คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 669/2527

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เมื่อศาลชั้นต้นไม่รับอุทธรณ์ไม่ว่าทั้งหมดหรือข้อใดข้อหนึ่ง ผู้อุทธรณ์จะต้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นนั้นไปยังศาลอุทธรณ์ โดยยื่นคำขอเป็นคำร้องต่อศาลชั้นต้นคดีนี้ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงของจำเลยจำเลยไม่อุทธรณ์คำสั่ง ปัญหาข้อเท็จจริงที่จำเลยอุทธรณ์จึงเป็นอันยุติ

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่เจ้าพนักงานที่ดินอำเภอออกให้แก่จำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้เพิกถอนเสีย และให้จำเลยไปโอนชื่อทางทะเบียนเจ้าของที่ดินของจำเลยเป็นของโจทก์ ณ สำนักงานที่ดินอำเภอปากพะยูน หากจำเลยไม่ยอมไปโอน ให้ถือเอาคำพิพากษานี้แทนการแสดงเจตนาของจำเลยในการโอนชื่อทางทะเบียนดังกล่าวศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่บังคับให้จำเลยไปโอนชื่อทางทะเบียนเจ้าของที่ดินของจำเลยเป็นของโจทก์ ณ สำนักงานที่ดินอำเภอ จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ปัญหาข้อกฎหมายข้อแรกจำเลยฎีกาว่า ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 เพราะเห็นว่าเป็นปัญหาข้อเท็จจริงและศาลอุทธรณ์เห็นว่า เมื่อจำเลยไม่ได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นข้อเท็จจริงจึงเป็นอันรับฟังยุติตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น จำเลยเห็นว่าคดีนี้เป็นคดีเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์เพราะจำเลยต่อสู้กรรมสิทธิ์ ถึงแม้จำเลยจะไม่ได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นก็ตาม เมื่อศาลชั้นต้นสั่งในปัญหาข้อกฎหมาย ศาลอุทธรณ์ก็ย่อมยกขึ้นพิจารณาในปัญหาข้อกฎหมายนี้ได้ว่า จำเลยมีสิทธิอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้หรือไม่ หาจำเป็นที่จำเลยจะต้องยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นไม่นั้น เห็นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 234 บัญญัติว่า “ถ้าศาลชั้นต้นไม่รับอุทธรณ์ผู้อุทธรณ์อาจอุทธรณ์คำสั่งศาลนั้นไปยังศาลอุทธรณ์ โดยยื่นคำขอเป็นคำร้องต่อศาลชั้นต้น ภายในกำหนดสิบวันนับแต่วันที่ศาลได้มีคำสั่ง” ดังนี้จะเห็นได้ว่า เมื่อศาลชั้นต้นไม่รับอุทธรณ์ไม่ว่าทั้งหมดหรือข้อใดข้อหนึ่ง ผู้อุทธรณ์จะต้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นนั้นไปยังศาลอุทธรณ์ โดยยื่นคำขอเป็นคำร้องต่อศาลชั้นต้น คดีนี้เมื่อศาลชั้นต้นสั่งไม่รับอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงของจำเลย ถ้าจำเลยเห็นว่าการที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงนั้นเป็นการไม่ถูกต้องจำเลยก็จะต้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นไปยังศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 234 ดังกล่าว เมื่อจำเลยไม่อุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริงที่จำเลยอุทธรณ์จึงเป็นอันยุติ ที่ศาลอุทธรณ์ไม่หยิบยกปัญหาที่ว่าจำเลยมีสิทธิอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้หรือไม่ จึงเป็นการชอบแล้วและศาลฎีกาก็ไม่มีอำนาจที่จะหยิบยกข้อเท็จจริงที่จำเลยอุทธรณ์ซึ่งยุติไปแล้วมาวินิจฉัยอีกได้ ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาข้อกฎหมายข้อหลังจำเลยฎีกาว่า คดีโจทก์ขาดอายุความในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายนี้ ศาลฎีกาจำต้องฟังข้อเท็จจริงที่ยุติไปแล้วตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ได้ครอบครองที่พิพาทตั้งแต่โจทก์ซื้อที่พิพาทมาจากนางอ่ำ สักแก้ว เมื่อปี พ.ศ. 2512และได้ครอบครองทำประโยชน์แต่ผู้เดียว โดยใช้ทำนาตลอดมาจนปัจจุบันจำเลยไม่เคยเข้าไปทำประโยชน์ในที่พิพาท การที่จำเลยไปร้องขอให้เจ้าพนักงานที่ดินอำเภอปากพะยูนออก น.ส. 3 ก. ให้จำเลยเมื่อปี พ.ศ. 2517และเจ้าพนักงานที่ดินได้ออก น.ส. 3 ก. ให้จำเลยเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2523นั้น เป็นการออกให้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ครอบครองทำประโยชน์ที่พิพาทมาแต่ผู้เดียวตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 ตลอดมาจนปัจจุบัน โดยจำเลยไม่เคยเข้าไปทำประโยชน์ในที่พิพาท แม้จำเลยไปร้องขอให้เจ้าพนักงานที่ดินออก น.ส. 3 ก. ให้จำเลยเมื่อปี พ.ศ. 2517 และเจ้าพนักงานที่ดินออก น.ส. 3 ก. ให้จำเลยเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2523 โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ถือไม่ได้ว่าโจทก์ถูกจำเลยแย่งการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย อันจะต้องฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองนั้นภายในหนึ่งปีนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1375 โจทก์จึงฟ้องขอให้เพิกถอนการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส. 3 ก.) ของจำเลยเสียเมื่อใดก็ได้ ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share