คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6695/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 บัญญัติหลักเกณฑ์กำหนดระยะเวลาแก้ไขคำให้การไว้ว่า ต้องยื่นก่อนวันชี้สองสถานไม่น้อยกว่ายี่สิบเอ็ด วันหรือก่อนวันสืบพยานแล้วแต่กรณี มีข้อยกเว้น 3 กรณี คือ กรณีที่หนึ่งมีเหตุอันสมควรที่ไม่อาจยื่นคำร้องได้ก่อนนั้นประการหนึ่ง กรณีที่สองเป็นการขอแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนอีกประการหนึ่ง และกรณีที่สามเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยอีกประการหนึ่ง จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การว่า”มูลหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยทั้งสองนี้เป็นสินสมรสที่โจทก์และสามีทำมาหาได้ร่วมกันมา จึงต้องจัดการทรัพย์สินดังกล่าวร่วมกัน เมื่อโจทก์มิได้รับความยินยอมจากสามีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1476(4) โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องดำเนินคดีนี้กับจำเลยทั้งสอง” แต่เมื่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1477 บัญญัติว่าสามีหรือภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิฟ้องคดีเกี่ยวกับการสงวนสินสมรสได้ ดังนี้ การที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินตามสัญญากู้ยืมเงินเป็นการฟ้องคดีเกี่ยวกับการสงวนสินสมรสโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้โดยมิต้องได้รับความยินยอมจากสามีฉะนั้นเมื่อคำร้อง ของ จำเลยที่ขอแก้คำให้การไม่เกี่ยวกับข้อที่จะทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง กรณีไม่เข้าข้อยกเว้นให้จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การหลังวันสืบพยานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 ดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้กู้และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันให้ร่วมกันชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยเป็นเงิน73,750 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน50,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 เคยกู้เงินนางปราณีภูวนาถ 40,000 บาท และผ่อนชำระจนเหลือเพียง 10,000 บาทแล้วจำเลยที่ 1 ขอร้องให้โจทก์ช่วยชำระส่วนที่เหลือแทน ต่อมาจำเลยที่ 1 มีเรื่องขัดแย้งกับโจทก์ โจทก์จึงนำสัญญากู้ยืมเงินมาฟ้องจำเลยทั้งสอง โจทก์คิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกันจึงไม่สมบูรณ์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นงดชี้สองสถาน และได้สืบพยานโจทก์ก่อนจนเสร็จแล้วจึงสืบพยานจำเลยทั้งสอง ครั้นสืบพยานจำเลยทั้งสองได้ 2 ปากจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การว่า เงินที่โจทก์นำมาให้จำเลยที่ 1 ยืมเป็นสินสมรสโจทก์ฟ้องคดีโดยไม่ได้รับความยินยอมจากสามี จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ตามคำร้องลงวันที่30 พฤศจิกายน 2538 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า จำเลยทั้งสองสามารถยกข้อต่อสู้ดังกล่าวขึ้นต่อสู้ได้ตั้งแต่ยื่นคำให้การ แต่กลับยื่นคำร้องหลังจากสืบพยานโจทก์เสร็จแล้ว กรณีไม่มีเหตุผลสมควรอนุญาต ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน 50,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2534เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 23,750 บาท โดยให้บังคับจากจำเลยที่ 1 ก่อนหากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนจึงให้บังคับจากจำเลยที่ 2
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์คำสั่งที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้แก้ไขคำให้การ
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่ามีเหตุที่จำเลยทั้งสองจะขอแก้ไขคำให้การตามคำร้องลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2538 หรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 บัญญัติหลักเกณฑ์กำหนดระยะเวลาแก้ไขคำให้การไว้ว่า ต้องยื่นก่อนวันชี้สองสถานไม่น้อยกว่ายี่สิบเอ็ด วันหรือก่อนวันสืบพยานแล้วแต่กรณี มีข้อยกเว้น 3 กรณี คือ กรณีที่หนึ่งมีเหตุอันสมควรที่ไม่อาจยื่นคำร้องได้ก่อนนั้นประการหนึ่ง กรณีที่สองเป็นการขอแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนอีกประการหนึ่ง และกรณีที่สามเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยอีกประการหนึ่งที่จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การว่า “มูลหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยทั้งสองนี้เป็นสินสมรสที่โจทก์และสามีทำมาหาได้ร่วมกันมาจึงต้องจัดการทรัพย์สินดังกล่าวร่วมกัน เมื่อโจทก์มิได้รับความยินยอมจากสามีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1476(4)โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องดำเนินคดีนี้กับจำเลยทั้งสอง” นั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1477 บัญญัติว่าสามีหรือภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิฟ้องคดีเกี่ยวกับการสงวนสินสมรสได้การที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินตามสัญญากู้ยืมเงินเป็นการฟ้องคดีเกี่ยวกับการสงวนสินสมรส โจทก์จึงฟ้องคดีนี้โดยมิต้องได้รับความยินยอมจากสามี โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคำร้อง ของจำเลยที่ขอแก้คำให้การจึงไม่เกี่ยวกับข้อที่จะทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องกรณีไม่เข้าข้อยกเว้นให้จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การหลังวันสืบพยานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 180 ดังกล่าว
พิพากษายืน

Share