แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์เพียงแต่ไม่ได้ไประวังแนวเขต เป็นเหตุให้ถูกผู้นำรังวัดชี้แนวเขตรุกล้ำเข้าไปในที่ดินมีโฉนดส่วนของโจทก์ และเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดตามที่ถูกนำชี้และทำรูปแผนที่ในโฉนดรุกล้ำเข้าไปทับรูปแผนที่ในโฉนดของโจทก์เป็นเพียงความเสียหายเกิดขึ้นแก่โจทก์และโจทก์อยู่ในฐานะผู้ถูกโต้แย้งสิทธิที่จะต้องนำคดีขึ้นสู่ศาล ไม่เป็นเหตุถึงขนาดทำให้โจทก์เสียกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ถูกรุกล้ำหรือไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินและแก้ไขรูปแผนที่ในที่ดินที่ถูกรุกล้ำ
กรมที่ดินจำเลยที่ 2 ออกรูปแผนที่โฉนดของจำเลยที่ 1 รุกล้ำที่ดินโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 2 ย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 เพื่อให้จำเลยที่ 2 ดำเนินการแก้รูปแผนที่ในโฉนดให้ถูกต้องตามความเป็นจริงได้
กำหนดระยะเวลา 90 วัน ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 69 ทวิ วรรคห้า เป็นเพียงกำหนดระยะเวลาในกรณีที่คู่กรณีเข้าไปรับการไกล่เกลี่ยจากเจ้าพนักงานที่ดินและหากไม่เห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานที่ดินก็ให้นำคดีไปฟ้องต่อศาลภายในกำหนดระยะเวลา 90 วัน หากไม่ไปยื่นฟ้องภายในกำหนดระยะเวลาก็ให้ถือว่าผู้ขอรังวัดสอบเขตไม่ประสงค์ที่จะให้มีการรังวัดสอบเขตต่อไป แต่หากไปยื่นฟ้องต่อศาลภายในกำหนดระยะเวลา ก็ให้เจ้าพนักงานที่ดินรอฟังคำวินิจฉัยของศาลเพื่อดำเนินการต่อไปจึงไม่ใช่กำหนดอายุความในการฟ้องคดี
โจทก์ยื่นฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินและให้แก้ไขรูปแผนที่โฉนดที่ดินให้ถูกต้องตามความเป็นจริง ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเกี่ยวกับอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความทั่วไปบังคับคือมีกำหนดระยะเวลา 10 ปี ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 28692 เนื้อที่ 2 ไร่ 3 งาน 93 ตารางวา โดยที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศตะวันตกติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ 28669 และโฉนดเลขที่ 28669 ดังกล่าว อยู่ติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ 28659 ที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2536 จำเลยที่ 1 ขอให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ซึ่งอยู่ ณ สำนักงานที่ดินจังหวัดลำปาง ทำการแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 28669 และนำพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ทำการวัดสอบเขตรุกล้ำที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 28692 เนื้อที่ 27 ตารางวา พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ได้ทำการแก้รูปแผนที่ตลอดจนจำนวนเนื้อที่ของที่ดินโฉนดเลขที่ 28669 ให้มีเนื้อที่เพิ่มขึ้น โดยทับที่ดินโฉนดเลขที่ 28692 ของโจทก์ เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ตรงต่อความจริง ทำให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 28692 ของโจทก์เนื้อที่ขาดหายไป 27 ตารางวา ต่อมาวันที่ 22 พฤศจิกายน 2538 จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 28669 ของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีที่ดินของโจทก์จำนวน 27 ตารางวา รวมอยู่ด้วย ซึ่งจำเลยที่ 2 ได้ดำเนินการจดทะเบียนโอนให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ให้แก่จำเลยที่ 3 โดยโจทก์ไม่ยินยอม โจทก์คัดค้านต่อจำเลยทั้งสี่แล้ว วันที่ 9 ตุลาคม 2541 โจทก์ขอให้จำเลยที่ 2 ทำการรังวัดสอบเขตที่ดินโฉนดเลขที่ 28692 ของโจทก์ ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 บุกรุกที่ดินโฉนดเลขที่ 28692 ของโจทก์ เนื้อที่ 27 ตารางวาจริง โจทก์แจ้งให้จำเลยทั้งสี่ดำเนินการแก้ไขโฉนดที่ดินให้ถูกต้อง แต่จำเลยทั้งสี่เพิกเฉย ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 28669 ตำบลพิชัย อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง