คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6722/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

นายจ้างมีหน้าที่ดำเนินการสอบสวนลูกจ้างที่ถูกกล่าวหาโดยตรวจสอบรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงครบถ้วนในการพิจารณาว่าจะลงโทษทางวินัยต่อลูกจ้างผู้นั้นหรือไม่ ซึ่งการสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงนั้นจะต้องมีกระบวนการที่เป็นธรรมให้โอกาสลูกจ้างที่ถูกกล่าวหาชี้แจงแสดงหลักฐานโดยปราศจากการกลั่นแกล้งบังคับข่มขู่ การที่นายจ้างฝ่าฝืนไม่ดำเนินการดังกล่าวและทำให้ลูกจ้างผู้นั้นได้รับความเสียหาย ถือได้ว่านายจ้างผิดสัญญาจ้างและอาจถูกลูกจ้างฟ้องร้องให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 575 ทั้งยังกระทบต่อระบบการระงับความขัดแย้งหรือข้อพิพาทแรงงานในองค์กรของจำเลยอันเป็นผลให้ลูกจ้างและบุคลากรหรือบุคคลอื่นที่รับทราบขาดความไว้วางใจในการบริหารจัดการองค์กรของจำเลย เมื่อโจทก์มีตำแหน่งเป็นผู้จัดการฝ่ายขายภาคพื้นอินโดจีนซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงของจำเลยและมีผู้ใต้บังคับบัญชาจำนวนมากได้รับมอบหมายจากจำเลยให้สอบสวนกรณีการแจกรางวัลชุดโฮมเธียเตอร์ซึ่งเกี่ยวข้องกับ พ. ลูกจ้างที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์ การสอบสวนของโจทก์จึงเป็นการกระทำในนามของจำเลยซึ่งเป็นนายจ้าง โจทก์มีหน้าที่ดำเนินการสอบสวน พ. ลูกจ้างที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นธรรมปราศจากการกลั่นแกล้งบังคับข่มขู่รวมทั้งเปิดโอกาสให้ พ. ชี้แจงแสดงหลักฐาน แต่โจทก์ดำเนินการสอบสวนโดยไม่รับฟังคำชี้แจงของ พ. และไม่นำเสนอหลักฐานของห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ทั้งที่เป็นหลักฐานสำคัญที่ยืนยันว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. แจกรางวัลชุดโฮมเธียเตอร์ให้แก่ร้าน ศ. ไปโดยลำพัง โดย พ. ไม่ได้เบียดบังเอารางวัลชุดโฮมเธียเตอร์ไป และโจทก์กลั่นแกล้งกล่าวหา พ. ว่าเป็นผู้กระทำผิดแล้วให้เขียนใบลาออก ทำให้ พ. ไม่ได้รับความเป็นธรรม ดังนี้โจทก์ซึ่งเป็นผู้บริหารของจำเลยย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าจำเลยอาจถูกฟ้องร้องให้รับผิดจากการกระทำของโจทก์ได้ และเล็งเห็นผลได้อีกว่าจำเลยอาจได้รับผลกระทบต่อระบบการบริหารจัดการข้อพิพาทแรงงานและระบบการบริหารงานบุคคลในองค์กร กรณีมิใช่เป็นความขัดแย้งหรือการกลั่นแกล้งที่เป็นเพียงเรื่องส่วนตัวระหว่างลูกจ้างด้วยกันที่ไม่มีผลกระทบต่อจำเลยผู้เป็นนายจ้าง กรณีดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายซึ่งเป็นข้อยกเว้นที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (2) โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยจากจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 150,481 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 1,472,000 บาท และเงินสมทบที่จำเลยต้องส่งเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 152,615.98 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ค่าจ้าง 49,070 บาท และค่าชดเชย 785,120 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 709,120 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 16 สิงหาคม 2554) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2548 โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลย ต่อมาวันที่ 