แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์กับเจ้าหน้าที่เวนคืนได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินที่ถูกเวนคืนตามมาตรา 10 จึงไม่มีวันที่ต้องจ่ายเงินค่าทดแทนตามมาตรา 11 อันจะถือว่าเป็นวันที่ต้องมีการจ่ายเงินค่าทดแทนตามมาตรา 26 วรรคสาม ซึ่งบัญญัติให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นตามคำวินิจฉัยของรัฐมนตรี หรือศาลมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยนับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายเงินหรือวางเงินค่าทดแทนนั้น ฝ่ายจำเลยมีหนังสือลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2540 แจ้งให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนที่ดินทั้งหมดในวันที่ 5 สิงหาคม 2540 แต่โจทก์ไม่ไปรับเงินตามกำหนดเวลาดังกล่าว ฝ่ายจำเลยย่อมมีหน้าที่นำเงินค่าทดแทนที่ดินนั้นไปวางต่อศาลหรือสำนักงานวางทรัพย์หรือฝากไว้กับธนาคารออมสินในนามของโจทก์โดยพลันตามมาตรา 28 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 วรรคหนึ่ง ในวันถัดจากวันที่ 5 สิงหาคม 2540 คือวันที่ 6 สิงหาคม 2540 อันเป็นวันที่ต้องมีการวางเงินค่าทดแทนตามมาตรา 26 วรรคสาม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าทดแทน 18,342,362.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี หรือเท่ากับอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 750,100 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน แต่ไม่เกินร้อยละ 13.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ จำเลยทั้งสองไม่คัดค้านศาลอุทธรณ์ภาค 3 อนุญาตให้โจทก์ถอนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 15632 ตำบลปรุใหญ่ อำเภอเมือง นครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่ 3 งาน 51 ตารางวา บางส่วนของที่ดินดังกล่าวเนื้อที่ 57.70 ตารางวา อยู่ในบริเวณที่ที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน เพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 สาย สระบุรี – หนองคาย (เขตแดน) ตอนเลี่ยงเมืองนครราชสีมา พ.ศ.2538 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2538 คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้น ฯ กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ในอัตราตารางวาละ 13,000 บาท เนื้อที่ 57.70 ตารางวา เป็นเงิน 750,100 บาท และค่ารื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและค่าเสียหายต่างๆ เป็นเงิน 196,635 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 946,735 บาท โจทก์ไม่พอใจการกำหนดเงินค่าทดแทนดังกล่าวจึงอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 1 คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ฯ พิจารณาแล้วมีความเห็นยืนราคา โจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนดังกล่าวไปแล้ว ต่อมาโจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มและค่าเสียหาย ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิ่มเฉพาะเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนแก่โจทก์อีกตารางวาละ 13,000 บาท รวมเป็นตารางวาละ 26,000 บาท ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า โจทก์ควรได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนเพิ่มขึ้นหรือไม่ เพียงใด โดยจำเลยทั้งสองฎีกาว่าเงินค่าทดแทนที่ดินที่ฝ่ายจำเลยกำหนดให้แก่โจทก์ในอัตราตารางวาละ 13,000 บาท เป็นอัตราที่เหมาะสมเป็นธรรมและถูกต้องตามกฎหมายแล้ว เห็นว่า การเวนคืนที่ดินของโจทก์เพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 สายสระบุรี – หนองคาย (เขตแดน) ตอนเลี่ยงเมืองนครราชสีมานี้ไม่ปรากฏว่ามีบทบัญญัติเกี่ยวกับการกำหนดเงินค่าทดแทนไว้เป็นพิเศษในพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับใดโดยเฉพาะดังนั้น การกำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์จึงต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ซึ่งวรรคหนึ่ง ให้กำหนดโดยคำนึงถึง (1) ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6 (2) ราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่ (3) ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในกาจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม (4) สภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์นั้น และ (5) เหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืน ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม ดังนั้น การกำหนดเงินค่าทดแทน จึงต้องพิจารณาโดยใช้หลักเกณฑ์ทั้งห้าประการดังกล่าวประกอบกัน มิใช่เพียงข้อหนึ่งข้อใดและโดยที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ท่าจะเวนคืน เพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 สายสระบุรี – หนองคาย (เขตแดน) ตอนเลี่ยงเมืองนครราชสีมา พ.