คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 670/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คดีของจำเลยต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จำเลยย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่า ข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกา ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นมีหน้าที่พิจารณาเพียงว่า ข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดหรือไม่เท่านั้นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 การที่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าคดีไม่ต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงเป็นการสั่งคดีโดยผิดหลงและเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ถือว่าไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาคดี ศาลฎีกามีอำนาจที่จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยโดยให้เพิกถอนคำสั่งและการดำเนินการดังกล่าวของศาลชั้นต้นที่ไม่ชอบเสียได้ และสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบด้วยมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสอง, 317, 91
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสอง, 317 วรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปี จำคุก 7 ปี ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร จำคุก 5 ปี รวมจำคุก 12 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 8 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน หลังเกิดเหตุจำเลยได้ขอขมาบิดามารดาผู้เสียหาย และบิดามารดาผู้เสียหายรวมทั้งผู้เสียหายต่างไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลย เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ สมควรลดโทษให้จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่งคงจำคุก 6 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงได้ความว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกินสิบสามปี จำคุก 7 ปี และฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร จำคุก 5 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 จึงคงจำคุกกระทงแรก 4 ปี 8 เดือน และจำคุกกระทงหลัง 3 ปี 4 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน หลังเกิดเหตุจำเลยได้ขอขมาบิดามารดาผู้เสียหาย และบิดามารดาผู้เสียหายรวมทั้งผู้เสียหายต่างไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลย เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ สมควรลดโทษให้จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง จึงคงจำคุกกระทงแรก 3 ปี 6 เดือน และจำคุกกระทงหลัง 2 ปี 6 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 6 จึงแก้ไขเฉพาะกำหนดโทษซึ่งเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละไม่เกินห้าปี ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ต่อมาจำเลยยื่นคำร้องพร้อมคำฟ้องฎีกาขอให้องค์คณะผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ปรากฏว่าศาลชั้นต้นสั่งในคำร้องขอให้อนุญาตให้ฎีกาในข้อเท็จจริง ฉบับลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2546 ของจำเลยว่า คดีไม่ต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงไม่ต้องพิจารณาสั่งคำร้องขอให้รับรองฎีกา และสั่งในฎีกาของจำเลยที่ยื่นเข้ามาพร้อมกับคำร้องดังกล่าวว่า จำเลยยื่นฎีกาภายในกำหนดเวลาที่ศาลอนุญาต รับฎีกาของจำเลยสำเนาให้โจทก์แก้ การส่งไม่มีผู้รับโดยชอบให้ปิด เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าคดีของจำเลยต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงจำเลยย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่า ข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกา ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นมีหน้าที่พิจารณาเพียงว่า ข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดหรือไม่เท่านั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 การที่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดีไม่ต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงเป็นการสั่งคดีโดยผิดหลงและเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ถือว่าไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาคดี ศาลฎีกามีอำนาจที่จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยโดยให้เพิกถอนคำสั่งและการดำเนินการดังกล่าวของศาลชั้นต้นที่ไม่ชอบเสียได้ และสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 208 (2) ประกอบด้วยมาตรา 225”
พิพากษาเพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นในคำร้องและในคำฟ้องฎีกา ฉบับลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2546 ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งใหม่ตามรูปคดี

Share