15 สิงหาคม 2554 จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ โจทก์ได้รับเงินเดือนอัตราสุดท้ายเดือนละ 82,140 บาท และจำเลยจ่ายค่าสึกหรอรถให้แก่โจทก์เป็นประจำทุกเดือนเดือนละ 6,500 บาท ถือว่าค่าสึกหรอรถเป็นค่าจ้าง ส่วนค่าน้ำมันรถและค่าโทรศัพท์ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับทุกเดือนจึงไม่เป็นค่าจ้าง ค่าผ่อนงวดรถยนต์ไม่เป็นค่าจ้างเพราะเป็นข้อตกลงแยกต่างหากในการเช่าซื้อรถยนต์ โจทก์จึงได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเป็นเงินเดือนและค่าสึกหรอรถรวมเดือนละ 88,640 บาท โจทก์ดำเนินการจัดรายการส่งเสริมการขายซึ่งห้างหุ้นส่วนจำกัดชุมพรเอกฟ้าเข้าร่วมโดยอนุญาตให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดชุมพรเอกฟ้าเลือกมอบรางวัลให้แก่ลูกค้าได้เอง ไม่ต้องใช้วิธีจับสลาก ห้างหุ้นส่วนจำกัดชุมพรเอกฟ้าเลือกมอบรางวัลชุดโฮมเธียเตอร์ให้แก่ร้านศรีสวัสดิ์ซุปเปอร์เพราะเป็นร้านที่ซื้อผลิตภัณฑ์ของจำเลยจำนวนมาก แต่มีความผิดพลาดในการแนบสำเนาบัตรประชาชนของบุคคลอื่นที่ไม่ได้รับรางวัลชุดโฮมเธียเตอร์จึงมีการแจ้งมายังจำเลย จำเลยมอบหมายให้โจทก์สอบสวน โจทก์สอบสวนแล้วกล่าวหาว่านางเพ็ญรัตน์ พนักงานขาย สมรู้ร่วมคิดในการแจกรางวัลโดยเบียดบังยักยอกเอารางวัลชุดโฮมเธียเตอร์ไปให้แก่ญาติพี่น้องของตนเอง โจทก์ไม่ยอมรับฟังเหตุผลที่นางเพ็ญรัตน์ชี้แจงและให้นางเพ็ญรัตน์เขียนใบลาออกแต่นางเพ็ญรัตน์ไม่ยอม ต่อมาเมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดชุมพรเอกฟ้าทำหนังสือชี้แจงว่านางเพ็ญรัตน์ไม่ได้เกี่ยวข้อง โจทก์ก็ไม่นำเสนอต่อผู้บริหาร นางเพ็ญรัตน์ต้องขอความเป็นธรรม จำเลยสอบสวนแล้วเห็นว่าโจทก์กลั่นแกล้งนางเพ็ญรัตน์ทำให้นางเพ็ญรัตน์ไม่ได้รับความเป็นธรรม แล้ววินิจฉัยว่า การส่งเสริมการขายที่โจทก์จัดขึ้นเพื่อประโยชน์ในการขายสินค้าแก่จำเลย ไม่ปรากฏว่าโจทก์มีเจตนาทำให้จำเลยได้รับความเสียหายหรือทุจริตต่อหน้าที่ วิธีการคิดในการส่งเสริมการขายของแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกันได้ ส่วนการที่โจทก์กลั่นแกล้งนางเพ็ญรัตน์ผู้ใต้บังคับบัญชาก็เป็นการกระทำต่อลูกจ้างด้วยกันจึงไม่เข้าข้อยกเว้นที่จำเลยจะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ แต่การกระทำของโจทก์ทำให้นางเพ็ญรัตน์ผู้ใต้บังคับบัญชาไม่ได้รับความเป็นธรรมซึ่งเป็นเหตุทำให้จำเลยขาดความไว้วางใจในตัวโจทก์ กรณีมีเหตุผลสมควรที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้ ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และเป็นเหตุให้จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ เมื่อกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกลุ่มบริษัทไอ.พี.จดทะเบียนแล้ว โจทก์ต้องฟ้องเรียกเงินสมทบพร้อมผลประโยชน์จากกองทุนดังกล่าว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเงินสมทบพร้อมผลประโยชน์จากจำเลย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า โจทก์จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ได้รับมอบหมายให้ดูแลงานขายภายในประเทศมีอำนาจบังคับบัญชาพนักงานขายทั่วประเทศจึงเป็นนายจ้างผู้รับมอบตามมาตรา 5 (2) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 เมื่อโจทก์กลั่นแกล้งกล่าวหาว่านางเพ็ญรัตน์ผู้ใต้บังคับบัญชาเบียดบังเอารางวัลชุดโฮมเธียเตอร์ไปแล้วให้เขียนใบลาออกโดยไม่มีการสอบสวนตามขั้นตอน