ศ.2538 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2538 การกำหนดเงินค่าทดแทนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) จึงต้องถือเอาราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ในวันที่ 21 ธันวาคม 2538 เป็นเกณฑ์ด้วย ได้ความจากนายเสน่ห์เจ้าหน้าที่ที่จัดหาที่ดิน 6 หัวหน้าโครงการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินพยานจำเลยทั้งสองว่า คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้น ฯ มีมติให้ใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ปี 2539 ถึงปี 2542 ตามมาตรา 21 (3) มาเป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณากำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์แต่ประการเดียว เพราะไม่สามารถหาราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของที่ดินบริเวณที่จะต้องเวนคืนได้ แต่โจทก์นำสืบได้ว่า มีการซื้อขายที่ดินในบริเวณใกล้เคียงกับที่ดินพิพาท ในปี 2537 ปี 2539 และปี 2540 ในราคาตั้งแต่ตารางวาละ 85,000 บาท ขึ้นไป ตามทางนำสืบของโจทก์ แม้การซื้อขายที่ดินดังกล่าวจะเป็นการซื้อขายโดยธนาคารพาณิชย์ซึ่งต้องการทำเลเฉพาะเจาะจง แต่ราคาก็ไม่ควรจะต่างจากที่ดินของโจทก์มากถึงเกือบ 10 เท่า อีกทั้งที่ดินของโจทก์อยู่ในทำเลที่เจริญเป็นแหล่งชุมชน ที่ดินฝั่งตรงข้ามซึ่งตั้งอยู่เยื้องกับที่ดินของโจทก์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมก็เพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่นายสงครามและนายทนงศักดิ์เป็นตารางวาละ 80,000 บาท ซึ่งต่างจากอัตราเงินค่าทดแทนที่ดินที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้น ฯ กำหนดให้สำหรับที่ดินของโจทก์มาก จากสภาพและที่ตั้งของที่ดินของโจทก์ซึ่งอยู่ติดถนนมิตรภาพซึ่งเป็นถนนสายหลักที่มีขนาดใหญ่ และในบริเวณใกล้เคียงมีอาคารพาณิชย์และสถานประกอบกิจการการค้าอยู่พอสมควร และราคาซื้อขายที่ดินในบริเวณใกล้เคียงที่โจทก์นำสืบตลอดจนอัตราเงินค่าทดแทนที่ดินที่ฝ่ายจำเลยกำหนดให้แก่เจ้าของที่ดินในบริเวณเดียวกันแล้ว เชื่อว่าในวันที่พระราชกฤษฎีกา ฯ มีผลใช้บังคับนั้นที่ดินของโจทก์มีราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดสูงกว่าอัตราเงินค่าทดแทนที่ดินที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้น ฯ กำหนดให้แก่โจทก์ตามราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ปี 2539 ถึงปี 2542 ตารางวาละ 13,000 บาท อยู่พอสมควร ส่วนที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้น ฯ เห็นว่า โจทก์ได้รับประโยชน์จากการเวนคืนเพราะที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือจากการเวนคืนมีสภาพดีขึ้นราคาจึงสูงขึ้นนั้น เห็นว่า เดิมที่ดินของโจทก์ติดถนนมิตรภาพซึ่งเป็นถนนสายหลักอยู่แล้ว แม้การก่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 สายสระบุรี – หนองคาย (เขตแดน) ตอนเลี่ยงเมือง นครราชสีมา ทำให้การคมนาคมในบริเวณที่ดินของโจทก์ตั้งอยู่คับคั่งขึ้นกว่าเดิมอันทำให้บริเวณดังกล่าวเจริญรวดเร็วขึ้นกว่าเดิมก็ตาม แต่ที่ดินของโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนอยู่ติดกับทางออกของทางหลวงแผ่นดินสายนี้ในส่วนที่ยังเป็นทางโค้ง จึงไม่แน่ว่าที่ดินของโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนจะมีราคาสูงขึ้นจากเดิม เมื่อคำนึงถึงหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) จากพยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยทั้งสองนำสืบแล้ว เห็นว่า ที่ศาลล่างทั้งสองเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์อีกตารางวาละ 13,000 บาท เป็นอัตราตารางวาละ 26,000 บาท นั้นเป็นธรรมแก่โจทก์ผู้ถูกเวนคืนและสังคมแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายตามฎีกาของจำเลยทั้งสองมีว่า โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำนวนเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้นหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองฎีกาว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้ผิดนัด เนื่องจากจำเลยทั้งสองได้นำเงินค่าทดแทนที่โจทก์จะได้รับทั้งหมดโอนเข้าบัญชีชำระให้แก่โจทก์แล้ว ทั้งโจทก์ไม่ยินยอมมาทำบันทึกข้อตกลงกับจำเลยทั้งสอง การที่ศาลชั้นต้นให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยของเงินที่เพิ่มขึ้นนับแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2540 จึงหาเป็นการถูกต้องไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 26 วรรคสาม บัญญัติให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นตามคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีหรือศาลมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยนับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายเงินหรือวางเงินค่าทดแทนนั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์กับเจ้าหน้าที่เวนคืนได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินที่ถูกเวนคืนตามมาตรา 10 จึงไม่มีวันที่ต้องจ่ายเงินค่าทดแทนตามมาตรา 11 อันจะถือว่าเป็นวันที่ต้องมีการจ่ายเงินค่าทดแทนตามมาตรา 26 วรรคสาม ฝ่ายจำเลยมีหนังสือลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2540 แจ้งให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนที่ดินทั้งหมดในวันที่ 5 สิงหาคม 2540 แต่โจทก์ไม่ไปรับเงินตามกำหนดเวลาดังกล่าว ฝ่ายจำเลยย่อมมีหน้าที่นำเงินค่าทดแทนที่ดินนั้นไปวางต่อศาลหรือสำนักงานวางทรัพย์หรือฝากไว้กับธนาคารออมสินในนามของโจทก์โดยพลันตามมาตรา 28 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 วรรคหนึ่ง ในวันถัดจากวันที่ 5 สิงหาคม 2540 คือวันที่ 6 สิงหาคม 2540 อันเป็นวันที่ต้องมีการวางเงินค่าทดแทนตามมาตรา 26 วรรคสาม ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยทั้งสองรับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์นับแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2540 ซึ่งเป็นวันที่ฝ่ายจำเลยนำเงินค่าทดแทนไปฝากไว้กับธนาคารออมสินนั้น จึงนับว่าเป็นคุณแก่จำเลยทั้งสองแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน