คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 669/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ศาลชั้นต้นมิได้สั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา แต่การที่โจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้วไม่คัดค้านและศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปยังศาลฎีกา พอแปลได้ว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่งแล้ว
การทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันของคู่ความในคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 138 ต้องเป็นการประนีประนอมยอมความกันในประเด็นแห่งคดีหรือที่เกี่ยวเนื่องกับคดีที่ฟ้อง สำหรับคดีนี้มีประเด็นแห่งคดีว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ในฐานะทายาทโดยธรรมของ ท. จะต้องรับผิดชำระหนี้ตามฟ้องหรือไม่ เพียงใด การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 แต่งตั้งทนายความและในใบแต่งระบุให้ทนายความมีอำนาจประนีประนอมยอมความได้ ก็หมายถึงมอบอำนาจให้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความในฐานะเป็นทายาทของ ท. ตามคำฟ้องเท่านั้น แม้ทนายความจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์มีข้อความว่า เป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งเจ็ดในฐานะส่วนตัว และในฐานะทายาทโดยธรรมของ ท. ผู้ตาย และทำยอมกันนั้นก็หมายความว่าเฉพาะจำเลยที่ 1 เท่านั้น ที่ยอมรับผิดทั้งในฐานะส่วนตัวและฐานะของทายาทของ ท. สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ย่อมมีเจตนายอมตนเข้าผูกพันรับผิดต่อโจทก์ในฐานะทายาทของ ท. มิใช่รับผิดเป็นการส่วนตัว สัญญาประนีประนอมยอมความ จึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ให้รับผิดเป็นการส่วนตัว คำพิพากษาตามยอมคงมีผลสมบูรณ์บังคับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ให้รับผิดในฐานะทายาทของ ท. เท่านั้น

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์และจำเลยทั้งเจ็ดทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยจำเลยทั้งเจ็ดยอมร่วมกันชำระเงินตามฟ้องให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยโดยวิธีผ่อนชำระเป็นรายเดือนและจะชำระให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลา 2 ปี นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ หากผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งถือว่าผิดนัดทั้งหมดยอมให้ยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำนองไว้แก่โจทก์และทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งเจ็ดออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม แต่จำเลยทั้งเจ็ดไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์ขอให้ตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีบังคับคดีตามคำพิพากษา
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ยื่นคำร้องขอให้ไต่สวนคำร้องและมีคำสั่งให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความเฉพาะในส่วนที่ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 รับผิดในฐานะส่วนตัว
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ทนายความจำเลยทั้งเจ็ดมีอำนาจทำสัญญาประนีประนอมยอมความตามใบแต่งทนาย เมื่อทนายความจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความในประเด็นแห่งคดี ตกลงร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ ข้อตกลงดังกล่าวไม่ขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนย่อมมีผลใช้บังคับได้ไม่ต้องพิจารณาว่าเกินคำขอท้ายฟ้องหรือไม่ การที่ทนายความจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความขัดต่อวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 เป็นเรื่องภายในระหว่างตัวความและทนายความ ไม่ใช่การพิจารณาที่ผิดระเบียบ คำพิพากษาตามยอมชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า แม้ศาลชั้นต้นมิได้สั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา แต่การที่โจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้วไม่คัดค้านและศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปยังศาลฎีกาพอแปลได้ว่า ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง แล้ว
คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ต้องรับผิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความในฐานะส่วนตัวหรือไม่ เห็นว่า การทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันของคู่ความในคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 ต้องเป็นการประนีประนอมยอมความกันในประเด็นแห่งคดีหรือที่เกี่ยวเนื่องกับคดีที่ฟ้อง สำหรับคดีมีประเด็นแห่งคดีว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ในฐานะทายาทโดยธรรมของนางทองดีจะต้องรับผิดชำระหนี้ตามฟ้องหรือไม่ เพียงใด การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 แต่งตั้งทนายความและในใบแต่งทนายระบุให้ทนายความมีอำนาจประนีประนอมยอมความได้ ก็หมายถึงมอบอำนาจให้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความในฐานะเป็นทายาทของนางทองดีตามคำฟ้องเท่านั้น แม้ทนายความจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์มีข้อความว่า เป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งเจ็ดในฐานะส่วนตัว และในฐานะทายาทโดยธรรมของนางทองดีผู้ตายและทำยอมว่า จำเลยทั้งเจ็ดยอมร่วมกันชำระเงินจำนวนตามฟ้องพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์โดยวิธีผ่อนชำระเป็นรายเดือนให้เสร็จสิ้นภายในกำหนด 2 ปี หากผิดนัดยอมให้โจทก์ยึดทรัพย์จำนองรวมทั้งทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งเจ็ดออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์จนครบนั้นก็มีความหมายว่า เฉพาะจำเลยที่ 1 เท่านั้นที่ยอมรับผิดทั้งในฐานะส่วนตัวและในฐานะทายาทของนางทองดี สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ย่อมมีเจตนายอมตนเข้าผูกพันรับผิดต่อโจทก์ในฐานะทายาทของนางทองดี มิใช่รับผิดเป็นส่วนตัว สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งเจ็ดไม่ผูกพันจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ให้รับผิดเป็นส่วนตัว คำพิพากษาตามยอมคงมีผลสมบูรณ์ บังคับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ให้รับผิดในฐานะทายาทของนางทองดีเท่านั้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 รับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความในฐานะทายาทของนางทองดี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ.

Share