คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 670/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกู้ยืมเงินไปจากโจทก์โดยจำนองที่ดินพิพาทเป็นประกันการกู้ยืม จำเลยให้การว่าไม่ได้กู้ยืมเงินโจทก์ แต่จำนองที่ดินพิพาทประกันหนี้ของ ส. บุตรชายจำเลย ดังนี้เป็นการต่อสู้ว่าไม่มีหนี้ตามสัญญากู้ยืมอันเป็นหนี้ประธานตามฟ้อง มีแต่หนี้เงินกู้ยืมของ ส. บุตรชายที่จำเลยเพียงแต่จำนองประกันหนี้เท่านั้น ซึ่งหากคดีฟังได้ตามข้อต่อสู้ ก็เท่ากับว่าไม่มีหนี้เงินกู้ยืมระหว่างโจทก์กับจำเลยตามที่โจทก์อ้าง โจทก์ก็ไม่อาจบังคับจำนองที่ดินพิพาทอันเป็นหนี้อุปกรณ์ได้ คดีจึงมีประเด็นด้วยว่าจำเลยกู้ยืมเงินไปจากโจทก์หรือไม่ แต่ศาลชั้นต้นไม่ได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้และพิพากษาคดีมา จึงเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 ประกอบ 183 และการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่ได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทและวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวเสียก่อน แต่กลับฟังข้อเท็จจริงยุติไปเลยว่า จำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทเพื่อประกันการกู้ยืมเงินของ ส. ย่อมเป็นการไม่ชอบเช่นกัน ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดประเด็นเพิ่มและวินิจฉัยให้เสร็จไปโดยไม่จำต้องย้อนสำนวน
คดีนี้จำเลยให้การเพียงว่า ส. นำที่ดิน 2 แปลง ไปจดทะเบียนขายฝากจำนวน 715,000 บาท เพื่อชำระหนี้ดอกเบี้ยค้างชำระแก่โจทก์ มิได้ให้การถึงการขายฝากที่ดินแปลงอื่นอีก การที่จำเลยนำสืบว่า ส. นำที่ดินแปลงอื่นจำนวน 3 แปลง ไปขายฝากแก่บุคคลภายนอกแล้วนำเงินที่ได้จากการขายฝากจำนวน 200,000 บาท ไปชำระหนี้ให้แก่โจทก์ จึงเป็นการนำสืบนอกคำให้การเป็นการไม่ชอบ ต้องห้ามมิให้รับฟังตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 แต่ที่จำเลยนำสืบว่า ส. นำที่ดิน 2 แปลง ไปขายฝากแก่ ก. บุตรชายโจทก์และโจทก์หักเงินที่ได้ชำระหนี้เงินกู้ยืม เป็นการนำสืบถึงการชำระดอกเบี้ยค้างชำระ มิใช่เป็นการนำสืบถึงการใช้ต้นเงินจึงไม่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือมาแสดงตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเป็นโมฆะเพราะเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด การชำระดอกเบี้ยจึงเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจและฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 และมาตรา 411 ซึ่งจะนำมาหักชำระหนี้ต้นเงินไม่ได้
คำแถลงรับของโจทก์ที่ศาลชั้นต้นบันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาว่า โจทก์ได้รับชำระหนี้คืนบางส่วนจากจำเลย ย่อมผูกพันโจทก์ จึงนำเงินจำนวนดังกล่าวมาหักยอดหนี้ค้างชำระได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 329 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้จำนวน 5,190,625 บาท แก่โจทก์ทั้งสองพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 3,750,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้น หากจำเลยไม่ชำระให้เอาทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2539 อันเป็นวันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (วันที่ 8 ธันวาคม 2540) ต้องไม่เกิน 1,440,625 บาท ตามที่โจทก์ทั้งสองขอ หากจำเลยไม่ชำระให้นำที่ดินโฉนดเลขที่ 53071 เลขที่ดิน 909 หน้าสำรวจ 703 ตำบลลำลูกกา อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งสอง กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งสองชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ระหว่างไต่สวนคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาโจทก์ที่ 1 ถึงแก่กรรม นางอรุณศรีและนายกิตติ ทายาทของโจทก์ที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ที่ 1 ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 1,390,484.64 บาท แก่โจทก์ทั้งสองพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นเฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งสองชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องว่าจำเลยกู้ยืมเงินจำนวน 3,750,000 บาท ไปจากโจทก์ทั้งสองและรับเงินไปแล้วโดยจำเลยจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 53071 ตำบลลำลูกกา อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี เพื่อเป็นประกันการกู้ยืม จำเลยให้การว่าจำเลยไม่ได้กู้ยืมเงินไปจากโจทก์ทั้งสอง แต่จำนองที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นประกันหนี้ของนายสนองบุตรชายจำเลย ดังนี้เป็นการที่จำเลยต่อสู้ว่าไม่มีหนี้ตามสัญญากู้ยืมอันเป็นหนี้ประธานระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยตามฟ้อง มีแต่หนี้เงินกู้ยืมของบุตรชายจำเลยที่จำเลยเพียงแต่จำนองประกันหนี้เท่านั้น ซึ่งหากคดีฟังได้ตามที่จำเลยให้การต่อสู้ ก็เท่ากับว่าไม่ได้มีหนี้เงินกู้ยืมระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยตามที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้าง โจทก์ทั้งสองก็ไม่อาจบังคับจำนองที่ดินพิพาทอันเป็นหนี้อุปกรณ์ในคดีนี้ได้ คดีจึงต้องมีประเด็นด้วยว่าจำเลยกู้ยืมเงินไปจากโจทก์ทั้งสองหรือไม่ แต่ศาลชั้นต้นไม่ได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้และพิพากษาคดีไปจึงเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 ประกอบมาตรา 183 และการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่ได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทและวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวเสียก่อน แต่กลับรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติไปเลยว่าจำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทเพื่อประกันการกู้ยืมเงินของนายสนองบุตรชายจำเลย ย่อมเป็นการไม่ชอบเช่นกัน ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นควรกำหนดประเด็นเพิ่มขึ้นและวินิจฉัยให้เสร็จไป โดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า จำเลยมีหนี้เงินกู้ยืมตามสัญญาจำนองค้างชำระแก่โจทก์ทั้งสองเพียงใด เห็นว่า คดีนี้จำเลยให้การเพียงว่านายสนองนำที่ดิน 2 แปลง ไปจดทะเบียนขายฝากจำนวน 715,000 บาท เพื่อชำระหนี้ดอกเบี้ยค้างชำระให้แก่โจทก์ทั้งสองเท่านั้น มิได้ให้การถึงการขายฝากที่ดินตามสำเนาสัญญาขายฝาก การที่จำเลยนำสืบว่านายสนองบุตรชายจำเลยได้นำหนังสือรับรองการทำประโยชน์จำนวน 3 ฉบับ ไปทำนิติกรรมขายฝากกับนายสุชาติในราคา 400,000 บาท ตามสำเนาสัญญาขายฝาก แล้วนำเงินที่ขายฝากได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 200,000 บาท จึงเป็นการนำสืบนอกคำให้การเป็นการไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา ต้องห้ามมิให้รับฟังตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 และถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 หยิบยกเรื่องดังกล่าวขึ้นมาวินิจฉัยและฟังว่ามีการนำเงินที่ขายฝากที่ดินดังกล่าวไปชำระหนี้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 200,000 บาท จึงเป็นการไม่ชอบ ส่วนที่จำเลยนำสืบว่านายสนองนำที่ดิน 2 แปลง ไปขายฝากแก่นายกิตติบุตรชายของโจทก์ที่ 1 รวมเป็นเงิน 715,000 บาท ตามสำเนาสัญญาขายฝาก และโจทก์ที่ 1 หักเงินที่ได้จากการขายฝากจำนวนดังกล่าวชำระหนี้เงินกู้ยืมตามสัญญาจำนองนั้น เห็นว่า จำเลยให้การว่าหลังจากทำสัญญา โจทก์ทั้งสองให้นายสนองนำที่ดิน 2 แปลง ไปจดทะเบียนขายฝากเพื่อนำเงินชำระหนี้ดอกเบี้ยค้างชำระให้แก่โจทก์ทั้งสอง การที่จำเลยนำสืบถึงการชำระหนี้ดังกล่าวจึงเท่ากับว่าเป็นการนำสืบถึงการชำระดอกเบี้ยค้างชำระ มิใช่เป็นการนำสืบการใช้ต้นเงินจึงไม่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือมาแสดงตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง ศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับฟังพยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบว่ามีการชำระหนี้ดังกล่าวได้ แต่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าดอกเบี้ยเงินกู้ยืมตามสัญญาจำนองเป็นโมฆะเพราะเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด การที่จำเลยชำระดอกเบี้ยดังกล่าวด้วยความสมัครใจตามที่ตกลงไว้กับโจทก์ทั้งสอง จึงเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจและเป็นการชำระหนี้อันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 และมาตรา 411 และจะนำมาหักชำระหนี้ต้นเงินไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าจำเลยชำระหนี้ให้แก่โจทก์ทั้งสองแล้วรวม 2 ครั้งและต้องนำมาหักออกจากยอดหนี้เงินกู้ยืม จำนวน 2,000,000 บาท นั้น จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังขึ้น
อย่างไรก็ตามปรากฏข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นได้สอบถามโจทก์ที่ 1 และบันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 19 มีนาคม 2542 ว่าในวันที่ 27 ตุลาคม 2541 โจทก์ที่ 1 ได้รับชำระหนี้คืนจากจำเลยโดยผ่านทางนายสนองบุตรชายแล้วเป็นเงินจำนวน 200,000 บาท คำแถลงรับของโจทก์ที่ 1 ว่าได้รับชำระหนี้บางส่วนแล้วตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นดังกล่าวย่อมผูกพันโจทก์ที่ 1 กรณีจึงนำเงินจำนวนดังกล่าวมาหักยอดหนี้ค้างชำระแก่โจทก์ทั้งสองได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 329 วรรคหนึ่ง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 2,000,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสองพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (วันที่ 8 ธันวาคม 2540) ต้องไม่เกิน 1,440,625 บาท โดยให้เอาเงินจำนวน 200,000 บาท ใช้เป็นค่าดอกเบี้ย หากยังมีเหลือจึงให้ใช้ในการชำระหนี้อันเป็นประธาน ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1.

Share