ในส่วนที่ดินของโจทก์ตามคำขอลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2538 ของจำเลยที่ 1 และให้จำเลยที่ 2 และที่ 4 ร่วมกันแก้ไขรูปแผนที่ในโฉนดที่ดินเลขที่ 28669 ให้เป็นไปตามความเป็นจริง โดยหักเนื้อที่ที่ดินในส่วนของโจทก์ออกจากโฉนดที่ดินดังกล่าวหากจำเลยที่ 2 และที่ 4 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนา ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจากการที่โจทก์ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของโจทก์ เนื้อที่ 27 ตารางวา ในอัตราเดือนละ 3,000 บาท ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างในที่ดินดังกล่าวออกไป และห้ามจำเลยที่ 1 และที่ 3 รวมทั้งบริวารขัดขวางการใช้ที่ดินในส่วนดังกล่าวของโจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 28669, 28659 เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 จริง โดยจำเลยที่ 1 ซื้อมาโดยชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ จำเลยที่ 1 ไม่เคยรุกล้ำที่ดินของโจทก์ แต่โจทก์เองกลับรุกล้ำที่ดินของจำเลยที่ 1 และที่ดินข้างเคียงฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โดยโจทก์บรรยายฟ้องว่า ที่ดินของโจทก์อยู่ติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ 28869 ของจำเลยที่ 1 แต่ที่ดินโฉนดเลขที่ดังกล่าวไม่ใช่ของจำเลยที่ 1 และโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 รุกล้ำที่ดินของโจทก์ด้านทิศตะวันออกของที่ดินโฉนดเลขที่ 29692 ที่ดินโฉนดเลขที่ดังกล่าวไม่ใช่ของโจทก์ จำเลยที่ 1 อ่านฟ้องแล้วไม่ทราบว่าที่ดินแปลงไหนเป็นที่ดินพิพาท ส่วนที่โจทก์เรียกค่าเสียหายเดือนละ 3,000 บาท โดยโจทก์ไม่บรรยายฟ้องว่า โจทก์เสียหายอย่างไร และจำเลยที่ 1 กับพวกต้องรับผิดในฐานความผิดใด หากฟังว่าจำเลยที่ 1 ละเมิดบุกรุกฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 4 ให้การทำนองเดียวกันว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 4 เนื่องจากจำเลยที่ 2 และที่ 4 ไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการสั่งแก้ไขแผนที่หรือเนื้อที่ตามหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน เพราะประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 69 ทวิ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2528 บัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานที่ดินในท้องที่โดยเฉพาะและโจทก์จะต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว คือ โจทก์ต้องยื่นคำขอสอบเขตที่ดินเสียก่อน หากที่ดินข้างเคียงคัดค้านแนวเขต เจ้าพนักงานที่ดินประจำท้องที่ก็มีอำนาจสอบสวนไกล่เกลี่ย ถ้าตกลงกันไม่ได้ให้คู่กรณีฟ้องต่อศาลภายในกำหนด 90 วัน นับแต่วันได้รับแจ้ง ถ้าไม่ฟ้องต่อศาลภายในกำหนด ให้ถือว่าผู้ขอหรือโจทก์ไม่ประสงค์จะสอบเขตที่ดินต่อไป เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2541 โจทก์ยื่นคำขอสอบเขต เจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินจังหวัดลำปางออกไปรังวัดสอบเขตในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2541 และเสร็จการรังวัดสอบเขตเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2542 ขณะรังวัดเจ้าของที่ดินข้างเคียงคัดค้านแนวเขต โดยอ้างว่าโจทก์นำรังวัดรุกล้ำเข้าไปในที่ดินโฉนดเลขที่ 28669 ของจำเลยที่ 1 เนื้อที่ 27 ตารางวา ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้โอนให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน 2538 ก่อนจำเลยที่ 1 ยกที่ดินโฉนดเลขที่ดังกล่าวให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ จำเลยที่ 1 กับพวกขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินออกจากกันในวันที่ 9 ถึง 14 มีนาคม 2537 และมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินข้างเคียงไประวังแนวเขตและรับรองแนวเขตทางไปรษณีย์ แต่โจทก์ก็มิได้คัดค้านแต่ประการใด เจ้าพนักงาที่ดินจังหวัดลำปางจึงได้แบ่งแยกโฉนดให้จำเลยที่ 1 กับพวกไปตามขอ แล้วจำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินโฉนดเลขที่ 