แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 306 (4) กฎหมายลักษณะอาญา ซึ่งเป็นความผิดฐานฉ้อโกง โดยใช้อุบายพิเศษ แต่ประมวลกฎหมายอาญา ได้ยกเลิกการใช้อุบายพิเศษในลักษณะเช่นนี้แล้ว ศาลจะลงโทษตาม มาตรา 306(4) ไม่ได้ และจะใช้ มาตรา 304 เป็นบทลงโทษก็ไม่ได้ เพราะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 มีโทษเบากว่า ต้องใช้มาตรา 341 เป็นบทลงโทษ
หนังสือมอบอำนาจให้จัดการอย่างใดอย่างหนึ่งแทนเจ้าของที่ดินนั้น เป็นเอกสารที่บุคคลธรรมดาทำขึ้น จึงมิใช่เป็นหนังสือราชการหรือหนังสือซึ่งเป็นสำคัญแก่การตั้งกรรมสิทธิ์หรือเป็นหลักฐานแห่งการเปลี่ยนแก้หรือเลิกล้างโอนกรรมสิทธิแต่อย่างใด
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 มีอัตราโทษเบากว่ากฎหมายลักษณะ อาญา มาตรา 223
ย่อยาว
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานฉ้อโกง ปลอมหนังสือและทุจริตต่อหน้าที่ ตามกฎหมายลักษณะอาญา ม. ๑๓๗, ๑๓๘, ๓๑๔, ๓๑๕, ๒๒๒, ๒๒๕, ๒๒๗, ๓๐๔, ๓๐๖, ๖๓, ๗๒.
จำเลยปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑- ๒ ผิดตามมาตรา ๓๐๔, ๓๐๖ กระทงหนึ่ง จำคุกคนละ ๑ ปี เพิ่มโทษจำเลยที่ ๑ อีก ๑ ใน ๓ เป็น ๑ ปี ๔ เดือน และผิดตามกฎหมาย ๓๑๕,๒๒๒, ๒๒๕, ๒๒๗ อีกกระทงหนึ่ง จำคุกคนละ ๑ ปี เพิ่มโทษจำเลยที่ ๑ อีก ๑ ใน ๓ เป็น ๑ ปี ๔ เดือน รวมโทษจำเลยที่ ๑ เป็น ๒ ปี ๘ เดือน จำเลยที่ ๒ เป็น ๒ ปี ส่วนจำเลยที่ ๓ ผิดตาม มาตรา ๒๒๒, ๒๒๕, ๒๒๗ จำคุก ๑ ปี ยกฟ้อง จำเลยที่ ๔ – ๕
โจทก์จำเลยที่ ๑ – ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ -๒ ผิดตาม มาตรา ๓๐๔ กระทงหนึ่ง จำคุกคนละ ๑ ปี ผิดตามมาตรา ๒๒๓ อีกกระทงหนึ่ง จำคุกคนละ ๑ ปี รวบ ๒ กระทง คนละ ๒ ปี ไม่เพิ่มโทษจำเลยที่ ๑ ยกฟ้องจำเลยที่ ๓ นอกนั้นยืนศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๑ – ๒ ตามมาตรา ๓๐๖ (๔) และ ๒๒๕ ด้วย และขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๓ ตามศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาเห็นว่า สำหรับจำเลยที่ ๑ – ๒นั้น ตามมาตรา ๐๓๖ (๔) เป็นเรื่องความผิดฐานฉ้อโกงโดยใช้อุบายพิเศษ แต่ตามประมวลกฎหมายอาญาได้ยกเลิกการใช้อุบายพิเศษในลักษณะเช่นนี้แล้ว จึงลงโทษตาม มาตรา ๓๐๖ (๔) ไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ใช้มาตรา ๓๐๔ เป็นบทลงโทษก็ไม่ชอบ ควรลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑ ซึ่งมีกำหนดโทษเบากว่า
สำหรับความผิดฐานปลอมหนังสือสำคัญในราชการตาม มาตรา ๒๒๕ นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า หนังสือมอบอำนาจให้จัดการอย่างใดอย่างหนึ่งแทนเจ้าของที่ดินนั้นเป็นเอกสารที่บุคคลธรรมดาทำขึ้นเฉพาะเรื่องของเขา มิใช่เป็นหนังสือราชการและไม่ใช่หนังสือซึ่งเป็นสำคัญแก่การตั้งกรรมสิทธิ์หรือเป็นหลักฐานแก่การเปลี่ยนแก้หรือเลิกล้างโอนกรรมสิทธิ์อย่างใด จึงไม่เป็นหนังสือสำคัญที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยตาม มาตรา ๒๒๓ นั้น ไม่เห็นพ้องด้วย เพราะประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๔ มีโทษเบากว่า
พิพากษาแก้เฉพาะที่เกี่ยวกับบทกฎหมายใช้ลงโทษจำเลยที่ ๑ – ๒ โดยให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑ และ ๒๖๔ ตามลำดับ นอกนั้นยืนตามศาลอุทธรณ์