แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ขณะที่ผู้เสียหายทั้งสามเดินไปตามทางเท้า จำเลยขับรถจักรยานยนต์เข้ามาจอดเทียบใกล้ ๆ และแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจขอตรวจบัตรประจำตัวและขอค้นตัวหรือตรวจหายาเสพติดให้โทษ แล้วพูดจาขู่บังคับให้ส่งมอบเงินและทรัพย์สินมีค่าแก่ตนหากขัดขืนจะยิงให้ตาย พร้อมกับทำท่าจะล้วงเอาอาวุธออกมาผู้เสียหายทั้งสามเกิดความกลัวผู้เสียหายที่ 2 กับที่ 3 จึงส่งกระเป๋าเงินให้จำเลยล้วงหยิบเอาเงินสดในกระเป๋าไป ส่วนผู้เสียหายที่ 1 ถอดนาฬิกาข้อมือให้จำเลย จากนั้นจำเลยก็หลบหนีไปการกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคหนึ่งแล้ว จำเลยจึงมีความผิดฐานชิงทรัพย์ มิใช่กรรโชกทรัพย์ทั้งนี้โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่า จำเลยจะเป็นผู้ล้วงหยิบเอาทรัพย์นั้นเองหรือผู้เสียหายเป็นผู้หยิบส่งให้ไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ลักทรัพย์นาฬิกาข้อมือยี่ห้อมิโด 1 เรือนราคา 3,000 บาท ของนายฐกัด แสงปัญญาทีป ผู้เสียหายที่ 1 กับเงินสด 360 บาท ของนายทักษิณ ประทุมสัย ผู้เสียหายที่ 2 และเงินสด 190 บาท ของนายไกรศร พรหมศรีทอง ผู้เสียหายที่ 3 ไปโดยทุจริตและด้วยการขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์ ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้ ปกปิดการกระทำความผิดนั้น หรือให้พ้นจากการจับกุมโดยในการชิงทรัพย์ดังกล่าวจำเลยได้ลวงว่าตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจและได้ใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อกระทำผิด ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 93, 335, 339, 340 ตรี และเพิ่มโทษจำเลย กับให้จำเลยคืนเงิน 360 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 2 และ 190 บาทแก่ผู้เสียหายที่ 3
จำเลยให้การรับสารภาพ กับรับว่าเคยต้องโทษและพ้นโทษมาแล้วจริงตามฟ้อง แต่ปฏิเสธว่ามิได้กระทำผิดโดยลวงว่าเป็นเจ้าพนักงานและเมื่อสืบพยานโจทก์ประกอบคำรับสารภาพไปบ้างแล้ว จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 340 ตรี ลงโทษจำคุก 20 ปี เพิ่มโทษกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 93 เป็นจำคุก 30 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเมื่อสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว คำรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสามคงจำคุก 20 ปีให้จำเลยคืนเงิน 360 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 2 และจำนวน 190 บาทแก่ผู้เสียหายที่ 3
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 วรรคสอง ลงโทษจำคุก 6 ปีเพิ่มโทษกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 93 เป็นจำคุก9 ปี ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่งคงจำคุก 4 ปี 6 เดือน ยกฟ้องความผิดฐานชิงทรัพย์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในปัญหาข้อกฎหมายว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตามฟ้องหรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงมาว่า วันเกิดเหตุเวลาประมาณ 13 นาฬิกา ขณะที่ผู้เสียหายทั้งสามเดินไปตามทางเท้าซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับกองปราบปราม แขวงลาดยาวเขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร จำเลยได้ขับรถจักรยานยนต์เข้ามาจอดเทียบใกล้ ๆ ผู้เสียหายทั้งสามและแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจขอตรวจบัตรประจำตัวและขอค้นตัวหรือตรวจหายาเสพติดให้โทษจากผู้เสียหายทั้งสาม แล้วพูดจาขู่บังคับให้ส่งมอบเงินและทรัพย์สินมีค่าแก่ตน หากขัดขืนจะยิงให้ตาย พร้อมกับทำท่าจะล้วงเอาอาวุธออกมา ผู้เสียหายทั้งสามเกิดความกลัว ผู้เสียหายที่ 2 กับที่ 3จึงส่งกระเป๋าเงินให้ จำเลยล้วงหยิบเอาเงินสดในกระเป๋าไปจำนวน 360 บาท และ 190 บาท ตามลำดับ ส่วนผู้เสียหายที่ 1ก็ถอดนาฬิกาข้อมือให้จำเลยไปด้วย จากนั้นจำเลยก็ขับรถจักรยานยนต์หลบหนีไป ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวย่อมแสดงให้เห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นการขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคหนึ่งแล้ว จำเลยจึงมีความผิดฐานชิงทรัพย์ ทั้งนี้โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่า จำเลยจะเป็นผู้ล้วงหยิบเอาทรัพย์นั้นเองหรือผู้เสียหายเป็นผู้หยิบส่งให้ไป และเมื่อจำเลยได้ทรัพย์แล้ว จำเลยได้ขับรถจักรยานยนต์หลบหนีไปก็เป็นการใช้ยานพาหนะเพื่อทำผิดหรือพาทรัพย์นั้นไปหรือเพื่อให้พ้นการจับกุม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรี ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานกรรโชกทรัพย์และไม่เป็นความผิดในลักษณะฉกรรจ์นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 340 ตรี ลงโทษจำคุก 16 ปีเพิ่มโทษกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 93 เป็นจำคุก24 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ เห็นสมควรลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 12 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์