28669 ให้เป็นทางสาธารณประโยชน์สำหรับประชาชนใช้ร่วมกันและตกเป็นของแผ่นดินโดยมิต้องโอนและห้ามมิให้ยกอายุความขึ้นต่อสู้กับแผ่นดินวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2542 เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดลำปางได้มีหนังสือให้โจทก์และคู่กรณีทั้งหมดไปทำการสอบสวนไกล่เกลี่ยในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2542 แต่โจทก์ขอเลื่อนไปเป็นวันที่ 10 มีนาคม 2542 ถึงวันนัดโจทก์ก็ไม่ได้ไปให้เจ้าหน้าที่สอบสวนไกล่เกลี่ยเพื่อตรวจสอบความถูกต้องแท้จริง แต่โจทก์กลับนำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2542 เป็นระยะเวลาเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดให้ฟ้องภายใน 90 วัน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 4 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ตลอดจนไม่อาจมีคำขอให้ศาลบังคับให้จำเลยที่ 2 และที่ 4 แก้ไขรูปแผนที่ในโฉนดที่ดินเลขที่ 28669 และให้จำเลยที่ 2 และที่ 4 ชดใช้ค่าเสียหายจากการที่โจทก์มิได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทในอัตราเดือนละ 3,000 บาท ได้ เพราะจำเลยที่ 2 และที่ 4 ไม่ได้ทำละเมิดต่อโจทก์และฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เนื่องจากโจทก์ไม่บรรยายฟ้องให้ชัดแจ้งว่าโจทก์ได้รับความเสียหายอย่างไรทำให้จำเลยที่ 2 และที่ 4 เสียเปรียบไม่อาจต่อสู้คดีได้ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 เนื่องจากจำเลยที่ 3 ไม่ทราบถึงการที่จำเลยที่ 1 ยกที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 3 ไม่ได้รับหรือเข้าไปเกี่ยวข้องดำเนินการอย่างไร การบรรยายฟ้องเกี่ยวกับจำเลยที่ 3 เคลือบคลุม เพราะโจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า จำเลยที่ 1 ยกที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นการดำเนินการของจำเลยที่ 1 เพียงฝ่ายเดียว จำเลยที่ 3 ไม่ได้ร่วมตกลงด้วย ทั้งที่ดินที่โจทก์ฟ้องไม่ทราบว่าอยู่ในเขตเทศบาลของจำเลยที่ 3 หรือไม่ จำเลยที่ 3 ไม่มีอำนาจหน้าที่ดูแลและดำเนินการคุ้มครองป้องกันที่ดินของโจทก์ตามฟ้องแต่อย่างใด และที่ดินดังกล่าวไม่ใช่ที่ดินรกร้างว่างเปล่าหรือที่ดินซึ่งมีผู้เวนคืนหรือทอดทิ้งหรือกลับมาเป็นของแผ่นดินโดยประการใดๆ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน หรือเป็นที่ดินอันเป็นสาธารณประโยชน์ของแผ่นดินซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาของจำเลยที่ 3 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 28669 ตำบลพิชัย อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง ในส่วนที่ดินพิพาทเนื้อที่ 27 ตารางวา ฉบับลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2538 และให้จำเลยที่ 2 และที่ 4 แก้ไขรูปแผนที่ในโฉนดที่ดินเลขที่ 28669 ตำบลพิชัย อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง โดยให้หักเนื้อที่ที่ดินพิพาทออกจากโฉนดที่ดินดังกล่าว หากจำเลยที่ 2 และที่ 4 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 2 และที่ 4 ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 1,500 บาท คำขอนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณืภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินพิพาท กับห้ามจำเลยที่ 1 และที่ 3 และบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 28692 ตำบลพิชัย อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง ตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.1 โดยแต่เดิมที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของนางบัวคำและในปี 2531 นางบัวคำนำเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดลำปางรังวัดสอบเขตที่ดินของตนแล้วเจ้าพนักงานที่ดินได้ทำรูปที่ดินเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2531 ปรากฏตามใบต่อรูปแผนที่ท้ายโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.1 แล้วต่อมาวันที่ 13 กันยายน 2531 นางบัวคำจดทะเบียนโอนขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้โจทก์ สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 28669 เป็นที่ดินข้างเคียงของที่ดินโจทก์ทางด้านทิศตะวันออกแต่เดิมที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นของนางสม ต่อมาเมื่อปี 2536 นางสมจดทะเบียนโอนขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 กับพวก จำเลยที่ 1 มีอาชีพทำธุรกิจจัดสรรที่ดินปลูกบ้านขาย จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 28669 กับที่ดินข้างเคียงอีก 1 แปลง คือที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ 28659 แล้วเมื่อประมาณเดือนมีนาคม 2537 จำเลยที่ 1 ยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดลำปางให้แบ่งแยกที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวเป็นหลายแปลงเพื่อจัดสรรและปลูกบ้านขายบุคคลภายนอก ในการรังวัดเพื่อแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวเจ้าพนักงานที่ดินมีหนังสือแจ้งโจทก์ในฐานะเจ้าของที่ดินข้างเคียงให้มาระวังแนวเขตโดยส่งหนังสือไปที่ภูมิลำเนาตามทะเบียนบ้านของโจทก์แล้ว แต่ถึงวันนัดรังวัดและระวังแนวเขต โจทก์ไม่มาระวังแนวเขตเจ้าพนักงานรังวัดจึงรังวัดแนวเขตไปตามที่จำเลยที่ 1 นำชี้ และเมื่อเดือนพฤษภาคม 2537 เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดลำปางจึงได้แบ่งแยกโฉนดให้จำเลยที่ 1 ไปตามคำขอ ต่อมาเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2538 จำเลยที่ 1 โอนที่ดินบางส่วนของที่ดินในโฉนดเลขที่ 28669 ให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ ต่อมาเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2541 โจทก์ยื่นคำขอสอบเขตที่ดินของโจทก์ ในเดือนพฤศจิกายน 2541 เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดลำปางออกไปรังวัดสอบเขต ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินข้างเคียงโฉนดเลขที่ 28669 ที่มาระวังแนวเขตคัดค้านการนำชี้แนวเขตของโจทก์โดยอ้างว่าโจทก์ชี้แนวเขตรุกล้ำเข้าไปในที่ดินโฉนดเลขที่ 28669 ดังกล่าว คิดเป็นเนื้อที่ 27 ตารางวา ซึ่งทั้งหมดจำเลยที่ 1 โอนยกให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ไปดังกล่าวแล้ว เมื่อมีข้อขัดแย้งกันดังกล่าวเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดลำปางจึงนัดคู่กรณีคือโจทก์และจำเลยที่ 1 มาไกล่เกลี่ยเพื่อระงับข้อพิพาท โดยนัดในวันที่ 10 มีนาคม 2542 แต่เมื่อถึงวันนัดโจทก์ไม่ได้ไปตามนัดเพื่อให้เจ้าหน้าที่สอบสวนไกล่เกลี่ย ต่อมาวันที่ 3 กันยายน 2542 โจทก์นำคดีนี้มาฟ้อง ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยมีตามที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฎีกาทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมายหลายประการ ซึ่งเพื่อความสะดวกและชัดเจนเห็นสมควรวินิจฉัยในแต่ละประเด็นปัญหาไปตามลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังต่อไปนี้
1. การที่โจทก์ในฐานะเจ้าของที่ดินข้างเคียงไม่ได้ไประวังแนวเขตเมื่อปี 2537 เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานที่ดินรังวัดที่ดินไปตามแนวเขตที่จำเลยที่ 1 นำชี้นั้นมีผลผูกพันให้โจทก์ต้องยอมรับแนวเขตตามที่จำเลยที่ 1 นำชี้หรือไม่ ข้อนี้เห็นว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีโฉนดหากข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ การที่โจทก์จะเสียกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทไปย่อมต้องอยู่ในบทบังคับของกฎหมายที่ระบุไว้โดยตรงและชัดแจ้ง การที่โจทก์เพียงแต่ไม่ได้ไประวังแนวเขตของตน จนเป็นเหตุให้ถูกผู้นำรังวัดชี้แนวเขตรุกล้ำเข้าไปในที่ดินส่วนของโจทก์ และเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดตามที่ถูกนำชี้รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์และทำรูปแผนที่ในโฉนดรุกล้ำเข้าไปทับรูปแผนที่ในโฉนดของโจทก์ จึงเป็นเพียงการสร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นแก่โจทก์และโจทก์อยู่ในฐานะผู้ถูกโต้แย้งสิทธิที่จะต้องนำคดีขึ้นสู่ศาลเท่านั้นหาใช่เป็นเหตุถึงขนาดทำให้โจทก์เสียกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ถูกรุกล้ำไปหรือไม่มีอำนาจฟ้องแต่อย่างใด ฎีกาจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