ซึ่งแม้จะเป็นการกระทำต่อลูกจ้างด้วยกันแต่ก็ส่งผลกระทบต่อระบบความน่าเชื่อในการบริหารงานบุคคลของจำเลยและนางเพ็ญรัตน์อาจฟ้องจำเลยได้ จึงเป็นการจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายนั้น เห็นว่า นายจ้างมีหน้าที่ดำเนินการสอบสวนลูกจ้างที่ถูกกล่าวหาโดยตรวจสอบรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงครบถ้วนในการพิจารณาว่าจะลงโทษทางวินัยต่อลูกจ้างผู้นั้นหรือไม่ ซึ่งการสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงนั้นจะต้องมีกระบวนการที่เป็นธรรมให้โอกาสลูกจ้างที่ถูกกล่าวหาชี้แจงแสดงหลักฐานโดยปราศจากการกลั่นแกล้งบังคับข่มขู่ การที่นายจ้างฝ่าฝืนไม่ดำเนินการดังกล่าวและทำให้ลูกจ้างผู้นั้นได้รับความเสียหายถือได้ว่านายจ้างผิดสัญญาจ้างและอาจถูกลูกจ้างฟ้องร้องให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 ทั้งยังกระทบต่อระบบการระงับความขัดแย้งหรือข้อพิพาทแรงงานในองค์กรของจำเลยอันเป็นผลให้ลูกจ้างและบุคลากรหรือบุคคลอื่นที่รับทราบขาดความไว้วางใจในการบริหารจัดการองค์กรของจำเลย คดีนี้เมื่อโจทก์มีตำแหน่งเป็นผู้จัดการฝ่ายขายภาคพื้นอินโดจีนซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงของจำเลยและมีผู้ใต้บังคับบัญชาจำนวนมากได้รับมอบหมายจากจำเลยให้สอบสวนกรณีการแจกรางวัลชุดโฮมเธียเตอร์ซึ่งเกี่ยวข้องกับนางเพ็ญรัตน์ลูกจ้างที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์ การสอบสวนของโจทก์จึงเป็นการกระทำในนามของจำเลยซึ่งเป็นนายจ้าง โจทก์มีหน้าที่ดำเนินการสอบสวนนางเพ็ญรัตน์ลูกจ้างที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นธรรมปราศจากการกลั่นแกล้งบังคับข่มขู่รวมทั้งเปิดโอกาสให้นางเพ็ญรัตน์ชี้แจงแสดงหลักฐาน แต่โจทก์ดำเนินการสอบสวนโดยไม่รับฟังคำชี้แจงของนางเพ็ญรัตน์และไม่นำเสนอหลักฐานของห้างหุ้นส่วนจำกัดชุมพรเอกฟ้าต่อผู้บริหารที่มีอำนาจตัดสินใจของจำเลยทั้งที่เป็นหลักฐานสำคัญที่ยืนยันว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดชุมพรเอกฟ้าแจกรางวัลชุดโฮมเธียเตอร์ให้แก่ร้านศรีสวัสดิ์ซุปเปอร์ไปโดยลำพัง โดยนางเพ็ญรัตน์ไม่ได้เบียดบังเอารางวัลชุดโฮมเธียเตอร์ไป และโจทก์กลั่นแกล้งกล่าวหานางเพ็ญรัตน์ว่าเป็นผู้กระทำผิดแล้วให้เขียนใบลาออก ทำให้นางเพ็ญรัตน์ไม่ได้รับความเป็นธรรม เช่นนี้ โจทก์ซึ่งเป็นผู้บริหารของจำเลยย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าจำเลยอาจถูกฟ้องร้องให้รับผิดจากการกระทำของโจทก์ได้ และเล็งเห็นผลได้อีกว่าจำเลยอาจได้รับผลกระทบต่อระบบการบริหารจัดการข้อพิพาทแรงงานและระบบการบริหารงานบุคคลในองค์กร กรณีมิใช่เป็นความขัดแย้งหรือการกลั่นแกล้งที่เป็นเพียงเรื่องส่วนตัวระหว่างลูกจ้างด้วยกันที่ไม่มีผลกระทบต่อจำเลยผู้เป็นนายจ้าง กรณีดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายซึ่งเป็นข้อยกเว้นที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (2) โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยจากจำเลย ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ว่าการที่โจทก์ฝ่าฝืนคำสั่งของจำเลยอนุญาตให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดชุมพรเอกฟ้าแจกของรางวัลโดยไม่ใช้วิธีจับสลากเป็นการจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง อุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยข้อนี้จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เสียทั้งหมด

Share