แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์และจำเลยในคดีนี้กับคู่ความในคดีก่อนเป็นคู่ความเดียวกัน โดยคดีก่อนจำเลยฟ้องโจทก์มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยคือขอให้พิสูจน์สิทธิในที่ดินพิพาทที่โจทก์นำไปออกโฉนดว่าเป็นของจำเลยหรือไม่ ศาลชั้นต้นได้มีคำวินิจฉัยแล้วว่าที่พิพาทเป็นของจำเลย แม้ศาลชั้นต้นจะยกฟ้อง ก็เนื่องมาจากว่าจำเลยมิได้ร้องขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินซึ่งจำเลยกล่าวอ้างว่าโจทก์ออกโฉนดดังกล่าวโดยมิชอบ แต่จำเลยกลับมีคำขอให้บังคับโจทก์โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่จำเลย ซึ่งเมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าที่พิพาทเป็นของจำเลยย่อมไม่จำต้องมีการโอนกรรมสิทธิ์กันอีก เนื่องจากที่พิพาทเป็นของจำเลยอยู่แล้ว ที่จำเลยมีคำขอให้โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ให้นั้นจึงเป็นกรณีที่ไม่จำต้องมีการบังคับตามคำขอ มิใช่คำฟ้องไม่สมบูรณ์ แต่เป็นกรณีที่ศาลไม่อาจบังคับตามคำขอให้ได้เท่านั้น คู่ความยังคงต้องผูกพันตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. 145
โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ขอให้ห้ามจำเลยและบริวารเข้ายุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาท และจำเลยฟ้องแย้งขอให้ห้ามโจทก์เข้ายุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาทกับมีคำขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาท ซึ่งเป็นการห้ามเกี่ยวเนื่องกับคดีก่อน แม้จำเลยมีคำขอเพิ่มมาในฟ้องแย้งขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาท แต่ก็ยังคงเป็นกรณีที่ต้องพิสูจน์ให้ได้ก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือของจำเลย จึงเป็นประเด็นที่ต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีก่อนที่ศาลชั้นต้นได้มีคำวินิจฉัย และคดีถึงที่สุดแล้ว ฟ้องโจทก์และฟ้องแย้งของจำเลยในคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 8429 และ 8430 จำเลยและบริวารได้บุกรุกเข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 8430 ของโจทก์ โจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยพร้อมทั้งบริวารย้ายออกจากที่ดินแปลงดังกล่าว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยพร้อมทั้งบริวารย้ายออกจากที่ดินพิพาท และส่งมอบการครอบครองที่ดินคืนแก่โจทก์ กับห้ามจำเลยพร้อมบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์ต่อไป
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทมานานกว่า 50 ปีแล้ว โจทก์แจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานที่ดิน เจ้าพนักงานที่ดินจึงออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ การออกโฉนดที่ดินดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาจำเลยได้ฟ้องโจทก์เพื่อโต้แย้งคัดค้านและศาลได้มีคำพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1256/2537 ของศาลชั้นต้น ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำและกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1256/2537 ของศาลชั้นต้น ขอให้ยกฟ้อง และมีคำขอให้บังคับโจทก์มิให้บุกรุกเข้าไปบนที่ดินหรือยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาทตลอดไป กับมีคำพิพากษาเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 8430 เลขที่ดิน 144 ตำบลท่ามะขาม อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยฟ้องโจทก์เกี่ยวกับที่ดินพิพาทในคดีนี้เป็นคดีที่ 5 โดยอาศัยเหตุและมีประเด็นข้อพิพาทอย่างเดียวกัน ฟ้องแย้งของจำเลยเป็นฟ้องซ้ำ ฟ้องโจทก์มิได้เป็นฟ้องซ้ำ โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจากนายอู๊ดซึ่งขณะนั้นเป็นที่ดินมือเปล่า โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน การออกโฉนดที่ดินพิพาทถูกต้อง ระยะเวลาที่จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทนับแต่ที่ดินพิพาทได้มีการออกโฉนดถึงวันที่จำเลยฟ้องแย้งยังไม่ถึง 10 ปี จำเลยจึงอ้างเรื่องการครอบครองปรปักษ์ไม่ได้ ขอให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง และให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 8430 ตำบลท่ามะขาม อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งระบุว่าเป็นของโจทก์ให้เป็นของจำเลย กับให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท คำขออื่นของจำเลยนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 8429 จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เล่ม 5 หน้า 80 สารบบเล่ม 22 หน้า 400/102 ตามเอกสารหมาย ล.2 ระหว่างที่ดินของโจทก์กับจำเลยดังกล่าวมีที่ดินพิพาทเนื้อที่ประมาณ 1 งาน 42 ตารางวา ที่ดินพิพาทเดิมไม่มีเอกสารสิทธิ ต่อมาเมื่อปี 2527 โจทก์ได้ขอออกโฉนดที่ดินพิพาทเป็นโฉนดเลขที่ 8430 จำเลยเคยฟ้องโจทก์เป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1256/2537 ของศาลชั้นต้น กล่าวหาว่าโจทก์นำเจ้าพนักงานรังวัดออกโฉนดที่ดินเลขที่ 8430 ทับที่ดินพิพาทของจำเลย และศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย แต่จำเลยไม่ได้ขอให้เพิกถอนโฉนด กลับขอให้โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน จึงบังคับตามคำขอไม่ได้ แล้วพิพากษายกฟ้อง คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยว่าฟ้องโจทก์และฟ้องแย้งของจำเลยในคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 126/2537 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า โจทก์และจำเลยในคดีนี้กับคู่ความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1256/2537 ของศาลชั้นต้นเป็นคู่ความเดียวกัน ซึ่งในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1256/2537 จำเลยยื่นฟ้องโจทก์โดยมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยคือขอให้พิสูจน์สิทธิในที่ดินพิพาทที่โจทก์นำไปออกโฉนดที่ดินเลขที่ 8430 ว่าเป็นของจำเลยหรือไม่ ซึ่งในคดีดังกล่าวศาลชั้นต้นได้มีคำวินิจฉัยแล้วว่าที่พิพาทเป็นของจำเลย แม้ศาลชั้นต้นจะยกฟ้อง ก็เนื่องมาจากว่าจำเลยมิได้ร้องขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินซึ่งจำเลยกล่าวอ้างว่าโจทก์ออกโฉนดดังกล่าวโดยมิชอบ แต่จำเลยกลับมีคำขอให้บังคับโจทก์โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่จำเลย ซึ่งเมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยได้ความว่าที่พิพาทเป็นของจำเลย กรณีจึงไม่จำต้องมีการโอนกรรมสิทธิ์กันอีกแต่อย่างใด เนื่องจากที่พิพาทเป็นของจำเลยอยู่แล้ว ที่จำเลยมีคำขอให้โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ให้นั้นจึงเป็นกรณีที่ไม่จำต้องมีการบังคับตามคำขอแต่อย่างใด มิใช่กรณีที่คำฟ้องไม่สมบูรณ์ แต่เป็นกรณีที่ศาลไม่อาจบังคับตามคำขอให้ได้เท่านั้น คู่ความยังคงต้องผูกพันตามคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 และเมื่อคำพิพากษาในคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว การที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ขอให้ห้ามจำเลยและบริวารเข้ายุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาท และจำเลยฟ้องแย้งขอให้ห้ามโจทก์เข้ายุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาทกับมีคำขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาท ย่อมเป็นการห้ามเกี่ยวเนื่องกับคดีก่อน เพราะการฟ้องห้ามจำเลยมิให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาทและการฟ้องแย้งห้ามมิให้โจทก์เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาท แม้จำเลยมีคำขอเพิ่มมาในฟ้องแย้งขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินพาท แต่ก็ยังคงเป็นกรณีที่ต้องพิสูจน์ให้ได้ก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือของจำเลย จึงเป็นประเด็นที่ต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีก่อน เมื่อโจทก์และจำเลยเป็นคู่ความเดียวกันกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1256/2537 ของศาลชั้นต้น ซึ่งได้ชี้ขาดในประเด็นที่ต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุเดียวกันและคดีถึงที่สุดแล้ว ฟ้องโจทก์และฟ้องแย้งของจำเลยในคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ฎีกาของโจทก์และจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมตามฟ้องและฟ้องแย้งทั้งสามศาลให้เป็นพับ