2. ที่ดินพิพาทเนื้อที่ 27 ตารางวา อยู่ในที่ดินของโจทก์โดยจำเลยที่ 1 นำชี้รุกล้ำเข้าไปหรือไม่ ข้อนี้ปรากฏตามรูปที่ดินในใบต่อโฉนดที่ดินของโจทก์ที่ปรากฎโดยชัดแจ้งว่า ก่อนที่โจทก์จะซื้อที่ดินจากนางบัวคำ รูปที่ดินเห็นได้ชัดเจนว่าที่ดินพิพาทอยู่ในโฉนดที่ดินของโจทก์โฉนดที่ดินเป็นเอกสารมหาชนที่บุคคลทั่วไปต้องรับความมีอยู่จริงและความถูกต้อง จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินข้างเคียงกับที่ดินโจทก์เมื่อปี 2536 จึงต้องยอมรับความมีอยู่และถูกต้องของที่ดินโจทก์ด้วย จำเลยที่ 1 ไม่ได้ให้การต่อสู้หรือนำสืบปฏิเสธความถูกต้องของรูปแผนที่ในโฉนดที่ดินของโจทก์ดังกล่าว ดังนี้ พยานหลักฐานฝ่ายโจทก์จึงมีน้ำหนักรับฟังได้ดีกว่าพยานหลักฐานฝ่ายจำเลย ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 นำชี้การรังวัดรุกล้ำเข้าไปในที่ดินโฉนดของโจทก์เนื้อที่ 27 ตารางวา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
3. การที่จำเลยที่ 2 ออกรูปแผนที่โฉนดของจำเลยที่ 1 รุกล้ำที่ดินโจทก์ทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ให้แก้รูปแผนที่ในโฉนดของจำเลยที่ 1 หรือไม่ ข้อนี้เห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 เพื่อให้จำเลยที่ 2 ดำเนินการแก้รูปแผนที่ในโฉนดให้ถูกต้องตามความเป็นจริงได้ ฎีกาจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
4. การที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินส่วนของโจทก์เป็นทางสาธารณประโยชน์อยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 3 ทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 หรือไม่ ข้อนี้เห็นว่า เมื่อที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์และตกมาอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 3 โจทก์ย่อมถูกโต้แย้งสิทธิโดยจำเลยที่ 3 โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 ได้ ฎีกาจำเลยที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
5. การที่โจทก์ขอรังวัดสอบเขตโฉนดที่ดินของโจทก์แล้วต่อมาเมื่อมีข้อขัดแย้งกับจำเลยที่ 1 ในที่ดินพิพาท เจ้าพนักงานที่ดินนัดไกล่เกลี่ย โจทก์ไม่ไปเจรจาไกล่เกลี่ยตามนัดเสียก่อน แต่กลับนำคดีนี้มาฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 90 วัน ถือว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ และคดีขาดอายุความแล้วหรือไม่ ข้อนี้เห็นว่า การเข้าไกล่เกลี่ยหรือไม่เป็นสิทธิของโจทก์ เมื่อโจทก์เลือกที่จะไม่เข้ารับการไกล่เกลี่ย ย่อมไม่ถึงขนาดที่จะทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเป็นคดีนี้ ส่วนที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อพ้นกำหนด 90 วัน นับจากวันนัดไกล่เกลี่ยแล้วนั้น เห็นว่า กำหนดระยะเวลา 90 วัน ที่ประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 69 ทวิ วรรคห้ากำหนดไว้เป็นเพียงกำหนดระยะเวลาในกรณีที่คู่กรณีเข้าไปรับการไกล่เกลี่ยจากเจ้าพนักงานที่ดินและหากไม่เห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานที่ดินก็ให้นำคดีไปฟ้องต่อศาลภายในกำหนดระยะเวลา 90 วัน หากไม่ไปยื่นฟ้องภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวก็ให้ถือว่าผู้ขอรังวัดสอบเขตไม่ประสงค์ที่จะให้มีการรังวัดสอบเขตต่อไปแต่หากไปยื่นฟ้องต่อศาลภายในกำหนดระยะเวลา 90 วันดังกล่าว ก็ให้เจ้าพนักงานที่ดินรอฟังคำวินิจฉัยของศาลเพื่อดำเนินการต่อไประยะเวลาตามประมวลกฎหมายที่ดินดังกล่าวจึงไม่ใช่กำหนดอายุความในการฟ้องคดี คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินและให้แก้ไขรูปแผนที่โฉนดที่ดินให้ถูกต้องตามความเป็นจริงซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเกี่ยวกับอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความทั่วไปบังคับคือมีกำหนดระยะเวลา 10 ปี ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