักป้ายแสดงเขตห้ามเข้าเกาะไว้ และได้ส่งคนงานเข้าไปเก็บรังนกชนิดขาวในถ้ำที่เกิดเหตุไปเสร็จแล้วตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุประมาณ 20 วัน คงเหลือแต่รังนกชนิดดำซึ่งติดอยู่ที่ผนังถ้ำตามธรรมชาติ ผู้เสียหายไม่ได้เก็บมารวบรวมไว้และไม่มียามคอยเฝ้าดูแลบริเวณถ้ำที่เกิดเหตุเหมือนในเวลาที่ผู้เสียหายทำการเก็บรังนกตามปกติดังนั้นตามข้อเท็จจริงดังกล่าวรังนกอีแอ่นในถ้ำตามเกาะดังถ้ำสถานที่เกิดเหตุคดีนี้จึงเป็นทรัพย์ไม่มีเจ้าของ แต่บุคคลอาจได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์โดยเข้ายึดถือเอา การที่ผู้เสียหายได้รับอนุญาตให้เก็บรังนกอีแอ่นเป็นการผูกขาดจากรัฐบาลผู้เสียหายมีสิทธิเพียงเข้าไปเก็บรังนกได้เท่านั้นแต่จะมีกรรมสิทธิ์ในรังนกอีแอ่นได้ต้องมีการเข้ายึดถือเอา เมื่อผู้เสียหายยังไม่ได้เข้ายึดถือเอาซึ่งรังนกของกลางผู้เสียหายจึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในรังนกของกลางการกระทำของจำเลยทั้งเก้าที่ร่วมกันเอารังนกอีแอ่นที่ผู้เสียหายได้รับสัมปทานไปจึงไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งเก้ากับพวกที่ยังจับตัวไม่ได้อีก 1 คน ได้สมคบกันวางแผนเพื่อกระทำความผิดลักทรัพย์รังนกอีแอ่นของบริษัทรังนกแหลมทอง (สยาม)จำกัด ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานเก็บรังนกอีแอ่นบนเกาะสี่ เกาะห้า ซึ่งความผิดฐานลักทรัพย์มีกำหนดโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไปและจำเลยทั้งเก้ากับพวกดังกล่าวได้ร่วมกันขึ้นไปบนเกาะรูสิบ (ถ้ำไทร) ซึ่งเป็นเขตห้ามตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเกาะที่นกอีแอ่นทำรังอยู่ตามธรรมชาติเป็นเขตห้าม พ.ศ. 2485 และตามใบแนบท้ายพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษามีผลใช้บังคับตามกฎหมายและจำเลยทั้งเก้ากับพวกได้ทราบความดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้ โดยจำเลยทั้งเก้ากับพวกไม่ใช่ผู้รับอนุญาตโดยจำเลยทั้งเก้ากับพวกได้ร่วมกันเก็บรังนกอีแอ่นบนเกาะรูสิบ (ถ้ำไทร) หมู่เกาะสี่ เกาะห้า ซึ่งเป็นเขตห้ามไม่ได้รับอนุญาต โดยใช้ไม้และเหล็กแทงรังนกอีแอ่นซึ่งติดอยู่ที่ผนังถ้ำให้หลุดออก อันเป็นการกระทำใด ๆ อันสามารถอาจเป็นอันตรายแก่นกอีแอ่นหรืออาจเป็นเหตุให้นกอีแอ่นละทิ้งไปจากเกาะรูสิบซึ่งเป็นเกาะที่นกอีแอ่นทำรังอยู่ตามธรรมชาติ และเป็นการกระทำความเสียหายแก่รังนกอีแอ่นที่มีอยู่ตามธรรมชาติบนเกาะและจำเลยทั้งเก้ากับพวกได้ร่วมกันลักรังนกอีแอ่นจำนวน 2 กิโลกรัม ราคา 14,000 บาท ของผู้เสียหายผู้ได้รับสัมปทานเก็บรังนกอีแอ่นไปเสียจากการครอบครอง โดยเจตนาทุจริต โดยจำเลยทั้งเก้ากับพวกใช้เรือมาดไม้ติดเครื่องยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดพาทรัพย์นั้น และเพื่อให้พ้นการจับกุม ภายหลังจากนั้นจำเลยทั้งเก้ากับพวกได้ร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งรังนกอีแอ่นชนิดดำ จำนวน 2 กิโลกรัม ราคา 14,000 บาท โดยรู้ว่ารังนกอีแอ่นดังกล่าวได้มาโดยการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. 2482 ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33,83, 91, 210, 213, 334, 335, 336 ทวิ พระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. 2482 มาตรา 4, 5, 6, 7, 9, 10, 12 พระราชกฤษฎีกากำหนดเกาะที่นกอีแอ่นทำรังอยู่ตามธรรมชาติเป็นเขตห้าม พ.ศ. 2485 มาตรา 3 และริบของกลาง

จำเลยทั้งเก้าให้การปฏิเสธ ต่อมาหลังจากสืบพยานโจทก์เสร็จแล้ว จำเลยทั้งเก้าให้การใหม่เป็นรับสารภาพฐานร่วมกันขึ้นไปบนเกาะที่นกอีแอ่นทำรังอยู่ตามธรรมชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต ฐานร่วมกันเก็บรังนกอีแอ่นโดยไม่ได้รับอนุญาตกระทำการใด ๆ อันอาจเป็นอันตรายแก่นกอีแอ่น การทำความเสียหายแก่รังนกอีแอ่นและฐานร่วมกันมีไว้ครอบครองซึ่งรังนกอีแอ่น แต่ปฏิเสธในข้อหาซ่องโจร และร่วมกันลักทรัพย์

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งเก้ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(1)(7) วรรคสาม ประกอบมาตรา 336 ทวิ พระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่นพ.ศ. 2482 มาตรา 4, 5 วรรคแรก 6, 7, 9, 10, 12 พระราชกฤษฎีกากำหนดเกาะที่นกอีแอ่นทำรังอยู่ตามธรรมชาติเป็นเขตห้าม พ.ศ. 2485 มาตรา 3 การกระทำของจำเลยทั้งเก้าเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันลักทรัพย์ในเวลากลางคืนโดยใช้ยานพาหนะให้จำคุก 6 ปี ฐานร่วมกันเก็บรังนกอีแอ่นโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุกคนละ 1 ปี ฐานร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งรังนกอีแอ่นอันตนรู้ว่าได้มาจากการกระทำความผิด จำคุกคนละ 1 ปี ฐานร่วมกันเข้าไปหรือขึ้นไปบนเกาะที่นกอีแอ่นทำรังอยู่ตามธรรมชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับคนละ 90 บาท ข้อหาร่วมกันลักทรัพย์จำเลยทั้งเก้าให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน ส่วนข้อหาอื่นจำเลยทั้งเก้ารับสารภาพในชั้นพิจารณา เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ข้อหาร่วมกันลักทรัพย์ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสาม คงจำคุกคนละ 4 ปี ส่วนข้อหาอื่นลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกข้อหาละ 6 เดือน และปรับคนละ 45 บาท รวมจำคุกคนละ 5 ปี และปรับคนละ 45 บาท ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก ริบของกลาง

จำเลยทั้งเก้าอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งเก้ามีความผิดตามพระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. 2482 มาตรา 4, 5 วรรคแรก, 7, 9, 10 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งเก้าเป็นการกระทำผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันเก็บรังนกอีแอ่นโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุกคนละ 1 ปี ปรับคนละ 1,000 บาท ฐานร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งรังนกอีแอ่นอันตนรู้ว่าได้มาจากการกระทำผิดจำคุกคนละ 1 ปี ปรับคนละ 1,000 บาท รวมเป็นจำคุกคนละ 2 ปีและปรับคนละ 2,000 บาท จำเลยทั้งเก้าให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 1 ปี และปรับคนละ 1,000 บาท โทษจำคุกให้รอไว้คนละ 3 ปี กำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติโดยให้จำเลยทั้งเก้ารายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติจังหวัดพัทลุงทุก 3 เดือนต่อครั้ง มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้ยกฟ้องโจทก์ข้อหาลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1)(7) วรรคสาม ประกอบมาตรา 336 ทวิ และข้อหาเข้าไปหรือขึ้นไปบนเกาะที่นกอีแอ่นทำรังอยู่ตามธรรมชาติโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. 2482 มาตรา 6, 12นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ฎีกาข้อเดียวว่า จำเลยทั้งเก้ามีความผิดฐานลักทรัพย์เพราะผู้เสียหายได้แสดงเจตนายึดถือรังนกเพื่อตนโดยการครอบครองหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงยุติตามฎีกาโจทก์และตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัย โดยโจทก์ไม่ได้ฎีกาโต้แย้งว่า ผู้เสียหายได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังเป็นผู้ผูกขาดให้เก็บรังนกได้แต่เพียงผู้เดียว ผู้เสียหายได้ปักป้ายแสดงเขตห้ามเข้าเกาะไว้ ผู้เสียหายได้ส่งคนงานเข้าไปเก็บรังนกชนิดขาวในถ้ำที่เกิดเหตุไปเสร็จแล้วตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุประมาณ 20 วัน คงเหลือแต่รังนกชนิดดำซึ่งติดอยู่ที่ผนังถ้ำตามธรรมชาติ ผู้เสียหายไม่ได้เก็บมารวบรวมไว้และไม่มียามคอยเฝ้าดูแลบริเวณถ้ำที่เกิดเหตุเหมือนในเวลาที่ผู้เสียหายทำการเก็บรังนกตามปกติ ดังนั้นตามข้อเท็จจริงดังกล่าวรังนกอีแอ่นในถ้ำตามเกาะดังถ้ำของสถานที่เกิดเหตุคดีนี้เป็นทรัพย์ไม่มีเจ้าของ แต่บุคคลอาจได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์โดยเข้ายึดถือเอา การที่ผู้เสียหายได้รับอนุญาตให้เก็บรังนกอีแอ่นเป็นการผูกขาดจากรัฐบาล ผู้เสียหายมีสิทธิเพียงเข้าไปเก็บรังนกได้เท่านั้น แต่จะมีกรรมสิทธิ์ในรังนกอีแอ่นได้ต้องมีการเข้ายึดถือเอา เมื่อผู้เสียหายยังไม่ได้เข้ายึดถือเอาซึ่งรังนกของกลางผู้เสียหายจึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในรังนกของกลาง การกระทำของจำเลยทั้งเก้าจึงไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามที่โจทก์ฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share